8 พรรคร่วมเลื่อนถก 30 มิ.ย.หรือไม่มีกำหนด หลังรอยร้าว ปธ.สภา พท.แย้มผุดสูตร 15+1 และ 13+1 ยอมสละรมต. 1 ตำแหน่งแลก แต่รอดูคุ้มได้คุ้มเสียก่อน ชี้ไม่อยากไปถึงจุดฟรีโหวต “ชวน” เตือนสติปมขัดแย้งชิงเก้าอี้ ปธ.สภา หากเอาทุกอย่างปัญหาไม่จบ แนะให้ 2พรรคหารือกันใกล้ชิด
วันที่ 28 มิ.ย.2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังที่พรรคเพื่อไทย ประกาศยึดสูตร 14+1 คือ พรรคก้าวไกลได้เก้าอี้รัฐมนตรี 14 ที่นั่ง และนายกรัฐมนตรี 1 ที่นั่ง ส่วนพรรคเพื่อไทย ได้เก้าอี้รัฐมนตรี 14 ที่นั่ง และ 1 เก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรนั้น ต่อมาพรรคก้าวไกลได้แจ้งขอยกเลิก กำหนดการประชุมระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ในวันนี้เวลา 10.00 น. แบบกระทันหันในช่วงกลางดึกนั้น
ล่าสุดแหล่งข่าวจาก 8 พรรรคร่วมรัฐบาล ระบุว่า หลังจากเกิดกรณีดังกล่าวขึ้น ได้มีการนัดหารือแกนนำทั้ง 8 พรรค แบบกระทันหันในช่วงกลางดึกวันเดียวกัน ซึ่งมีการหารือแบบเคร่งเครียด เพื่อจะหาข้อสรุปดังกล่าว ก่อนที่จะมีการเลื่อนการประชุม 8 พรรคร่วมรัฐบาลออกไป โดยวางกำหนดคร่าวๆ ไว้เป็นวันที่ 30 มิ.ย. และอาจจะมีการเลื่อนไปแบบไม่มีกำหนด เดิมทีที่จะมีการประชุม 8 พรรคร่วมรัฐบาลในวันพรุ่งนี้ (29 มิ.ย.) อย่างไรก็ตาม ในส่วนพรรคเล็กมองว่า อยากให้พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย หารือกันจนได้ข้อสรุปร่วมกันทั้งสองฝ่าย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันในการจัดตั้งรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ และสนับสนุนให้พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
ขณะที่แหล่งข่าวพรรคเพื่อไทย ระบุว่า ปัญหาเรื่องตำแหน่งประธานสภา แม้แกนนำพรรคจะเคยประกาศว่ายึดพรรคอันดับ 1 แต่เมื่อฟังเสียงและความเห็นจาก ส.ส. ภายในพรรค ยืนยันว่าตำแหน่งประธานสภาฯ จะต้องเป็นของพรรคเพื่อไทย ดังนั้นกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) และแกนนำพรรคจะต้องฟังเสียงจากคนในพรรค รวมถึงยึดหลักการเดิมที่ได้เสนอไปกับพรรคก้าวไกล คือ สูตร 14+1 ทั้งนี้ หากต่างฝ่ายต่างไม่ยอมอาจจะต้องพิจารณาข้อเสนอเรื่องตำแหน่งกันใหม่ โดยอาจจะต้องมีการปรับสูตรพรรคก้าวไกลเป็น 15+1 ส่วนพรรคเพื่อไทยเป็น 13+1 แต่พรรคเพื่อไทยจะต้องพิจารณาว่า คุ้มค่าหรือไม่ที่จะเสียเก้าอี้รัฐมนตรี 1 ตำแหน่ง เพื่อแลกกับเก้าอี้ประธานสภา 1 ตำแหน่ง
แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทย ระบุอีกว่า หากเป็นสูตรปรับตำแหน่ง 15+1 และ 13+1 นั้น มองว่าจะทำให้ทั้งสองพรรคไม่เสียหน้า หากยังตกลงกันไม่ได้และ ส.ส. เพื่อไทยยังยืนกรานที่จะกอดตำแหน่งประธานสภาไว้ให้ได้ ก็อาจจะต้องปล่อยฟรีโหวต ซึ่งไม่อยากให้สถานการณ์ไปถึงจุดนั้น
ด้าน นายชวน หลีกภัย อดีตประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ผ่านทีวีรัฐสภาในรายการ 91 ปี ก้าวแห่งความมั่นคงรัฐสภาไทย เนื่องในวันสถาปนารัฐสภา วันที่ 28 มิ.ย.ว่า ตำแหน่งประมุขของสภานิติบัญญัติมีความสำคัญ เพราะเป็น 1 ใน 3 ของอำนาจอธิปไตย ซึ่งตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรนั้น สภาจะเป็นผู้เลือกโดยยึดดุลยพินิจของ ส.ส.
เมื่อถามว่าขณะนี้เสียงของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยที่ใกล้เคียงกันทำให้เกิดความไม่ชัดเจน นายชวน กล่าวว่า ถือเป็นประสบการณ์ตั้งรัฐบาล ฐานะที่เคยเป็นทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านมาหลายสมัย ปกติการตกลงร่วมกันจะใช้ตำแหน่งนายกฯ เป็นสำคัญ เพราะจะง่ายต่อการแบ่งปันตำแหน่ง ทั้งนี้การตั้งรัฐบาลในปัจจุบันมองว่าง่ายกว่าในอดีต เพราะมีเพียง 8 พรรคการเมือง ขณะเดียวกันมีเพียง 2 พรรคเท่านั้นที่รวมเสียงได้เกินครึ่ง “แต่เที่ยวนี้ ดูแล้วมีปัญหา เพราะมีประเด็นความต้องการประธานสภา และตำแหน่งนายกฯ ซึ่งเขามีเหตุผลและเป็นปกติที่เป็นไปได้ แต่หากเอาทุกอย่างปัญหาไม่จบ” นายชวนกล่าว