‘วันนอร์- 2รองปธ.สภาฯ’ ทำพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเรียบร้อยแล้ว ชี้ หาก 13 ก.ค.เลือกนายกฯไม่ได้ ก็นัดใหม่อีกครั้ง 19 ก.ค.’สมชาย’ยัน 250 ส.ว. น้อมนำพระราชดำรัส ทำหน้าที่เพื่อปวงชนชาวไทย
วันที่ 7ก.ค.2566 เวลา 10.00 น.นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา พร้อม นายปดิพัทธิ์ สันติภาดา และ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน เข้ารับพิธีดำเนินการรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เป็นประธาน และ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ ห้องประชุม 604 ชั้น 6 อาคารรัฐสภา เกียกกาย โดยสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นผู้เชิญพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานและรองประธานตามลำดับ
ดังนี้ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 และ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 ให้ปฏิบัติหน้าที่โดยสมบูรณ์ ซึ่งมีข้าราชการประจำสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และผู้แทนจากพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชาติ แต่งเครื่องแบบข้าราชการชุดขาวเต็มยศเข้าร่วมพิธีอย่างสมเกียรติ จากนั้นทั้งหมดได้ถ่ายภาพเพื่อเป็นที่ระลึกหน้าพระบรมฉายาลักษณ์นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า สมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยเช่นเดียวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย
โดยวุฒิสภาชุดที่ 12 มาจากรัฐธรรมนูญ2560 ดังนี้ 1. ตามตำแหน่ง 6 คน 2. สรรหาตรงจากคณะกรรมการสรรหา 194 คน 3. สรรหาจากการเลือกกันเองทั่วประเทศ 50 คน
สมาชิกวุฒิสภาทั้ง 250 คน ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา ตามมาตรา 269 ตามรัฐธรรมนูญ แตกต่างจากสมาชิกวุฒิสภาในอดีต ทั้งรัฐธรรมนูญ2540 และ2550 ที่มาจากการเลือกตั้งโดย และสรรหา ผสมเลือกตั้ง เมื่อได้ครบตามจำนวนแล้ว มีแค่การประกาศรับรองโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเท่านั้น มิได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเช่นสมาชิกวุฒิสภาชุดนี้
ดังนั้นสมควรอย่างที่สมาชิกวุฒิสภาทั้ง 250 คน จักได้น้อมนำพระราชดำรัสในพิธีเปิดประชุมรัฐสภา เมื่อวันจันทร์ที่ 3 กรกฎาคม 2566 ใช้สติปัญญาความสามารถ และความสุจริตบริสุทธิ์ใจ ไปปฏิบัติหน้าที่ทั้งปวงโดยยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชนเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด ให้สำเร็จลุล่วง เป็นประโยชน์เป็นความเจริญมั่นคงของอาณาประชาราษฎร์และชาติบ้านเมืองอย่างแท้จริง
โดยก่อนหน้านี้ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ให้สัมภาษณ์ถึงการโหวตนายกรัฐมนตรี ว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่าจะเลือกกี่ครั้ง หากครั้งแรกได้ก็ถือว่าจบ แต่ถ้าไม่ครบ 376 เสียง ก็จะเชิญฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาปรึกษากันว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ เพราะขณะนี้ประชาชนรอรัฐบาลใหม่ จึงต้องทำให้เกิดความสมดุล และเหมาะสม
เมื่อถามว่า นายพิเชษฐ์ ระบุว่าหากโหวตครั้งแรกไม่ผ่าน จะนัดครั้งต่อไปเป็นวันที่ 19 ก.ค. เป็นไปได้หรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า หากวันที่ 13 ก.ค. ไม่จบ วันที่ 19 ก.ค. ก็เป็นเวลาที่เหมาะสม และเลขาธิการสภามีเวลาทำหนังสือแจ้งสมาชิกเชิญประชุมได้ แต่ยังต้องดูหน้างานอีกครั้ง และโดยปกติสภาก็ประชุมวันพุธ และพฤหัสบดี อยู่แล้ว ดังนั้นวันที่ 19 ก.ค. ซึ่งเป็นวันพุธ ก็เหมาะสมดี และได้ปรึกษานายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา แล้วก็เห็นด้วย ส่วนต่อไปจะเป็นเมื่อไรก็ดูหน้างาน ส่วนที่จะต้องเว้นไว้ 7 วันนั้น ในข้อบังคับไม่ได้กำหนด ที่เว้นไว้ว่า 7 วันนั้น เป็นเพราะเราต้องการให้สมาชิกได้มาประชุมโดยพร้อมกัน เพราะสภาประชุมทุกวันพุธ พฤหัสฯ วุฒิสภาประชุมทุกวันจันทร์ อังคาร และ ครม. ก็ไม่ได้ประชุม ดังนั้นวันพุธน่าจะเป็นวันที่ทุกฝ่ายพร้อมที่สุด
เมื่อถามว่า ส.ว. อยากให้เว้นระยะเวลาการประชุมรัฐสภาไว้ 14 วัน ข้อห่วงใยนี้ทาง ส.ว. ส่งสัญญาณมาบ้างหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ก็ไม่มีปัญหา ขึ้นอยู่กับหน้างาน และความเหมาะสม ส่วนตัวอยากให้เกิดความเรียบร้อย และความพร้อมให้มากที่สุด เพราะวันพุธ 19 ก.ค. เหมาะสม เพราะเป็นวันประชุมสภา น่าจะเกิดความพร้อมเพรียงที่สุด “ผมอยากให้เกิดความเรียบร้อยมากที่สุด และมีความพร้อมมากที่สุด เพราะเป็นวาระสำคัญในการนายกฯ เลือกผู้นำประเทศ จึงต้องทำให้มีความพร้อม และโปร่งใสมากที่สุด” นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว
เมื่อถามว่า จะให้โหวตชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กี่ครั้ง นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ตนไม่สามารถจะบอกได้ เพราะไม่แน่ อาจจะผ่านในวันที่ 13 ก.ค. เลยก็ได้ หรือ อาจจะผ่านในวันที่ 19 ก.ค. ก็ได้ ซึ่งการเสนอชื่อผู้เป็นนายกฯ ให้โหวตในครั้งต่อไป ยังสามารถเสนอชื่อนายพิธาซ้ำได้อีก.