“จรัญ ภักดีธนากุล” อดีตตุลาการศาล รธน. ชี้ สามารถเสนอชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ชิงนายกฯ ได้ แม้ถูกฟัน ม.151 ย้ำสถานการณ์ปัจจุบัน ต่างฝ่ายต่างยกข้อมูลสู้ผ่านสื่อชิงความชอบธรรม หวั่นนำสู่ความรุนแรง ย้ำทุกอย่างจบที่ศาล
วันที่ 14 มิ.ย.2566 นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล ในขณะที่มีข้อสงสัยเรื่องคุณสมบัติว่าการดำเนินคดีกับนายพิธา ตามมาตรา 151 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ฐานรู้ว่าไม่มีคุณสมบัติ แต่ยังสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการดำเนินคดีทางอาญา ไม่ใช่คดีที่เกี่ยวกับการตัดคุณสมบัติหรือวินิจฉัยลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นผู้วินิจฉัย
ดังนั้นไม่น่าจะมีอะไรขัดขวางการเสนอชื่อนายพิธา ชิงตำแหน่งนายกฯ เว้นแต่เมื่อรับรอง ส.ส. แล้ว ส.ส. จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของ ส.ส. คือ 50 คน เห็นว่ามีมูลเหตุว่านายพิธาขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็น ส.ส. ได้ และจะพัวพันไปถึงการจะเป็นนายกฯ ด้วย มีสิทธิเสนอเรื่องต่อประธานสภา ให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้าม แต่หากไม่มี ส.ส. ส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ กกต. ก็มีอำนาจตรวจสอบเรื่องนี้ แล้ววินิจฉัยว่าจะส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ กว่าจะคดีจะเข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่ารับเรื่องหรือไม่ และจะให้หยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญก็ใช้เวลานานพอสมควร
นายจรัญ กล่าวว่า ขณะนี้ควรเดินหน้าตามขั้นตอนกฎหมาย โดยรอให้ กกต. รับรอง ส.ส. ให้ครบร้อยละ 95 และเปิดประชุมสภานัดแรกเพื่อเลือกประธานสภา จากนั้นประธานสภา ในฐานะประธานรัฐสภาจะนัดประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกฯ เมื่อถึงขั้นตอนนั้นยังไม่ทราบว่าจะมีคำร้องต่างๆ อย่างไร จะมีใครส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ ไม่ทราบว่าศาลจะวินิจฉัยอย่างไร สมมุติว่าศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ จะมีผลต่อแคนดิเดตนายกฯ หรือไม่ เพราะศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. เขาไม่ได้ร้องเพิกถอนคุณสมบัติแคนดิเดตนายกฯ เว้นแต่ผู้ร้องจะร้องเกี่ยวกับคุณสมบัติของแคนดิเดตนายกฯ ด้วย ซึ่งไม่มีช่องทางให้ไป ดังนั้นเรื่องนี้ต้องจบที่ศาล
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีกระบวนการที่จะให้ไปสู่ศาลอย่างชัดเจน ยังมีความซับซ้อนมาก แต่กลับมีการพิจารณาคดีทางสื่อ โดยแต่ละฝ่ายหยิบหลักฐานออกมาแสดง เพื่อชี้ไปยังประโยชน์ของตัวเอง ไม่มีขั้นตอน ไม่มีหลักเกณฑ์ แต่ละคนว่าไปตามความคิดของตัวเอง ในที่สุดแต่ละฝ่ายที่สนับสนุน ก็แบ่งฝ่ายทะเลาะกัน 2 ฝ่าย 3 ฝ่าย โดยไม่มีข้อยุติ ตนกังวลว่าในที่สุดจะนำไปสู่สงครามบนท้องถนน จึงอยากให้เรื่องนี้ไปจบด้วยกระบวนการทางนิติ คือไปจบที่ศาล ไม่เช่นนั้นสังคมก็เดินไม่ได้.