เอกสารหลุด! เปิดว่าที่ ส.ส.71 เขต ในจำนวน 37 จังหวัด ที่ โดนคำร้องคัดค้านผลการเลือกตั้ง ทำให้ กกต.ยังไม่ประกาศผลรับรอง โดยมี ภูมิใจไทย มากที่สุด 21 เขต ตามด้วย เพื่อไทย ขณะที่ ก้าวไกล มี 6 ราย โดยในจำนยวนนี้มีชื่อของ “รัชนก ศรีนอก” ซึ่งเจ้าตัวระบุ เป็นแค่กรวดในรองเท้า ด้าน “อนุทิน” ประกาศ ช่วยเหลือ 23 สส.ที่ถูกร้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีเอกสารข้อมูลที่นำเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในการพิจารณาประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต (ครั้งที่ 1) ที่มีการเสนอให้ที่ประชุมกกต.พิจารณาเมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยรายละเอียดของเอกสารดังกล่าว เป็นการรวบรวมข้อมูลที่เสนอให้กกต.พิจารณาว่า ผู้ชนะการเลือกตั้ง ส.ส. ในเขตใดบ้างที่มีเรื่องร้องคัดค้าน โดยมี 37 จังหวัดที่มีผู้สมัครถูกร้องคัดค้านรวม 71 คนดังนี้ กรุงเทพมหานคร มี 33 เขต มีความเห็นเสนอประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง 32 เขต ยกเว้นเขต 28 น.ส.รัชนก ศรีนอก พรรคก้าวไกล
โดยเมื่อรวมว่าที่ส.ส.จากพรรคที่ถูกร้องเรียนพบว่าเป็นว่าที่ส.ส.จากพรรค ภูมิใจไทย 23 คน พรรคเพื่อไทย 17 คน พรรคพลังประชารัฐ 16 คน พรรค ก้าวไกล6 คน พรรคประชาธิปัตย์ 3 คน พรรครวมไทยสร้างชาติ 3 คน พรรคไทยสร้างไทย 2 คนและพรรค เพื่อไทยรวมพลัง 1คน สำหรับ สส.ที่ กกต.ยังไม่รับรองผลการเลือกตั้ง มี 71 เขต ในจำนวน 37 จังหวัดดังนี้จังหวัดกาญจนบุรี 5 เขต เสนอประกาศรับรอง 2 เขต และไม่ประกาศรับรอง 3 เขต ประกอบด้วย เขต 1 นายอัครนันท์ กัณณ์กิตตินันท์ พรรคเพื่อไทย เขต 3 นายยศวัฒน์ มาไพศาลสิน พรรคภูมิใจไทย และเขต 4 นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ พรรคเพื่อไทย, จังหวัดกำแพงเพชร 4 เขต เสนอประกาศรับรอง 3 เขต ไม่ประกาศรับรอง 1 เขต คือ เขต 1 นายไผ่ ลิกค์ ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ, จังหวัดขอนแก่น 11 เขต เสนอประกาศรับรอง 9 เขต ไม่รับรอง 2 เขต คือ เขต 4 นายเอกราช ช่างเหลา พรรคภูมิใจไทย และ เขต 11 นายองอาจ ฉัตรชัยพลรัตน์ พรรคภูมิใจไทย
จังหวัดฉะเชิงเทรา 4 เขต ประกาศรับรอง 3 เขต ไม่รับรอง 1 เขต คือ เขต 3 นายศักดิ์ชาย ตันเจริญ พรรคเพื่อไทย, จังหวัดชลบุรี 10 เขต เสนอประกาศรับรอง 7 เขต ไม่รับรอง 3 เขต คือ เขต 8 นายจรัส คุ้มไข้น้ำ พรรคก้าวไกล เขต 9 นายยอดชาย พึ่งพร พรรคก้าวไกล และ เขต 10 นายสะถิระ เผือกประพันธ์ พรรคพลังประชารัฐ, จังหวัดชัยภูมิ 7 เขต เสนอประกาศรับรอง 4 เขต ไม่รับรอง 3 เขต คือ เขต 3 นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ พรรคภูมิใจไทย เขต 5 นายศิวะ ธงศ์ธีระดุลย์ พรรคเพื่อไทย และเขต 7 นายอัครแสนคีรี โล่ห์วีระ พรรคพลังประชารัฐ
จังหวัดเชียงใหม่ 10 เขต เสนอประกาศรับรอง 8 เขต ไม่ประกาศรับรอง 2 เขต คือ เขต 1 น.ส.เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู พรรคก้าวไกล และเขต 9 นายนเรศ ธำรงทิพยคุณ พรรคพลังประชารัฐ, จังหวัดตรัง มี 4 เขต เสนอรับรอง 3 เขต ไม่รับรอง 1 คือ เขต 2 นายทวี สุระบาล พรรคพลังประชารัฐ, จังหวัดนครพนม มี 4 เขต เสนอรับรอง 2 เขต ไม่รับรอง 2 เขต คือ เขต 1 นายภูมิพัฒน์ พชรทรัพย์ พรรคเพื่อไทย เขต 2 นางมนพร เจริญศรี พรรคเพื่อไทย
จังหวัดนครราชสีมา 16 เขต เสนอรับรอง 13 เขต ไม่รับรอง 3 เขต คือ เขต 5 นายสมเกียรติ ตันดิลกตระกูล พรรคเพื่อไทย เขต 10 นายอภิชา เลิศพัชรกมล พรรคเพื่อไทย และเขต 12 นายนรเสรฎฐ์ ศิริโรจนกุล พรรคเพื่อไทย, จังหวัดนครศรีธรรมราช มี 10 เขต เสนอประกาศรับรอง 6 เขต ไม่รับรอง 4 เขต คือ เขต 7 นายษฐา ขาวขำ พรรคภูมิใจไทย เขต 8 นางมุกดาวรรณ เลื่องสีนิล พรรคภูมิใจไทย เขต 9 นางอวยพรศรี เชาวลิต พรรคประชาธิปัตย์ และเขต 10 น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล พรรครวมไทยสร้างชาติ
จังหวัดบึงกาฬ มี 3 เขต เสนอประกาศรับรอง 2 เขต ไม่รับรอง 1 เขต คือเขต 2 นายสุวรรรณา กุมภิโร พรรคภูมิใจไทย, จังหวัดบุรีรัมย์ มี 10 เขต เสนอประกาศรับรอง 6 เขต ไม่รับรอง 4 เขต คือ เขต 4 นางรังสิกร ทิมาตฤกะ พรรคภูมิใจไทย เขต 5 นายโสภณ ซารัมย์ พรรคภูมิใจไทย เขต 6 นายศักดิ์ ซารัมย์ พรรคภูมิใจไทย และ เขต7 นายพรชัย ศรีสุริยันโยธิน พรรคภูมิใจไทย, จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มี 3 เขต เสนอประกาศรับรอง 2 เขต ไม่รับรอง 1 เขต คือ เขต 1 นายสังคม แดงโชติ พรรคภูมิใจไทย
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มี 5 เขต เสนอประกาศรับรอง 2 เขต ไม่รับรอง 3 เขต คือ เขต 2 นายชริน วงศ์พันเที่ยง พรรคก้าวไกล เขต 3 น.ส.พิมพฤดา ตันจรารักษ์ พรรคภูมิใจไทย และ เขต 5 นายประดิษฐ์ สังขจาย พรรคภูมิใจไทย, จังหวัดพังงา มี 2 เขต ไม่รับรอง 2 เขต คือ เขต 1 นายอรรถพล ไตรศรี พรรคภูมิใจไทย และ เขต2 นายฉกาจ พัฒนกิจวิบูลย์ พรรคพลังประชารัฐ, จังหวัดพัทลุง มี 3 เขต เสนอประกาศรับรอง 2 เขต ไม่รับรอง 1 เขต คือ เขต 1 นางสุพัชรี ธรรมเพชร จากประชาธิปัตย์
จังหวัดพิจิตร มี 3 เขต เสนอประกาศรับรอง 2 เขต ไม่รับรอง 1 เขต คือ เขต 1 นายภัทรพงศ์ ภัทรประสิทธิ์ พรรคภูมิใจไทย, จังหวัดพิษณุโลก มี 5 เขต เสนอประกาศรับรอง 3 เขต ไม่รับรอง 2 เขต คือ เขต 1 นายปดิพัทธ์ สันติภาดา พรรคก้าวไกล และ เขต3 นายพงษ์มนู ทองหนัก พรรครวมไทยสร้างชาติ, จังหวัดจังหวัดเพชรบุรี มี 3 เขต เสนอประกาศรับรอง 2 เขต ไม่รับรอง 1 เขต คือ เขต 2 นายฤกษ์ อยู่ดี จากภูมิใจไทย
จังหวัดเพชรบูรณ์ มี 6 เขต เสนอประกาศรับรอง 3 เขต ไม่รับรอง 3 เขต คือ เขต 2 นายจักรัตน์ พั้วช่วย พรรคพลังประชารัฐ เขต 5 นางวันเพ็ญ พร้อมพัฒน์ พรรคพลังประชารัฐ และเขต 6 นายอัคร ทองใจสด พรรคพลังประชารัฐ, จังหวัดภูเก็ต มี 3 เขต เสนอประกาศรับรอง 2 เขต ไม่รับรอง 1 เขต คือ เขต 1 ว่าที่ร้อยตรีสมชาติ เตชถาวรเจริญ พรรคก้าวไกล, จังหวัดมหาสารคาม มี 6 เขต เสนอประกาศรับรอง 5 เขต ไม่รับรอง 1 เขต คือ เขต 2 นายไชยวัฒนา ติณรัตน์ พรรคเพื่อไทย
จังหวัดมุกดาหาร มี 2 เขต เสนอประกาศรับรอง 1 เขต ไม่รับรอง 1 เขต คือ เขต 1 นายวิริยะ ทองผา พรรคพลังประชารัฐ,จังหวัดยโสธร มี 3 เขต เสนอประกาศรับรอง 2 เขต ไม่รับรอง 1 เขต คือ เขต 1 นางสุภาพร สลับศรี พรรคไทยสร้างไทย, จังหวัดร้อยเอ็ด มี 8 เขต เสนอประกาศรับรอง 7 เขต ไม่รับรอง 1 เขต คือ เขต 3 นางรัชนี พลซื่อ พรรคพลังประชารัฐ
จังหวัดเลย มี 4 เขต เสนอประกาศรับรอง 1 เขต ไม่รับรอง 3 เขต คือ เขต 1 นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล พรรคเพื่อไทย เขต 2 นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ พรรคเพื่อไทย และเขต 4 นายสมเจตน์ แสงเจริญรัตน์ พรรคเพื่อไทย , จังหวัดศรีสะเกษ มี 9 เขต เสนอประกาศรับรอง 5 เขต ไม่รับรอง 4 เขต คือ เขต 1 นายธเนศ เครือรัตน์ พรรคเพื่อไทย เขต 2 นายสุรชาติ ชาญประดิษฐ์ พรรคเพื่อไทย เขต 3 นายธนา กิจไพบูลย์ชัย พรรคภูมิใจไทย และเขต 8 นายอาสพลธ์ สรรณ์ไตรภพ พรรคภูมิใจไทย
จังหวัดสกลนคร มี 7 เขต เสนอประกาศรับรอง 5 เขต ไม่รับรอง 2 เข คือ เขต 4 นายพัฒนา สัพโส พรรคเพื่อไทย และเขต 5 นายชัยมงคล ไชยรบ พปชร. , จังหวัดสงขลา มี 9 เขต เสนอประกาศรับรอง 8 เขต ไม่รับรอง 1 เขต คือ เขต 5 นายเดชอิศม์ ขาวทอง พรรคประชาธิปัตย์ , จังหวัดสระแก้ว มี 3 เขต เสนอประกาศรับรอง 1 เขต ไม่รับรอง 2 เขต คือ เขต 1 นางขวัญเรือน เทียนทอง พรรคพลังประชารัฐ และเขต 3 นายสรวงศ์ เทียนทอง พรรคเพื่อไทย
จังหวัดสิงห์บุรี มี 1 เขต เสนอไม่รับรอง 1 เขต คือ นายโชติวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ พรรคพลังประชารัฐ, จังหวัดสุราษฎร์ธานี มี 7 เขต เสนอประกาศรับรอง 6 เขต ไม่รับรอง 1 เขต คือเขต 2 นายพิพิธ รัตนรักษ์ รวมไทยสร้างชาติ , จังหวัดอำนาจเจริญ มี 2 เขต เสนอไม่ประกาศรับรองทั้ง 2 เขต คือ เขต 1 นางสุขสมรวย วันทนียกุล พรรคภูมิใจไทย และเขต 2 นางญาณีนาถ เข็มนาค พรรคภูมิใจไทย , จังหวัดอุดรธานี มี 10 เขต เสนอประกาศรับรอง 9 เขต ไม่รับรอง 1 เขต คือ ส.ส.เขต 3 นายหรั่ง ธุระพล พรรคไทยสร้างไทย
จังหวัดอุบลราชธานี มี 11 เขต เสนอประกาศรับรอง 7 เขต ไม่รับรอง 4 เขต คือ เขต 1 นายวรสิทธิ์ กัลป์ตินันท์ เพื่อไทย เขต 4 นางสาวกิตติ์ธัญญา วาจาดี เพื่อไทย เขต 7 นางสาวสุดารัตน์ พิทักษ์พรพัลลภ เพื่อไทย และเขต 10 นายสมศักดิ์ บุญประชม พรรคเพื่อไทรวมพลัง
สำหรับจังหวัดที่เสนอให้ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง มีจำนวน 329 เขต ใน 40 จังหวัด ประกอบด้วย กระบี่ , กาฬสินธุ์ , จันทบุรี ,ชัยนาท ,ชุมพร ,เชียงราย ,ตราด , ตาก ,นครนายก , นครปฐม, นครสวรรค์ , นนทบุรี , นราธิวาส , น่าน ,ปทุมธานี , ปราจีนบุรี ,ปัตตานี , พะเยา ,แพร่ ,แม่ฮ่องสอน , ยะลา ,ระนอง ,ระยอง ,ราชบุรี ,ลพบุรี ,ลำปาง ,ลำพูน ,สตูล ,สมุทรปราการ , สมุทรสงคราม ,สมุทรสาคร ,สระบุรี , สุโขทัย, สุพรรณบุรี , สุรินทร์ ,หนองคาย , หนองบัวลำภู , อ่างทอง ,อุตรดิตถ์ ,อุทัยธานี.ล่าสุดวันนี้ (15 มิ.ย.) น.ส.รัชนก ศรีนอก ว่าที่ส.ส. กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่มีเอกสารหลุดจากที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยระบุว่า มีการคัดค้านการประกาศรับรอง ส.ส. ในเขต 28 บางบอน กรุงเทพมหานคร ที่น.ส.รัชนกลงรับสมัครเลือกตั้ง ขณะนี้มีรายละเอียดใดเพิ่มเติม หรือทราบเรื่องที่ถูกร้องเรียนหรือไม่ ว่า เบื้องต้น ตอนนี้กำลังรอเอกสารจากกกต.ส่งมาที่บ้าน ว่าถูกร้องเรียนในหัวข้อใด เท่าที่ทราบ อาจจะยังไม่ถูกรับรอง เพราะมีเรื่องที่ถูกร้องเรียน เราพร้อมที่จะชี้แจงในทุกข้อที่ถูกร้องเรียนมา อีกทั้ง ยังอยู่ในระยะเวลา 60 วันภายในการรับรองส.ส. หากเราได้รับหนังสือแล้ว และเราไปชี้แจง ถ้าไม่มีมูล เรื่องก็จะตกไป แต่หากมีมูล ก็ต้องว่ากันต่อไป
เมื่อถามว่า ทางพรรคก้าวไกลได้มีการแนะนำอะไรในเรื่องนี้หรือไม่ น.ส.รัชนก กล่าวว่า ทางพรรคแจ้งมาว่า หากเอกสารมาถึงที่บ้านแล้ว ก็ให้แจ้งทางพรรคได้เลย จะมีการจัดทีมกฎหมายไปติดตาม หรือจะมีการดำเนินการอย่างไรต่อ ก็ค่อยว่ากัน
เมื่อถามว่า เรื่องนี้จะไม่กระทบต่อการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีใช่หรือไม่ น.ส.รัชนก กล่าวว่า ตนคิดว่ารายชื่อทั้งหมดที่ถูกร้องเรียน อย่างไรก็ต้องมีอยู่แล้ว เนื่องจากเราเป็นผู้ชนะ ตนคิดว่าต้องรอดูก่อน ว่ามีเรื่องใดบ้าง ทุกเรื่องสามารถชี้แจงได้หมด ซึ่งถ้าสามารถรับรองส.ส.ได้แล้ว ก็จะเข้าสภาฯ โหวตเลือกนายกฯได้ปกติ เมื่อถามว่า กังวลในเรื่องนี้หรือไม่ น.ส.รัชนก กล่าวว่าไม่กังวล เพราะเรื่องนี้ถูกร้องเรียนถึง 71 เขต คิดว่าหากถูกร้องเรียนอะไรมาก็ต้องชี้แจงกันไป
“คงเป็นก้อนกรวดเล็กๆ ในรองเท้า ของผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล ยังคงต้องเจออะไรอีกเยอะในอนาคต เพราะอย่างที่ทุกคนได้เห็น ตั้งแต่เราชนะมาก็งานเข้าไม่หยุด อยากให้ทุกคนทำใจให้ชินว่า เราเป็นฝ่ายที่ต่อสู้ เอาอำนาจกลับมาสู่มือของประชาชน เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องที่เราต้องเจอ”
เมื่อถามว่า ยังคงยืนยันที่จะลงพื้นที่ต่อ แม้ว่าจะยังไม่มีการรับรองส.ส. ใช่หรือไม่ น.ส.รัชนก กล่าวว่าจริงๆ ก็ลงตั้งแต่วันแรกที่ได้รับเลือกมา เพราะยังไม่มีวันไหนที่ไม่หยุดเจอประชาชนเลย พร้อมยืนยันว่าเงินเดือนส.ส. ถูกจ่ายมาแล้ว เราต้องทำให้เงินและภาษีของประชาชนคุ้มค่ามากที่สุด โดยไม่ต้องรอให้กกต.รับรอง นี่คือการตอบแทนประชาชนที่มอบความไว้วางใจให้เรา
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ตนจะให้ฝ่ายกฎหมายของพรรค ประสานงานคอยช่วยเหลือ ส.ส.จำนวน 23 ราย ที่ มี กระแสข่าวว่า กกต.ยังไม่รับรองผล แต่เบื้องต้นเป็นหน้าที่ของ สส.ของพรรคทุกคนที่ ต้องชี้แจงข้อเท็จอยู่แล้ว