“พิธา” ไปไม่ถึงฝัน! เสียงโหวตไม่ถึงเก้าอี้นายกฯ ลั่นไม่ยอมแพ้ ขอวางแผนสู้ต่อ

“ส.ส.-ส.ว.” โหวตแล้ว “พิธา” ไปไม่ถึงนายกฯ เจ้าตัวไม่ลดเพดานแก้ ม.112 ลั่นยังเป็นแกนนำ ไม่ปล่อยให้ พท.จัดตั้งรบ.แทน ขอวางแผนยุทธศาสตร์โหวตครั้งต่อไป เผย 13 ส.ว.ยกมือหนุน

วันที่ 13 ก.ค. 2566 เวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม โดยมีวาระสำคัญที่สำคัญคือการพิจารณาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ได้ลุกขึ้นเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) พร้อมกับมีผู้รับรองชื่อถูกต้อง ก่อนเปิดอภิปรายนั้น

ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ ที่ประชุมรัฐสภาได้เปิดให้อภิปรายคุณสมบัติบุคคล นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ครบแล้วนั้น เมื่อเวลา 15.51 น. นายมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้เปิดให้สมาชิกรัฐสภา ลุกขึ้นขานชื่อลงมติแบบเปิดเผยเป็นรายบุคคล 750 คน

กระทั่งเวลา 18.23 น. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา แจ้งผลการนับคะแนนว่า ที่ประชุมเห็นชอบ 324 เสียง ไม่เห็นชอบ 182 เสียง และงดออกเสียง 199 เสียง เท่ากับนายพิธาได้คะแนนไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสองสภาทั้งหมด 749 เสียง แบ่งเป็น ส.ส. 500 เสียง ส.ว.249 เสียง(ลาออก 1) จากนั้น ประธานได้สั่งปิดการประชุมในเวลา 18.25 น.

โดยนายพิธา โพสต์ข้อความลงในอินสตราแกรม ว่า ยอมรับแต่ไม่ยอมแพ้ ! ยอมรับว่าถึงแม้จะยังไม่ถึงฝั่งฝัน แต่ไม่ยอมแพ้ เดินหน้าวางแผนยุทธศาสตร์รวบรวมเสียงกันใหม่ “เป็นเกียรติสูงสุดของชีวิตผมที่ได้รับการเสนอชื่อโดยสภาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประชาชน ต้องขอขอบคุณทั้ง 324 เสียงที่ให้ความไว้วางใจในตัวผม รวมถึง 13 เสียงของวุฒิสภาที่กล้าหาญท่ามกลางความกดดันสารพัด ขอกำลังใจให้ความแน่วแน่ของพวกเราด้วยครับ แล้วเจอกันใหม่”

หลังจากนั้น เวลา 18.30 น. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ให้สัมภาษณ์ว่า ผลที่ออกมาเรายอมรับ แต่ไม่ยอมแพ้ และยอมรับว่าเสียงมติไม่ถึง 376 ได้เพียง 324 โดยสาเหตุที่ออกมาเช่นนี้เพราะว่ามีการกดดัน ส.ว.เยอะ และที่ไม่มาประชุมอีก 40 กว่าคน จึงไม่ตรงตามที่เราคาดการณ์ไว้ และหลังจากนี้เราก็จะหาเวลาคิดยุทธศาสตร์เพื่อรวบรวมเสียงในการโหวตครั้งต่อไป ส่วนจะเป็นวันใดก็ขึ้นอยู่กับประธานรัฐสภา และก็จะมุ่งหน้าเพื่อให้มีการโหวตนายกฯ ในครั้งที่สองต่อไป

ต่อข้อถามว่า ยังมั่นใจกับพรรคเพื่อไทยใช่หรือไม่ว่าจะจับมือไปกันต่อ นายพิธา กล่าวว่า ผลออกมาเช่นนั้น เราก็ยังทำงานด้วยความเชื่อใจซึ่งกันและกัน เมื่อถามว่า การโหวตครั้งหน้าจะต้องยอมถอย การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า เราได้สัญญากับประชาชนไว้อย่างไร เราก็ทำอย่างนั้น ไม่ถอยมาตรา 112 แล้ววันนี้ ก็เป็นนิมิตหมายที่ดี ที่ได้อภิปรายเรื่องนี้ในสภา เพื่ออธิบายให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และ ส.ว. ที่ไม่เข้าใจตรงกัน หรือ คาดเคลื่อน จึงได้โอกาสชี้แจง ซึ่งถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี

เมื่อถามย้ำว่า ถ้าถอยเรื่องมาตรา 112 อาจจะได้เสียงเพิ่ม นายพิธา กล่าวว่า อาจจะเป็นอุปมาอุปไมย ที่ไม่ใช่เรื่องจริง อาจจะได้เสียงเพิ่ม โดยเพราะไม่ได้เป็นเงื่อนไขดังกล่าว หลังจากนี้ขอเวลาทำใจในสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เสียก่อน ซึ่งตอนนี้ยังมีเวลา เมื่อถามว่า จะมีแนวทางยุทธศาสตร์อย่างใด ในการให้ได้เสียง ส.ว. ที่เพิ่มขึ้นหลังจากวันนี้ได้เพียง 13 เสียง นายพิธา กล่าวว่า ก็คงต้องมียุทธศาสตร์ในการรวบรวมเสียงในครั้งใหม่ อาจจะต้องลงในรายละเอียดว่าเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง เพราะบางคนได้ข่าวว่าไปต่างประเทศ หรือ บางคนไม่อยู่ บางท่านออกจากห้องประชุมไปก่อน แต่ที่พูดได้ คือไม่ยอมแพ้ และจะใช้เวลานี้ ในการปรับยุทธศาสตร์เพื่อรวบรวมเสียงใหม่ และตนขอขอบคุณ ส.ว. 13 ท่าน ที่กล้าหาญลงมติให้ตนเอง

เมื่อถามต่อว่า ถ้าการโหวตครั้งที่ 2 เป็นแบบวันนี้ จะสู้ต่อหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า ต้องวางแผนครั้งที่ 2 ให้เรียบร้อยก่อน เมื่อถามว่า มีการเตรียมใจ เป็นฝ่ายค้านหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า เตรียมใจ เตรียมแผน เตรียมสมอง เพื่อโหวตนายกฯในครั้งที่ 2 เมื่อถามว่า ระยะเวลาในการโหวตรอบ 2 กระชั้นชิด แล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะชนะ นายพิธา กล่าวว่า ก็แล้วแต่ที่จะมอง ตนยังคิดว่ามีเวลา

เมื่อถามว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจะยอมหรือไม่ นายพิธา กล่าวด้วยสีหน้าตึงเครียดว่า “ยังไม่ถึงเวลาตอนนั้น ตอนนี้ตนยังเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอยู่” ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าการตอบคำถามของนายพิธา มีสีหน้าไม่สู่ดี ไม่ยิ้มแย้มเหมือนที่ผ่านมาและเดินหนีวงสื่อ

สำหรับ ส.ว. ที่ร่วมลงคะแนนเห็นชอบ นายพิธา มีดังนี้ 1.ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ 2.พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา 3.เฉลา พวงมาลัย 4.ซากีย์ พิทักษ์คุมพล อะมีรุ้ลฮัจย์ 5.พล.ต.ท.ณัฏฐวัฒก์ รอดบางยาง 6.พีระศักดิ์ พอจิต 7.มณเฑียร บุญตัน 8.พิศาล มาณวพัฒน์ 9.วันชัย สอนศิริ 10.วุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ 11.สุรเดช จิรัฐติเจริญ 12.อำพล จินดาวัฒนะ 13.ประภาศรี สุฉันทบุตร