SMEไทย เตรียม5แนวทางเสนอ”พิธา”ให้รบ.ใหม่ช่วย ห่วงดบ.ขยัยดันต้นทุนเพิ่ม

ปธ.สมาพันธ์ SME เผย “พิธา” นัดถก 13 มิ.ย. เตรียมระดมสมอง SME ทุกฝ่ายหารือ รวบรวม 5 แนวทางเสนอรัฐบาลชุดใหม่เร่งแก้ เชื่อหากทำได้จะผลักดันจีดีพีเพิ่มขึ้นเป็น 40-50 % ย้ำ ไม่เอา “รัฐบาลแห่งชาติ”

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยว่า ในวันที่ 13 มิถุนายนนี้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) และ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พร้อมทีมเศรษฐกิจของพรรค จะเดินทางมาที่สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ถนนประชาชื่น เพื่อพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนและรับฟังถึงสถานการณ์ภาพรวมของเอสเอ็มอีไทย เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาต่างๆ โดยขณะนี้ทางสมาพันธ์อยู่ระหว่างการหารือภายในเพื่อเก็บข้อมูลและข้อเสนอของเครือข่ายเอสเอ็มอีทั่วประเทศ ซึ่งในวันที่พบคณะนายพิธาจะมีประธานเอสเอ็มอีทุกภาคเข้าร่วมพูดคุยด้วย เพื่อมุ่งเน้นการเกิดปฏิบัติได้จริงในการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งในส่วนนี้มีจำนวนเอสเอ็มอีถึง 85% ที่เกี่ยวข้องและขับเคลื่อน และเอสเอ็มอีคาดหวังหลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ จะมีการขับเคลื่อนอย่างจริงจัง

“ที่ผ่านมาเอสเอ็มอีเราผลักดันมาตลอด ที่จะร่วมมือและให้รัฐบาลสนับสนุนและแก้ปัญหาที่กำลังประสบอยู่ เพราะหากแก้ไขได้ตรงจุด จะมีส่วนผลักดันสัดส่วนจีดีพีเอสเอ็มอีจากไม่เกิน 35% ของจีดีพีประเทศที่มีมูลค่าประมาณ 17 ล้านล้านบาท ขณะที่จำนวนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีถึง 85% ให้สัดส่วนจีดีพีเอสเอ็มอีขยับเป็น 40-50% ในอนาคต อยากเสนอให้รัฐบาลใหม่นำการผลักดันเอสเอ็มอีเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อกำหนดแนวทางและเป้าหมายร่วมกันของรัฐและเอกชนให้เกิดเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง โดยเบื้องต้นทางสมาพันธ์ได้เตรียมกลไก 5 ประเด็นขึ้นมาหารือในครั้งนี้” นายแสงชัยกล่าว

สำหรับ 5 ประเด็นที่จะหยิบยกขึ้นหารือกับนายพิธาและทีมเศรษฐกิจ ประกอบด้วย 1.ขจัดปัญหาสะสมที่มีผลต่อต้นทุนและขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำเป็นวันละ 450 บาท เรื่องนี้มีผลกระทบ และยังเห็นว่าไม่ถึงเวลาที่จะมีการปรับค่าแรงในอัตราสูงๆ ทันที ด้วยสภาพเศรษฐกิจและความพร้อมของเอสเอ็มอีรายย่อย ยังไม่ฟื้นตัวเท่าก่อนเกิดเชื้อโควิด-19 ระบาด ยังมีหนี้สะสมสูง ยอดประกอบการยังไม่นิ่ง และกำลังซื้อทั่วไปยังไม่คล่องตัว 2.เร่งแก้กฎหมายและกฎระเบียบที่ล้าสมัยและยังเป็นอุปสรรค ซึ่งวันนี้ยังมีขั้นตอนและใช้เวลามากต่อการจะยื่นขออนุมัติเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพื่อให้เกิดการทำธุรกิจ อยากให้รื้อระบบที่ต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายในระบบและนอกระบบ

3.สนับสนุนให้เอสเอ็มอีเป็นเครื่องมือหนึ่งในการหารายได้เข้าประเทศ ทั้งการส่งเสริมการพัฒนาและลงทุนในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งตอนนี้จะมีธุรกิจขนาดใหญ่ที่มักได้รับการคัดเลือกก่อน 4.ยกระดับสมรรถภาพและขีดคงามสามารถเอสเอ็มอีและแรงงานภาคเอสเอ็มอี โดยส่งเสริมการเข้าถึงนวัตกรรม มาตรฐานสากล ออกระเบียบเอื้อการทำธุรกิจรายย่อยโดยตรง และหนุนการใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มมาเสริมการทำงาน ที่จะมีผลดีต่อการลดต้นทุนในอนาคต และ 5. เร่งช่วยเหลือให้เอสเอ็มอีได้เข้าถึงแหล่งทุน และมีการออกกลไกเฉพาะเพื่อช่วยเอสเอ็มอี เช่น จัดตั้งกองทุนใหม่ หรือปรับกองทุนเดิมที่มีอยู่ มาเพิ่มสัดส่วนให้เอสเอ็มอีได้เข้าถึง ทดแทนที่เอสเอ็มอีต้องดิ้นร้นหาแหล่งทุนนอกระบบหรือเข้าระบบนอนแบงก์ ที่ต้องเสียอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 20-30% จากในระบบ 7-12%

นายแสงชัยกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ทั้ง 5 ประเด็นดำเนินการโดยเร็วและเป็นมาตรฐานเดียวกัน รัฐบาลใหม่ต้องเริ่มปรับใน 5 เรื่องควบคู่กันไป คือ กำหนดนิยามเอสเอ็มอีให้เหมือนกัน เพราะวันนี้แต่ละหน่วยงานกำหนดนิยามเอสเอ็มอีที่แตกต่างกัน ทำให้การเข้าเงินทุน หรือ ความช่วยเหลือตามมาตรการรัฐหรือเอกชนแตกต่างและตรงจุดน้อย อยากให้ยึดนิยามเอสเอ็มอีของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จากนั้นให้กำหนดมาตรการและดัชนีชี้วัดของความช่วยเหลือที่ให้เอสเอ็มอีเพื่อนำไปปรับปรุงหรือต่อยอด ประการต่อมา คือ จัดสรรงบประมาณและพิจารณาโครงการใช้งบน้อยแต่ได้งานมาก ปรับวิธีและกำลังคนที่ให้เกิดงานที่รวดเร็วและโปร่งใส รวมถึงมีการเปิดเผยดัชนีชี้วัดการทำงานของทีมงานรับผิดชอบนั้นๆ เพื่อให้ตระหนักถึงการทำงานและผลงานที่จะเกิดขึ้น

การปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยขึ้นเป็น 2% กระทบต่อภาระที่เพิ่มขึ้นของเอสเอ็มอีโดยเฉพาะรายย่อยสูงขึ้นในอีก ที่ตอนนี้หลายแสนรายก็ยังเข้าไม่ถึงแหล่งทุนในระบบ และต้องพึ่งพาเงินนอกระบบต่อไปเรื่อยๆ ขึ้นดอกเบี้นมีผลต่อราคาสินค้าและเงินเฟ้อขยับขึ้นไปอีก ยังมีปัญหาสะสมเดิมอีก ทั้งต้นทุนพลังงาน ค่าไฟ วัตถุดิบ ค่าจ้างแรงงาน ตลาดซื้อฝืด หนี้สูง

“ดังนี้ อยากให้รัฐบาลใหม่ควรจะดีไซต์มาตรการที่จะพยุงเอสเอ็มอีไม่แค่อยู่รอด แต่รอดแบบยั่งยืนด้วย เอสเอ็มอีไม่ยากแค่แลกเงินแต่อยากให้มั่นคงด้วย แน่นอนการอยากเห็นตั้งรัฐบาลใหม่โดยเร็ว เพื่อให้ความไม่ชัดแจนและการตัดสินใจเดินหน้าต่อการทำธุรกิจไม่ชะงักนาน เศรษฐกิจและประเทศจะเสียหาย เรื่องแนวคิดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ส่วนตัวผมไม่เห็นด้วย ระบอบประชาธิปไตย ต้องมีการถ่วงดุลฝ่ายของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน เพื่อเกิดการตรวจสอบ ไม่ให้เป็นพวกเดียวกันหมดแล้วภาพเห็นแค่คนดีทั้งหมดก็อาจไม่ได้นำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขได้อย่างแท้จริง หรือรวดเร็วหากเกิดเหตุการณ์ต่างๆ เอสเอ็มอีอยากเห็นการเมืองสร้างสรรค์ มากกว่าขัดแย้ง” นายแสงชัย กล่าว