“นิพนธ์” ลั่น สงขลา มีศักยภาพทำทุเรียนเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่แต่ต้องทำถูกหลักวิชาการ ชู การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การรวมกลุ่มฯ ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร ชี้ “ทุเรียน” คืออนาคตของประเทศไทย
วันที่ 17 ก.ค.66 นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการ “การทำทุเรียนฉบับขั้นเทพ” โดยมี อาจารย์ ไพโรจน์ ทางธรรม ผู้จัดการพัฒนาตลาดและผลิตภัณฑ์ นายไพบูลย์ แก้วกันหา ผู้จัดการสื่อการตลาด และ เจ้าหน้าที่บริษัทเทพวัฒนา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตำบลท่าช้าง สมาชิกสหกรณ์การเกษตรบางกล่ำ และ เกษตรกรชาวสวนทุเรียนเข้าร่วมประชุม ณ ศูนย์การเรียนรู้สหกรณ์การเกษตร ตำบลท่าช้าง อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา
ทั้งนี้เนื่องด้วยปัจจุบันทุเรียนเป็นพืชที่สามารถสร้างรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนทุเรียนอย่างมาก จากการจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ ในปัจจุบันมีการขยายพื้นที่การปลูกมากขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดสงขลา มีการขยายตัวอย่างมาก ดังนั้น บริษัท เทพวัฒนา จำกัด ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรร่วมกับร้านตัวแทนจำหน่าย คือ ร้านชูพันธ์เกษตรฟาร์ม และ พันธมิตรได้แก่ บริษัทไฮโดรไทย (ปุ๋ยเรือใบไข่มุก) บริษัท แอดวานส์ เฟอร์ติไลเซอร์ ต้องการใช้โอกาสนี้ ในการให้ความรู้ที่ถูกต้องในเรื่องการจัดการ การใช้ปุ๋ยใช้ยาในการปลูกทุเรียนให้ได้ผลผลิต ที่ดีมีคุณภาพจึงได้เชิญวิทยากรจาก บริษัทเทพวัฒนา คือ อาจารย์ ไพโรจน์ ทางธรรม มาบรรยายให้ความรู้ ในครั้งนี้ เพื่อเกษตรกรจะได้ต้นทุเรียนที่สวยงดงาม และให้ผลผลิตแก่เกษตรกร ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้ และสร้างมูลค่าให้กับเกษตรกร
นายนิพนธ์ กล่าวช่วงหนึ่งว่า วันนี้ได้เห็นกลุ่มเกษตรกรชาวสวนทุเรียนที่มีความตั้งใจที่จะหาความรู้ในเชิงวิชาการการทำทุเรียนตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงการเก็บเกี่ยวที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่พี่น้องเกษตรกรชาวสวนทุเรีบนได้มองเห็นโอกาสร่วมกัน ซึ่งเห็นบรรยากาศแล้ว ผมเชื่อว่าการเดินหน้าให้สงขลาเป็นเมืองทุเรียนไม่ใช่เป็นเรื่องเพ้อฝัน จากความตั้งใจของพี่น้อง และความสนใจของพี่น้องเกษตรกร เชื่อว่าสงขลามีศักยภาพในการที่จะทำให้สงขลาเป็นเมืองทุเรียน เพราะสงขลาเรามีพื้นที่ค่อนข้างจะมาก ซึ่งเดิมสงขลาเราปลูกยางพารา และถือเป็นลำดับต้นๆของประเทศไทยวันหนึ่งเราเห็นว่าพืชทุเรียนเป็นพืชที่มีโอกาสทางเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศไทย ขณะนี้เราส่งทุเรียนไปจำหน่ายต่างประเทศ เฉพาะประเทศจีนประเทศเดียวปีที่แล้วแสนกว่าล้าน นั่นคือคนจีนยังทานทุเรียนไม่ถึง 10% ของพลเมืองประเทศจีน ประเทศจีนมีประชากรประมาณ 1400 ล้านคน ขณะที่คน ทานทุเรียนยังไม่ถึง 100 ล้าน ซึ่งผมได้มีโอกาสไปพบกับผู้ใหญ่ที่ดูแลธุรกิจในประเทศไทยคือท่านธนินทร์ เจียรวานนท์ ท่านเจ้าสัวซีพี ให้ข้อมูลกับผมว่าพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่สงขลาลงไป เป็นพื้นที่ ที่เหมาะกับการปลูกทุเรียน ซึ่งทุเรียนเป็นพืชที่ชอบน้ำแต่ไม่ชอบน้ำขัง แต่พืชทุเรียนขาดน้ำไม่ได้ ซึ่งธุรกิจทุเรียนถือเป็นธุกิจแสนล้านหรือสองแสนล้านได้ในอนาคต แต่จุดอ่อนของบ้านเราท่านบอกว่า ที่ผ่านมาเราไม่สามารถแก้ปัญหาในเรื่องตัวหนอนในเมล็ดทุเรียนได้ ท่านจึงส่งเจ้าหน้าที่ของซีพีมากับมูลนิธิปิดทองหลังพระ ลงมาเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดยะลา เพื่อปิดจุดอ่อนในเรื่องของปัญหาตัวหนอนในเมล็ดได้ แล้วทำให้จังหวัดยะลา เป็นฮับทุเรียน ตั้งแต่วันนั้นมาผมจึงเริ่มสนใจการปลูกทุเรียนมากขึ้น เพราะท่านเป็นผู้ชี้แนะอะไรหลายอย่าง และท่านพูดแล้วก็ไม่ต้องไปศึกษาตำราที่ไหนผมเชื่อว่าความคิดของท่านที่บอกว่า ในประเทศนี้ธุรกิจที่น่าทำคือพลังงาน แต่คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าพลังงานคือน้ำมัน นั่นคือพลังงานเครื่องจักร แต่ท่านบอกว่าคงลืมไปว่าพลังงานของคนคืออาหาร ตราบใดที่มีคนหก เจ็ดพันล้านคนในโลกนี้ตราบนั้นคนต้องกินอาหารเพื่อใช้เป็นพลังงาน จากคำพูดนั้นนั่นก็คือเป็นสิ่งที่ทำไมซีพีจึงผลิตอาหารเลี้ยงคน ดังนั้นวันนี้อนาคตของประเทศไทยคือทุเรียน และพื้นที่ภาคใต้ก็เป็นพื้นที่ที่มีโอกาส ทำอย่างไรเราจะปิดช่องว่างจุดอ่อนของทุเรียนภาคใต้ นั่นคือการแก้ไม่ให้แมลงเข้าไปวางไข่ในทุเรียน อย่าให้มีหนอนในเมล็ดทุเรียนได้ แล้วอนาคตก็จะดี ดังนั้นการให้ความรู้จึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด วันนี้การทำเกษตรบ้านเราจะทำตามยถากรรมย่อมไม่ได้ การทำการเกษตรต้องมีหลักวิชา และเชื่อว่าเราจะสร้างอาชีพใหม่ได้แน่นอน ถ้าเกษตรกรคนใดมีสองอย่างคือทั้งยางพาราและสวนทุเรียน ซึ่งยางพารานั้นเก็บรายได้ทุกวัน เก็บเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน แต่ถ้าท่านปลูกทุเรียนไปด้วยทุเรียนจะถือเป็นโบนัสประจำปี สามารถสร้างกำไรเลี้ยงครอบครัวได้ ซึ่งถ้าเรามีโอกาสดีมีทั้งสวนยางพาราและสวนทุเรียนไว้บ้าง แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้คือองค์ความรู้ผมเชื่อว่าคงไม่มีใครรู้เรื่องของ ทุเรียนดีซะทุกอย่าง การรวมกลุ่มแลกเปลี่ยนประสบการณ์ นี่คือสุดยอดวิชา ใครมีปัญหาก็พูดคุยกัน และไม่ให้ปัญหาเหล่านั้นเกิดกับคนอื่นอีก หรือไม่เกิดขึ้นซ้ำอีก ซึ่งก็จะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น และนี่คือสิ่งที่ทุกคนจะประสบความสำเร็จในเรื่องของการปลูกทุเรียนได้ จึงอยากเห็นเกษตรกรได้ทำสิ่งเหล่านี้ และตั้งใจในการที่จะเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ วิชาการถือเป็นสิ่งจำเป็นในการเกษตรโดยเฉพาะเกษตรแปลงใหญ่ ฉะนั้นจากทฤษฎีทั้งหลายที่เราดำเนินการอยู่นี้ ทั้งในส่วนของกระทรวงเกษตร และกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งผมได้มีโอกาสในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา เข้าไปเป็นคณะรัฐมนตรี และพรรคประชาธิปัตย์ได้เข้าไปดูแลในกระทรวงเกษตร ผมจึงมีความเข้าใจการสร้างมาตราฐาน หรือมาตราฐานต่างๆที่กระทรวงเกษตรกำหนด หรือแม้แต่ที่กระทรวงพาณิชย์ส่งสินค้าไปขาย ต่อไปนี้ไม่ใช่ใครมีสินค้าทำอย่างไรก็ได้ การใช้ยาเคมีใช้อย่างไรให้พอดี ใช้ปุ๋ยอย่างไรใช้ให้พอดี เป็นเรื่องที่มี ความจำเป็นในเชิงวิชาการทั้งสิ้น และหลักวิชาการเหล่านี้จะทำให้เราประสบความสำเร็จในอาชีพ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องทุเรียนเป็นพืชเกษตรตัวใหม่ของประเทศไทย และสงขลายังไม่สายเกินไปที่จะปรับขบวนการเหล่านี้ และร้อยเรียงทำอย่างไรที่จะทำให้ทุเรียนสงขลาเป็นทุเรียนที่มีคุณภาพ เราต้องช่วยกัน สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลกังวลอย่างยิ่ง และรัฐบาลจีนไม่ยอมให้เกิดขึ้นนั่นคือ การส่งทุเรียนที่ไม่ได้คุณภาพเข้าประเทศจีน ดังนั้นสิ่งนี้พวกเราต้องระลึกอยู่เสมอว่าต้องไม่ทำลายตัวเราเอง เพราะการที่เราจะทำให้ทุเรียนของเราไม่มีคุณภาพ จะเป็นการตัดราคาตัดโอกาสของเกษตรกร ดังนั้นการทำให้ทุเรียนไม่มีราคา ถ้าเราลองนั่งคำนวณดูจะเห็นว่าไม่มีผลไม้ชนิดไหนแล้วในปัจจุบัน ที่จะส่งออกได้ดีกว่าทุเรียน ดังนั้นเราต้องทำให้สินค้าทุเรียนสงขลาเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ซึ่งมันไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้