‘จตุพร’ จับตา ‘พิธา ‘ถูกบีบ ถอนตัว-เลื่อนโหวตนายกฯ เข้าทาง’เสือหิว’

33

“จตุพร” ประเมินทางออกโหวตนายกฯ 13 ก.ค. ชี้ “พิธา”ถูกสถานการณ์บีบรัดทุกด้าน คาดสภาจะเสนอเลื่อนโหวตหรือให้พิธาถอนตัว อ้างเหตุ กกต.ยื่นคำร้องถือหุ้นให้ ศาล รธน.วินิจฉัย พร้อมขอสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ขณะที่ ศาล รธน.นัดประชุมเร็วขึ้น สอดรับ “ประยุทธ์” วางมือ เชื่อนำสู่ย้ายขั้ว เร่งเร้าอารมณ์ชุมนุมบนถนนลุกฮือต้าน

วันที่ 12 ก.ค. 2566 นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊คไลฟ์ประเทศไทยต้องมาก่อน ตอน “ก่อนวันโหวตนายก…” โดยคาดว่า สถานการณ์เริ่มกดบีบการโหวตนายกฯ ในวันที่ 13 ก.ค. อย่างหนักหน่วง ดังนั้น ประเมินว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล คงถูกสภาบีบให้ถอนตัวแคนดิเดตนายกฯ หรืออาจเลื่อนการโหวตออกไปจนกว่าศาล รธน.จะมีคำวินิจฉัยคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส.กรณีถือหุ้นไอทีวีจำนวน 42,000 หุ้น

นายจตุพร วิเคราะห์ว่า สถานการณ์ถัดจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา วางมือการเมืองและ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติส่งศาล รธน. วินิจฉัยนายพิธา ถือหุ้นไอทีวี เข้าข่ายมีคุณสมบัติขัด รธน. หรือไม่ พร้อมขอสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. และสอดคล้องกับศาล รธน.นัดประชุมพิจารณาคำร้องในบ่ายวันนี้ (12 ก.ค.) ล้วนเกิดขึ้นอย่างมีการเตรียมการกันไว้ จึงทำให้ทุกกระบวนการลื่นไหล อีกทั้ง เชื่อว่า การประชุมโหวตนายกฯ ในวันที่ 13 ก.ค.นี้ จะมี ส.ว.กับ ส.ส.บางพรรคจำนวนหนึ่งอภิปรายให้นายพิธา รอศาล รธน.วินิจฉัยคุณสมบัติต้องห้ามสมัคร ส.ส.ให้เสร็จสิ้นเสียก่อนจึงมาโหวตนายกฯ

“การโหวตนายกฯ คงยาก แต่ถ้ายื้อให้โหวตแล้ว เสียงหนุนนายพิธา จะน่าใจหายที่สุด โดยตรวจสอบล่าสุดมีเสียงหนุนเพียง 6 เสียงเท่านั้น เมื่อ กกต.ยื่นคำร้องต่อศาล รธน. แล้ว โอกาสได้นายกฯ ในเดือน ก.ค.จะยากแล้ว”

พร้อม กล่าวว่า มีช่องทางที่ดีและเป็นธรรมกับทุกฝ่ายในการโหวตนายกฯ คือ เร่งให้ศาล รธน.วินิจฉัย ขณะเดียวกันอารมณ์ของทุกฝ่ายทั้งในสภาและนอกสภาได้ถูกเร่งให้เกิดเรื่องขึ้นทั้งสิ้น เพราะการประชุมจะถูกลากลามไปสู่เรื่องอื่นอีกหลายประเด็น ซึ่งจะทำให้สภาปั่นป่วน เละตุ้มเป๊ะ และแต่ละฝ่ายไม่ฟังอะไรกันแล้ว ดังนั้น ที่หวังให้การอภิปรายโน้มนำในสภาไปเปลี่ยนความตั้งใจของ ส.ว.ที่ดำรงความมุ่งหมายไม่เลือกนายพิธาไว้แล้ว จึงเป็นการคิดผิดมาก

“ท้ายที่สุดสิ่งที่ดีที่สุดกับทุกฝ่ายในสถานการณ์คือ ต้องเลื่อนเวลาโหวตนายกฯ ออกไป เพื่อรอคำวินิจฉัยของศาล รธน. หรือ สภาอาจเรียกร้องให้นายพิธา ถอนตัวจากการโหวตนายกฯ เลย ซึ่งมีพวกที่เข้าแถวรอคิวก็จะลูบปากอย่างเป็นสุขใจกับความอยากที่ตั้งความหวังไว้”

นายจตุพร กล่าวว่า เส้นทางเป็นนายกฯ ของนายพิธา นั้น มีความยุ่งยากมาตั้งแแต่ต้นแล้ว ตนจึงมั่นใจว่า อย่างไรก็ไม่ได้เป็นนายกฯ แน่นอน อีกอย่างพรรคก้าวไกลก็ไม่ได้ทั้งประธานสภา และนายพิธาอาจไม่ได้เป็นผู้นำฝ่ายค้านเอาด้วย

อีกทั้งเชื่อว่า เมื่อนายพิธาและพรรคก้าวไกลถูกบีบรอบด้านเช่นนี้ ดังนั้น สถาการณ์พลิกเปลี่ยนจึงอยู่บนถนนนอกสภาเป็นปัจจัยชี้ขาด ประกอบกับ พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจวางมือการเมืองถ้าเป็นการถอยทางยุทธวิธี แต่รุกเชิงยุทธศาสตร์แล้ว จึงเป็นจังหวะสอดคล้องในฐานะคนกลางทางการเมืองและไม่เป็นเป้าถูกมวลชนนอกสภารุมถล่ม

“สิ่งสำคัญ การจะได้นายกฯ คนใหม่ต้องถูกขยายเวลาออกไปแล้ว ดังนั้น สถานการณ์แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคการเมืองจะราบรื่นกันหรือไม่ อาจจะเกิดการย้ายขั้วสลับข้างแบบรวบรัดมาเร็วขึ้นก็ได้ ซึ่งจะเป็นอีกปัญหาหนึ่ง และจะถูกต่อต้านอย่างหนัก”

นายจตุพร เห็นว่า ในช่วงเวลารอศาล รธน.ชี้ขาดนั้น ยังมีคดียุบพรรคเพื่อไทยที่จ่อการพิจารณาของ กกต.อยู่แล้ว ซึ่งอาจเป็นหนทางหนึ่งที่จะถูกนำมาใช้ เพื่อไปสู่เป้าหมายการย้ายขั้วไปจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ โดยหลีกหนีการถูกประชาชนชุมนุมขับไล่ได้ ดังนั้น อย่าได้ประมาทเรื่องการยุบพรรคมาแต่งตัวการย้ายขั้ว “ถึงที่สุด ผมฟันธงเลยว่า วันที่ 13 ก.ค.จะไม่ได้โหวตนายกฯ เพราะถ้าโหวตจะเสียหายมากกว่าไม่โหวต ยกเว้นโหวตเพื่อล้มกระดาน และจะไม่ได้โหวตอีกเลย หลังจากนั้นจะเป็นสงครามบนท้องถนน”

นายจตุพร กล่าวว่า สิ่งสำคัญการประกาศวางมือของพล.อ.ประยุทธ์นั้น จะนำไปสู่อะไรที่เลยพล.อ.ประยุทธ์ไปหรือไม่ เพราะเมื่อนายพิธาไปไม่ถึงนายกฯ และนายเศรษฐา ทวีสิน จากพรรคเพื่อไทย ยังไปไม่ได้อีก.