“วันนอร์” นัดโหวตนายกฯรอบ2 “ผบ.ทัพ” ตบเท้าเข้าสภา งดออกเสียงเลือก “พิธา”

“วันนอร์” นัด สมาชิกรัฐสภา “ส.ส.-ส.ว.”ประชุมโหวตเลือกนายกฯรอบสอง โดย 8 พรรคร่วมเดิมจะเสนอชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” อีกครั้ง ขณะที่ ผบ.เหล่าทัพ ตบเท้าเข้าประชุม พร้อมแสดงจุดยืน”งดออกเสียง”

วันที่ 19 ก.ค.2566 การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 เป็นครั้งที่ 2 หรือ โหวตเลือกนายกฯ รอบสอง ในวันนี้(19 ก.ค.) ต้องจับตาว่าการประชุมร่วมรัฐสภาจะมีการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล อีกเป็นครั้งที่สองหรือไม่ รวมทั้งมติรัฐสภาจะเห็นชอบได้ตัวนายกฯด้วยหรือไม่

ทั้งนี้ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ออกหนังสือเมื่อวันที่ 17 ก.ค.2566 แจ้งสมาชิกรัฐสภา ที่ประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) 500 คน และสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) 249 คน ประชุมร่วมรัฐสภาในเวลา 09.30 น. วันที่ 19 ก.ค.ในวาระเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ บุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เป็นครั้งที่สอง

หลังจากการโหวตเลือกนายกฯรอบแรกเมื่อวันที่ 13 ก.ค. 66 ชื่อของ “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ไม่ได้รับความเห็นชอบ โดยมีผลคะแนนโหวตดังนี้ องค์ประชุม 705 เห็นชอบ 324 ไม่เห็นชอบ 182 งดออกเสียง 199 ซึ่งในการโหวตนายกฯรอบแรก มีส.ว.จำนวน 13 คน ลงมติเห็นชอบให้กับนายพิธา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้แก่ นายไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์, พันตำรวจเอกจรุงวิทย์ ภุมมา, นายเฉลา พวงมาลัย, นายซากีย์ พิทักษ์คุมพล, พลตำรวจโทณัฏฐวัฒก์ รอดบางยาง, นายพิศาล มาณวพัฒน์, นายพีระศักดิ์ พอจิต, นายมณเฑียร บุญตัน, นายวันชัย สอนศิริ, นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์, นายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ, นายอำพล จินดาวัฒนะ และนางประภาศรี สุฉันทสุบุตร โดยสมาชิกวุฒิสภาส่วนใหญ่ ได้ลงมติงดออกเสียง และไม่เห็นชอบและพบว่ามี ส.ว. ไม่เห็นชอบชื่อนายพิธาจำนวน 34 คน งดออกเสียง 59 คน และมีส.ว.ที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 13 ก.ค. จำนวน 43 คน โดยในจำนวนส.ว.ที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุม มี 6 คน ที่เป็นระดับผู้บัญชาการเหล่าทัพ ได้แก่ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก, พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ, พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ ผู้บัญชาการทหารอากาศ, พล.อ.เฉลิมชัย ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติ์ประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ต่อมาได้เกิดกระแสความไม่พอใจหลังจากนายพิธาแพ้โหวตในสภา กลุ่มส.ว. ที่ไม่เห็นชอบ งดออกเสียง และไม่มาประชุมตกเป็นเป้า ที่ลามไปถึงการคุกคามครอบครัวและธุรกิจ กิจการของส.ว. ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ก.ค.66 มีกลุ่มผู้ชุมนุม “คาร์ม็อบ” นำโดย นายอานนท์ นำภา และ นายธัชพงษ์ แกดำ นำมวลชนเคลื่อนขบวนทำกิจกรรมยื่นหนังสือถึง สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.), ผู้นำเหล่าทัพ และส.ว.ที่ไม่เข้าร่วมประชุมให้ลาออก โดยผู้ชุมนุม เห็นว่าที่ต้องให้ ส.ว.ผู้นำเหล่าทัพลาออก เพราะการทำหน้าที่ ส.ว.และผู้นำเหล่าทัพ เป็นการกินภาษีทับซ้อนทั้ง 2 ตำแหน่ง และไม่เข้าไปทำงานในสภา ดังนั้น จึงมองว่า ไม่ควรรับเงินภาษีจากประชาชนแบบนี้ต่อไป เพราะเงินเดือนเหล่านั้น สามารถนำมาให้กับประชาชนในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า

รายงานข่าวระบุว่า ในการโหวตเลือกนายกฯรอบสองวันที่ 19 ก.ค. 66 คาดว่าพรรคร่วม 8 พรรค จะยังคงมีการเสนอชื่อนายพิธา เป็นนายกฯครั้งที่สอง และได้รับการยืนยันจากผู้บัญชาการเหล่าทัพทั้ง 6 คน จะเข้าร่วมประชุมรัฐสภาแน่นอน และจะใช้สิทธิ์งดออกเสียงให้กับชื่อของนายพิธาเช่นเดียวกับส.ว.อีกหลายคน “ได้รับการยืนยันจากผบ.เหล่าทัพจะไปร่วมทุกคนวันที่ 19 ก.ค.นี้ ไปเพื่อแสดงจุดยืน แต่ใช้สิทธิ์งดออกเสียง หลังจากคราวก่อนไม่ไปเพราะไม่อยากมีส่วนร่วมกับความขัดแย้งของการเมือง” แหล่งข่าวกล่าว