“ปริญญา” ชี้ ความ “ไม่ชอบมาพากล” กรณี กกต.ส่งคำร้องพิธาถือหุ้น ศาลรธน.

29

“ปริญญา เทวานฤมิตรกุล” นักวิชาการด้านกฎหมาย มธ. ชี้ มีหลายปัจจัย ที่มีความไม่ชอบ มาพากล กรณี กกต.ส่งคำร้อง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ถือหุ้นไอทีวี ส่งศาลรัฐธรรมนูญ

วันที่ 12 กรกฎาคม นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก #ความไม่ชอบมาพากล ของการ #ส่งคำร้องพิธาถือหุ้นสื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญ มีเนื้อหาดังนี้

ผมเห็นว่า มติ กกต.ที่สรุปว่า “สมาชิกภาพของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มีเหตุสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(3) จึงให้ส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยต่อไป” นั้น มีความผิดปกติหลายประการ ดังนี้

1.กกต.ได้เคยแถลงว่า #ได้ยกคำร้องเรื่องการถือหุ้นสื่อมวลชนของพิธาไปแล้ว โดยจะเปลี่ยนเป็นการดำเนินคดีตาม พ.ร.ป.เลือกตั้ง มาตรา 151 (ฐานความผิดคือรู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติแล้วยังมาสมัคร ส.ส.) แทน ทั้งนี้ หาก ส.ส.จะเข้าชื่อให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเองก็เป็นเรื่องของ ส.ส.

แต่อาจจะเป็นเพราะ #รายงานการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีของไอทีวี ในส่วนการตอบคำถามของประธานที่ว่า “บริษัทยังดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์ของบริษัท” เป็น #ข้อความอันเป็นเท็จ เพราะไม่ตรงกับคลิปบันทึกการประชุม ก็เลยไม่มี ส.ส.ฝั่งรัฐบาลเดิมที่จะเล่นเรื่องนี้ต่อ

พอเวลาผ่านไปสองเดือน อยู่ดีๆ ก่อนหน้าวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีไม่กี่วัน เมื่อ ส.ว.ที่ประกาศว่าจะไม่โหวตให้พิธาไป “เร่งรัด” กกต. ก็พลิกกลับมาใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญเอง นี่เป็นความไม่ปกติประการที่หนึ่ง

2.การพิจารณา ที่ประชุม กกต.ก็ใช้เวลา #รวบรัด แค่ 3 วัน โดย #ไม่เชิญพิธาไปชี้แจงหรือให้ข้อมูลแต่ประการใด นี่เป็นความผิดปกติประการที่สอง แม้ว่าการร้องศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 82 จะไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องเชิญฝ่ายผู้ถูกร้องมาชี้แจง แต่การทำหน้าที่ของ กกต.ต้อง #เที่ยงธรรม

แต่ กกต.กลับฟังแต่ข้อมูลจาก ส.ว. ฝ่ายไม่เลือกพิธาแต่เพียงฝ่ายเดียว ที่สำคัญคือตอนที่ธนาธรโดนร้องด้วยเรื่องเดียวกันในปี 2562 กกต.ได้เชิญธนาธรมาชี้แจง ทำไมคราวนี้ไม่เชิญพิธามาชี้แจง แล้วนี่จะเรียกว่าเที่ยงธรรมได้อย่างไร?

3.กกต.ละเลยไม่ปฏิบัติตามบรรทัดฐานของศาลรัฐธรรมนูญในคำวินิจฉัยที่ 18-19/2563 ที่ศาลยกคำร้อง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลขณะนั้นจำนวน 29 คน โดยให้เหตุผลว่า แม้บริษัทที่ ส.ส.เหล่านี้ถือหุ้นจะมีวัตถุประสงค์ทำสื่อมวลชน แต่โดยข้อเท็จจริง #ไม่มีการประกอบกิจการสื่อมวลชน อีกทั้ง #ไม่มีรายได้จากการประกอบการสื่อมวลชน จึงไม่ใช่สื่อมวลชน ซึ่งถ้าใช้บรรทัดฐานเดียวกัน กรณีไอทีวีก็ไม่ใช่สื่อมวลชน ทำไม กกต.จึงละเลยเรื่องนี้? นี่เป็นความผิดปกติประการที่สาม

4.อีกทั้งในการถือหุ้นนั้น พิธาก็ถือหุ้นในฐานะ #ผู้จัดการมรดก แล้วสัดส่วนหุ้นก็มีเพียง 0.0035% ซึ่งศาลฎีกาเคยวินิจฉัยไปแล้วในคดีชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ว่า #การถือหุ้นเพียงน้อยนิดไม่สามารถครอบงำหรือสั่งการใดๆ จึงยัง #ไม่อาจถือได้ว่าถือหุ้นสื่อมวลชน ศาลฎีกาจึงสั่ง กกต.ให้รับสมัคร ทำไม กกต.จึงไม่พิจารณาประเด็นนี้ นี่เป็นความผิดปกติประการที่สี่

5.ในกรณี ส.ส.ถูกร้องเรียนว่าทุจริตเลือกตั้งที่มีหลายสิบคดี กกต.ก็ไม่เร่งรีบแต่ประการใด ซึ่งก็พอเข้าใจได้ว่า กกต.เห็นว่า “สอย” ทีหลังได้จึงไม่รีบ แต่ตำแหน่ง ส.ส.ในเรื่องคุณสมบัติต้องห้าม หรือตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็สอยทีหลังได้ถ้าผิดจริง แล้วทำไม กกต.จึงต้องเร่งรีบส่งเรื่องนี้ศาลรัฐธรรมนูญก่อนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี? ความเร่งรีบนี้คือความผิดปกติประการที่ห้า

เร่งรีบอย่างนี้คิดออกได้อย่างเดียวคือ #เพื่อเป็นเหตุผลสำหรับ ส.ว.ในการ #ไม่โหวตให้กับว่าที่นายกรัฐมนตรีของพรรคอันดับหนึ่ง ที่มาจากเสียงข้างมากของประชาชน ใช่หรือไม่ครับ?

ผมจึงเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรเออออห่อหมกไปกับคำร้องจาก กกต.ที่ #ไม่เที่ยงธรรม อันนี้ ก็เหมือนอัยการส่งฟ้องมาที่ศาลโดยไม่มีคำให้การผู้ต้องหานั่นแหละครับ ศาลก็จะตีกลับ โดยให้อัยการไปสอบผู้ต้องหาก่อน แล้วส่งมาใหม่ ศาลถึงจะพิจารณาว่าควรจะรับคำฟ้องหรือไม่ได้

กรณีศาลรัฐธรรมนูญก็ควรจะมีมาตรฐานความยุติธรรมแบบเดียวกันครับ แล้วความจริงต้องเหนือกว่าศาลยุติธรรมด้วยซ้ำ เพราะกรณีตามมาตรา 82 ถ้าศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว ก็ยังมีอำนาจที่จะสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ได้ด้วย คำร้องจึงทำมาอย่างเที่ยงธรรม ไม่ใช่ทำมาโดยฟังแต่ ส.ว.ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามผู้ถูกร้องเช่นนี้

ดังนั้น เพื่อประโยชน์แห่งความเที่ยงธรรม ไม่ใช่ต่อผู้ถูกร้องคือพิธาเท่านั้น แต่สำคัญยิ่งกว่าคือต่อประชาชนเสียงข้างมากที่เลือกพิธาด้วย ศาลรัฐธรรมนูญก็ควรสั่งให้ กกต. #ไปทำคำร้องมาใหม่ โดยให้ #ฟังความจากผู้ถูกร้องเสียก่อน แล้วจึงพิจารณาว่าจะรับคำร้องหรือไม่ครับ