เดือนมิถุนายนนี้ อย่ากะพริบตา กับ การกลับมาของ “สถานีข่าวไอทีวี” เมื่อ “ศาลปกครองสูงสุด” นัดอ่านคำพิพากษาที่เป็นข้อพิพาทระหว่าง สำนักงานปลัดประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.)กับ บริษัทไอทีวี หลัง “ศาลปกครองกลาง” พิพากษาให้บริษัทไอทีวี ชนะคดี
ถ้า “ศาลปกครองสูงสุด” พิพากษายืนตาม “ศาลปกครองกลาง” ไอทีวีอาจจะกลับมาเป็นสถานีโทรทัศน์ใหม่ก็เป็นได้ ซึ่งปัจจุบันไอทีวียังคงสถานะความเป็นบริษัทผลิตสื่ออยู่ ตามวัตถุประสงค์เพื่อสู้คดีกับ สปน. ส่วนจะผลิตสื่ออย่างอื่นด้วยหรือไม่ เช่น สื่อออนไลน์ เป็นต้น
ไม่ใช่แค่ไอทีวีอาจจะกลับมา แต่จะเป็นเครื่องยืนยันว่า ไอทีวียังเป็นสื่ออยู่หรือไม่ด้วย และ อาจจะกระทบต่อการเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล ที่จะดัน “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เป็นนายกรัฐมนตรี
แต่ “พิธา” ติดปัญหา “ถือหุ้นไอทีวี” อยู่ในนามชื่อของตัวเอง แม้จะอ้างว่าเป็นมรดกก็ตาม แต่โดยหลักแล้ว หุ้นมรดกปกติจะต้องมีวงเล็บต่อท้ายชื่อผู้ถือหุ้นว่า “มรดก”
ถ้า “พิธา” ถูกตัดสินโดยศาลรัฐธรรมนูญว่า มีความผิดฐานถือหุ้นสื่อ ก็จะมีปัญหาในการจัดตั้งรัฐบาลต่อไป แต่ยังมีปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย เพราะ “พิธา” ถือหุ้นนี้มาตั้งแต่ปี 2549 หลังจากพ่อเขาเสีย จะมีผลในทางลบต่อการลงสมัครรับเลือกตั้งปี 2562 ด้วยหรือไม่ ?
และมีผลต่อการรับรองผู้สมัครทั้งระบบเขต และ บัญชีรายชื่อด้วยหรือไม่ แปลความได้ว่า การรับรองผู้สมัครไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยหรือไม่ ที่สำคัญคือระเบียบพรรคก้าวไกล ก็ลอกมาจากรัฐธรรมนูญ ห้ามสมาชิกพรรคเป็นเจ้าของสื่อ หรือ ถือหุ้นสื่อด้วย “พิธา” ก็ไม่มีสิทธิ์เป็นสมาชิกพรรคก้าวไกลตั้งแต่ต้นใช่หรือไม่ ?
แต่เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาพรรคก้าวไกล มี ส.ส.ทั้งระบบเขต และบัญชีรายชื่อรวมกัน 151 ที่นั่ง และ 151 ที่นั่งนี้ จะโมฆะหรือเปล่า อันจะนำไปสู่การทำให้การเลือกตั้งทั้งหมดเป็นโมฆะไปด้วย ต้องจัดเลือกตั้งใหม่หรือเปล่า ?
ถ้าพิจารณาตามข้อมูลที่รับรู้ รับทราบกันก่อนหน้า บวกกับประเด็นใหม่ไอทีวี จึงไม่ใช่เรื่องง่าย ในการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” แม้จะมีคะแนนมหาชนจำนวนมาก แต่กฎหมายก็ต้องเป็นกฎหมาย…จริงไหมครับ ???
#นายหัวไทร