อดีตรองโฆษกปชป. ชี้ กกต.สอบ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ผิดมาตรา 151 ไม่น่ากังวล โดยเฉพาะปมถือหุ้นสื่อ ยังมีหลายประเด็นให้สามารถโต้แย้งได้ แต่ด่านสำคัญอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ
วันที่ 10 มิ.ย. 2566 นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า วิบากกรรม พิธา เรื่องใหญ่ อาจไม่ใช่ ม.151 ตามที่ กกต. มีมติเอกฉันท์ ไม่รับ 3 คำร้องกรณี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ถือหุ้นสื่อ ไอทีวี เนื่องจากเป็นคำร้องที่ยื่นมาในระยะเวลาที่เกินกำหนด แต่ยังมีมติรับพิจารณาตาม ม.151 เหตุรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากมีลักษณะต้องห้าม แต่ยังฝ่าฝืน มีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่า กกต. ใช้ยาแรงจัดหนักนายพิธาน่าจะไม่รอด
แต่ตนกลับเห็นตรงกันข้าม เพราะว่าความผิดตามมาตรา 151 พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้งสส. พ.ศ 2561 ต้องเป็นความผิดที่มีเจตนาที่ชัดเจน ซึ่งกฎหมายใช้คำว่า “รู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง” เพราะฉะนั้นคำว่า “รู้อยู่แล้ว” ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ตายตัวรับฟังเป็นยุติ ไม่สามารถดิ้นได้ไม่ว่าโดยวิธีใด เช่น การเคยต้องคำพิพากษา หรือคุณสมบัติเกี่ยวกับการศึกษา แต่กรณีการถือหุ้นของนายพิธาถือเป็นประเด็นที่ยังไม่ยุติ ยังมีข้อสงสัยอยู่หลายประการ
โดยเฉพาะนายพิธายืนยันว่าตนถือหุ้นดังกล่าวในนามผู้จัดการมรดก และเคยยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ปปช. แล้วด้วย และประเด็นสำคัญคือ ไอทีวี ยังประกอบกิจการสื่ออยู่หรือไม่ ประเด็นนี้แค่นายพิธาให้การต่อสู้ว่าตนเองเข้าใจว่า ไอทีวี ไม่ได้เป็นสื่อเพราะหยุดประกอบกิจการมานานแล้ว ก็จะหลุดพ้นความผิดในมาตรานี้ทันทีเพราะขาดเจตนา มิเช่นนั้นนายพิธาคงจัดการโอนหุ้นที่อยู่ในมือไห้เสร็จก่อนวันสมัคร ซึ่งทำได้โดยง่าย คงไม่โง่ฝ่าฝืนลงสมัครรับเลือกตั้งทั้งๆ ที่รู้ว่ามีความผิด
“และถ้าพิจารณาเทียบเคียงกับกรณีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ก่อนหน้านี้ ก็จะเห็นว่า อัยการยกคำร้องหลังจากที่คุณธนาธร ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีคุณสมบัติต้องห้ามจากการถือครองหุ้นสื่อจริง จนพ้นสภาพความเป็น ส.ส.ไป และ กกต.ก็ชงเรื่องต่อว่านายธนาธร มีความผิดตามมาตรา 151 รู้อยู่แล้วว่าไม่มีคุณสมบัติแต่ยังลงสมัครรับเลือกตั้ง สุดท้ายอัยการก็มีคำสั่งไม่ฟ้อง โดยชี้ว่าคดีอาญาต้องมีหลักฐานนำสืบจนปราศจากข้อสงสัย ทำให้คดียุติไป”
“ผมคิดว่าด่านต่อไปของนายพิธา ไม่ใช่เรื่องที่ กกต. รับพิจารณาความผิดตามมาตรา 151 เพราะการที่ กกต. ตีตกคำร้องทั้ง 3 คำร้องในเรื่องการถือหุ้น ไอทีวี ว่าขาดคุณสมบัติหรือไม่ ยังไม่ยุติ เพราะภายหลังจาก กกต. รับรอง ส.ส. แล้ว ยังมีช่องสามารถยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้อีก ตามมาตรา 82 ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ”