จำลองประชามติแยก’รัฐปัตตานี’ ส่งผลสะเทือนหนัก

งานเปิดตัวองค์กรนักศึกษาสามจังหวัดชายแดนใต้ “ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ” เผยภาพบัตรประชามติ โหวต 4 จังหวัดชายแดนใต้ แยกตัวเป็นเอกราช อ้างสิทธิให้ประชาชนกำหนดชะตากรรมตนเอง ขณะ นักวิชาการออกโรงคัดค้าน อ้าง ขัด รธน.มาตรา1 ได้ส่งผลสะเทือนหนัก ต่อความรู้สึกของคนไทยทั้งประเทศ และนำไปสู่การดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง

เหตุการณ์เมื่อวันพุธที่ 7 มิ.ย. กิจกรรมเปิดตัวองค์กรที่ชื่อว่า ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ หรือ เปลาจาร์ บังซา (Pelajar Bangsa) นำโดย นายอิรฟาน อูมา ประธานขบวนนักศึกษาแห่งชาติ ที่ห้องประชุมศรีวังสา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้กลายเป็นประเด็นร้อน ที่สร้างผลสะเทือนต่อการเคลื่อนไหวในภาคใต้ และต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

การกลับมารวมกลุ่มทำกิจกรรมของนักศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในนามเปลาจาร์ บังซา หลังจากสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี หรือ เปอร์มาส (PerMAS) ยุติบทบาทองค์กรไปเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2564

ภายในงานมีการแสดงปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง (Self Determination) กับสันติภาพปาตานี” โดย รศ.ดร.มารค ตามไท อาจารย์สาขาการสร้างสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ จ.เชียงใหม่ บรรยายถึงความสำคัญของการทำความเข้าใจในหลักการ “การกำหนดอนาคตตนเอง” เป็นหลักการสำคัญของกฎหมายเกี่ยวกับการปกครองซึ่งเป็นพื้นฐานการพัฒนาประชาธิปไตย ถ้าหากไม่เข้าใจในตัวหลักการมันอาจจะสร้างความหวาดระแวงได้ขณะที่การเสวนาหัวข้อ “สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง (Self Determination) กับสันติภาพปาตานี” โดย ผศ.ดร.วรวิทย์ บารู ว่าที่ ส.ส.ปัตตานี รองหัวหน้าพรรคประชาชาติ นายฮากิม พงติกอ รองเลขาธิการพรรคเป็นธรรม และ นายอาเต็ฟ โซ๊ะโก ประธานกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มเดอะปาตานี (The Patani) นอกจากนี้ ยังมี นายรอมฎอน ปันจอร์ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แต่ไม่สามารถเข้าร่วมงานได้กะทันหัน

นายฮากิม พงติกอ มองว่า สิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง หรือ RSD (Right to Self-determination) เป็นสิทธิเสรีภาพในการที่จะเลือกมาเป็นหลักการการดำเนินประเด็นทางการเมือง ส่วนนายอาเต็ฟ โซ๊ะโก กล่าวว่า เมื่อเราถือหลักที่สอดคล้องกับ RSD เป็นกระบวนการที่ยอมรับตามหลักสากล นำไปสู่การประชามติ ซึ่งไม่ว่าผลของการประชามติจะออกมาอย่างไรเราก็ควรที่จะยอมรับ และจะไม่มีคำว่าแพ้เกิดขึ้นเพราะนั่นเป็นสิ่งที่ประชาชนเลือก

ผศ.ดร.วรวิทย์ บารู กล่าวว่า กระบวนยุติธรรมจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงหลายๆ ปัจจัย เพราะถ้าเราอยากได้ความเป็นธรรม เราก็ต้องเป็นที่จะให้ความเป็นธรรมนั้นแก่คนอื่น เพราะบางคนเรียกร้องถึงความเป็นธรรม แต่กลับอธรรมกับสิ่งที่ตนเองยึดถือหรือหลักศรัทธา นักศึกษา นักการเมือง และองค์กรภาคประชาสังคมมีสิทธิและเห็นควรที่จะผลักดันกระบวนการ RSD เพื่อเลือกที่จะกำหนดอนาคตตนเองเพราะเป็นเรื่องของวิชาการและเป็นที่ยอมรับตามหลักสากล

ทั้งนี้ภายในงาน พบว่ามีการแจกบัตรกระดาษแก่ผู้เข้าร่วมเสวนา ระบุหัวข้อว่า “คุณเห็นด้วย” กับ สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง หรือไม่ ที่จะให้ประชาชนปาตานีสามารถออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกกฎหมาย” โดยมีช่องลงคะแนนให้เลือกระหว่าง เห็นด้วย และ ไม่เห็นด้วย ระบุข้อความด้านล่างว่า “ให้กับชาวปาตานี : ผู้ที่ลงทะเบียนว่า “อาศัยอยู่ถาวรในพื้นที่ปาตานีหรือ จ.นราธิวาส, จ.ปัตตานี, จ.ยะลา และ จ.สงขลา (เฉพาะ อ.จะนะ, อ.นาทวี, อ.เทพา และ อ.สะบ้าย้อย)” กลายเป็นที่วิจารณ์ในโซเชียลมีเดียจำนวนมากว่า เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อแบ่งแยกดินแดนปัตตานีหรือไม่

นายกิตติธัช ชัยประสิทธิ์ นักวิชาการอิสระ ด้านปรัชญาการเมือง โพสต์ภาพและข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Kittitouch Chaiprasith โดยระบุว่า “คุณเห็นด้วยกับสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองหรือไม่ ที่จะให้ประชาชนปาตานีสามารถออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกกฎหมาย?” อันนี้น่าจะชัดเจนนะครับว่าพวกเขากำลังทำอะไรกันอยู่”

นายนริศโรจน์ เฟื่องระบิล อดีตเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา แสดงความคิดเห็นว่า “นี่คือสิ่งที่ไอ้กันต้องการ ! อยากให้ไทยเป็นแบบ ยูโกสลาเวีย ! ดีใจแทน 14 ล้านเสียงที่อีกไม่นานอาจต้องขอวีซ่าไป ปัตตานี ไป สปป.ล้านนา ไป สปป.อีสาน !!!”

นายอานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Arnond Sakworawich ว่า “กบฏแบ่งแยกดินแดนใช่หรือไม่? รัฐธรรมนูญมาตรา 1 เขียนเอาไว้ว่า ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้ การทำประชามติก่อตั้งรัฐปัตตานีนี้ เป็นการแบ่งแยกดินแดนหรือไม่?”

พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 เปิดเผยว่า ฝ่ายกฎหมาย กอ.รมน.ภาค 4 สน. ได้ประชุมมีความเห็นร่วมกันให้ดำเนินการทางกฎหมายกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดงานเปิดตัว ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ (Pelajar Kebangsaan) ครั้งนี้ โดยให้ฝ่ายกฎหมายและจนท.ข่าวของทุกฝ่ายหาหลักฐานเพิ่มเติมทั้งเนื้อหาในการเสวนา รายละเอียดในเรื่องของแบบสอบถามที่ผู้จัดถามความเห็นผู้ร่วมงานเห็นด้วยกับการเรียกร้องเอกราชของปัตตานีหรือไม่ โดยยอมรับว่าข่าวการจัดเสวนาในครั้งนี้สร้างความวิตกกังวลและตื่นตระหนกของประชาชนในสังคมอย่างกว้างขวาง

พล.ต.ปราโมทย์ ชี้แจงถึงการดำเนินการทางกฎหมายต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ โดยจะต้องมีการรวบรวมพยานหลักฐาน ข้อมูลพฤติกรรมรวมทั้งข้อมูลความเชื่อมโยงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียด

สำหรับแกนนำนักศึกษา หนึ่งในนั้น มีนายอิรฟาน อูมา ลูกชายของนายนัจมุดดีน อูมา อดีตส.ส.หลายสมัย ล่าสุด ลงสมัครส.ส.ในนามพรรคภูมิใจไทย ซึ่งนายนายมัจดี กล่าวว่า ไม่รู้มาก่อนว่า ลูกชายจะดำเนินการเช่นนี้ เพิ่งมารู้เมื่อตอนเป็นข่าว ซึ่งเมื่อ 10 ปีก่อนก็มีการประกาศคล้ายๆกันนี้ แต่ไม่เป็นข่าวเลยไม่มีการดำเนินการอะไร คิดว่า กลุ่มนักศึกษาคงไม่มีเจตนาแยกดินแดน อาจเป็นการรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ขณะที่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้ชี้แจงว่า การประกาศของนักศึกษา ได้บอกไว้่แล้วว่า อยู่ในขอบเขตของกฎหมาย ไม่ได้มีการละเมิดกฎหมายแต่อย่างใด และการลงประชามติ ก็เป็นการจำลอง ไม่ใช่การลงประชามติจริง

ขณะเดียวกัน มีพรรคการเมือง 2 พรรค ได้เข้าร่วมกิจกรรมด้วย มีตัวแทนจากพรรคประชาชาติ และพรรคเป็นธรรม ส่วนพรรคก้าวไกลที่มีชื่อในโปสเตอร์ ไม่ได้เดินทางไปร่วมแต่อย่างใด ซึ่งฝ่ายความมั่นคงได้ตรวจสอบประเด็นนี้เช่นกัน หากพบว่า มีพรรคการเมืองอยู่เบื้องหลัง อาจนำไปสู่การยุบพรรคได้ และอาจเป็นเหตุผลหนึ่งในการสกัดนายพิธา ลิ้่มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี