นักกฎหมาย ชี้ คำวินิจฉัย “ศาลรธน.” ขวางการเสนอชื่อ “พิธา” เป็นนายกฯไม่ได้

“พรสันต์ เลี้ยงบุญชัย” นักกฎหมาย คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ชี้ชัด คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ปมคุณสมบัติส.ส.ของ”พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ” ขวางการเสนอชื่อเป็นนายกฯไม่ได้

วันที่ 14 มิ.ย. 2566 ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า หลายท่านสอบถามมากรณีของ “คุณพิธา” กับกลไกการตรวจสอบสมาชิกภาพ ส.ส. และ การเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี (แคนดิเดตนายกฯ) ว่าเป็นเช่นไร เพื่อให้ทุกท่านเข้าใจข้อกฎหมาย (รัฐธรรมนูญ) และ ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องไม่คลาดเคลื่อน ผมจึงขออธิบายโดยสรุปเป็นข้อๆ ดังนี้ครับ

1. ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (2560) ไม่ได้มีการกำหนดคุณสมบัติว่า ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (แตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนอย่างฉบับปี 2540 และ 2550)

2. จากข้อ 1. หากปรากฏว่ามีการส่งเรื่องให้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพของ “คุณพิธา” ว่าสิ้นสมาชิกภาพไปแล้วหรือไม่ (เพราะถือหุ้น itv) และ ศาลเห็นควรให้มีการหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย (ม.82) จึงย่อมไม่ส่งผลทางกฎหมายกับการเสนอชื่อ “คุณพิธา” ต่อรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกฯ (ม.159)

3. กรณีตามข้อ 2. เคยเกิดขึ้นแล้วกับกรณี “คุณธนาธร” ขณะนั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ โดยมีการอ่านคำสั่งในวันแรกของการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อลงมติเลือก ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร (25 พ.ค.2562) ต่อมามีการนัดประชุมรัฐสภาในวันที่ 5 มิ.ย. 2562 เพื่อลงมติเลือกนายกฯ ขณะนั้นมีการเสนอชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์” และ “คุณธนาธร” ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ หาได้มีปัญหาทางกฎหมายใดๆ โดยผลการลงมติของรัฐสภา “พล.อ.ประยุทธ์” ชนะจนได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ

ดังนั้น ทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงกรณี “คุณพิธา” หากเกิดขึ้นจึงพึงต้องเป็นเช่นนี้ครับ!!!