“ชวน” ยํ้าประธานสภาต้องเป็นกลาง พรรคอันดับ 1 ควรได้ พรรษามากน้อยไม่สำคัญ

“ชวน หลีกภัย” ยํ้าประธานสภาฯ ต้องเป็นกลาง ไม่มีผลต่อการบรรจุวาระ ชี้ พรรคอันดับ 1 ควรได้ มองพรรษามากน้อยไม่สำคัญเพราะทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือ แจงเหตุร่างแก้ ม.112 ของ ‘ก้าวไกล’ ไม่ได้รับการบรรจุเข้าพิจารณา เพราะขัด รธน.

วันที่ 23 มิ.ย.2566 เวลา 14.30 น.ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)อดีตประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้ารายงานตัว ส.ส.ที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ถึงกรณีตำแหน่ง ประธานสภา ที่ยังตกลงกันไม่ได้ระหว่าง พรรคเพื่อไทย (พท.) และ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) จะทำให้เกิดความวุ่นวายหรือไม่ว่า คงไม่น่ามีปัญหาอะไร อาจเป็นประสบการณ์ที่บางฝ่ายอาจไม่เคยเจอ เพราะโดยทั่วไปแล้วพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากก็จะได้ตำแหน่งประธานสภาและตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะรัฐบาลที่เป็นเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อย มักเป็นคนละฝ่ายกัน จึงไม่ค่อยมีปัญหา

นายชวนกล่าวว่า เช่น สมัยที่พรรคความหวังใหม่ได้ 125 เสียง ส่วนพรรค ปชป.ได้ 123 เสียง แต่เป็นคนละฝ่ายจึงไม่มีใครมาแย่งตำแหน่งกัน ดังนั้น พรรคความหวังใหม่จึงได้ทั้งตำแหน่งประธานสภาและนายกฯ แต่ครั้งนี้พรรคที่ได้คะแนนอันดับ 1 และ 2 ร่วมรัฐบาลเดียวกัน จึงทำให้เกิดปัญหาว่าต่างฝ่ายต่างก็อยากเป็นประธานสภา

ส่วนความวิตกกังวลว่าหากใครเป็นประธานสภาแล้วจะได้เปรียบ ทำให้การเสนอกฎหมายและญัตติต่างๆ เรื่องนั้นไม่มีผล เพราะรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า ประธานสภาต้องเป็นกลาง และ จากประสบการณ์ 55 ปีของตน ไม่ว่าประธานสภาจะมาจากที่ไหนโดยทั่วไปก็จะเป็นกลาง มีเพียง 2 คนที่เคยมีปัญหาอันเนื่องมาจากรัฐบาลสั่งให้ทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง แต่ในปัจจุบันเห็นว่าจะทำได้ แม้กระทั่งการนำกฎหมายของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขึ้นมาพิจารณาก่อนก็ทำไม่ได้ ยกเว้นเป็นมติของที่ประชุม

และถ้าไปเทียบว่าตอนที่เป็นฝ่ายค้านแล้วกฎหมายของพวกตัวเองเสนอยาก ต่อไปนี้เป็นรัฐบาลก็จะได้ชดเชย โดยทั่วไปแล้วใครเป็นรัฐบาลสามารถเสนอกฎหมายเป็นร้อยฉบับได้ และสภาต้องพิจารณาตามที่รัฐบาลขอ ดังนั้น ไม่แปลกที่เราจะเห็นว่ากฎหมายของฝั่งรัฐบาลจะผ่านการพิจารณาทุกเรื่อง แต่กฎหมายฝ่ายค้านอาจไม่ได้พิจารณาเลย เพราะหากรัฐบาลเสนอเรื่องด่วนมา เราก็ต้องพิจารณาเรื่องด่วนก่อน

ต่อข้อถามว่า อีกฝ่ายอ้างว่าร่างแก้ไขมาตรา 112 ก็ไม่ได้รับการผลักดันนั้น นายชวนกล่าวว่า การยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 นั้น นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาคนที่ 1 ในขณะนั้นเป็นผู้ดูแลกฎหมายนี้ ซึ่งนายสุชาติมีความเห็นว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 เพราะมีบทบัญญัติบางเรื่องขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงส่งคืนไปให้แก้ ไม่ใช่ส่งคืนเพราะไม่รับ แต่ผู้เสนอญัตติรับกลับไปแล้วไม่แก้ เมื่อไม่แก้ก็ไม่ได้รับการบรรจุ และก็เห็นว่านายสุชาติก็รอบคอบ นี่คือแนวปฏิบัติโดยทั่วไป กฎหมายฉบับอื่นก็ผ่านการพิจารณาไม่ได้มีปัญหาอะไร มีเพียงกฎหมายนั้นฉบับเดียวที่มีปัญหา

เมื่อถามว่า หากประธานสภามาจากพรรคก้าวไกลจะผลักดันกฎหมายนี้ได้หรือไม่ นายชวนกล่าวว่า ไปพูดล่วงหน้าไม่ได้ อยู่ที่ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่สภา เมื่อถามอีกว่า หากใครเป็นผู้บรรจุระเบียบวาระคนนั้นต้องเป็นผู้รับผิดชอบใช่หรือไม่ นายชวนกล่าวว่า ใครบรรจุระเบียบวาระมาก็ต้องดูว่าวาระนั้นเป็นของใคร เป็นของฝ่ายรัฐบาลหรือไม่ โดยทั่วไปถ้ารัฐบาลเสนอมาสภาก็จะพิจารณา เพราะถือว่ารัฐบาลเป็นฝ่ายบริหารที่ต้องใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ การที่รัฐบาลจะเสนอกฎหมายอะไรแสดงว่าได้ผ่านกระบวนการพิจารณามาแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ตอนนี้สังคมมีการถกเถียงกันว่าประธานสภาควรเป็นคนรุ่นใหม่ บางคนก็บอกว่าควรเป็นคนรุ่นเก่ามีประสบการณ์และดูที่พรรษา นายชวนกล่าวว่า คิดว่าใครก็ตามเข้ามาเราก็ต้องช่วยกัน ให้ความร่วมมือกับประธานสภาให้สามารถทำงานไปได้ เหนือสิ่งอื่นใดก็คือการรักษาระบบฝ่ายนิติบัญญัติให้มีความเข้มแข็ง สามารถดำเนินงานไปได้ ฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นใหม่หรือเก่า ทุกฝ่ายก็คงจะให้ความร่วมมือ

เมื่อถามว่า ตามมารยาทมีการเสนอชื่อประธานสภาข้ามพรรคกันได้หรือไม่ นายชวนกล่าวว่า แล้วแต่ที่ประชุม อย่างในสมัยที่แล้ว พรรค ปชป.ได้อันดับ 4 โดยทั่วไปประธานสภาก็ควรเป็นของพรรคที่ได้อันดับ 1 ที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ในสมัยที่แล้วต้องเรียนว่าไม่ได้คิดจะเป็นประธานสภาในครั้งที่แล้ว แต่เมื่อพรรคได้ลงมติร่วมรัฐบาลก็ได้ขอให้ตนรับตำแหน่ง ไม่เช่นนั้นเขาก็จะไม่คิดสัดส่วนในโควต้า “ขอยืนยันว่าใครมาเป็นประธานสภาก็ตาม เราก็ต้องช่วยสนับสนุนเพื่อให้งานของสภาไปได้ตามกระบวนการของระบอบประชาธิปไตยและระบบรัฐสภา” นายชวนกล่าว