“8 พรรคร่วมรัฐบาล” เคาะตั้ง คณะกก.ประสานงานเปลี่ยนผ่านรัฐบาล 1 คณะใหญ่ 7 คณะย่อย ยึดตาม MOU “พิธา”ยันจับมือสามัคคีแน่นปึ่ก แจงปมเก้าอี้”ปธ.สภาฯ”เรื่องระหว่าง”ก้าวไกล-เพื่อไทย” คาดรู้เรื่องหลัง กกต.ประกาศรับรองส.ส. ขณะที่”ชลน่าน”ยันไร้ปัญหา เอาตาม”ว่าที่นายกฯ คนที่ 30″ ด้าน”วันนอร์”ขออย่าผลักปชช.ทิ้งทำผิดหวัง
วันที่ 30 พ.ค.2566 เวลา 16.15 น. ที่ พรรคประชาชาติ (ปช.) ภายหลังการประชุมร่วมระหว่าง 8 พรรคการเมืองที่ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วม (MOU) จัดตั้งรัฐบาล ได้แก่ พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อไทรวมพลัง พรรคเป็นธรรม และ พรรคพลังสังคมใหม่
โดยภายหลังหารือประมาณ 1 ชั่วโมง 45 นาที แกนนำของ 8 พรรคร่วมรัฐบาล ได้ออกมาแถลงข่าว นำโดย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า วันนี้เป็นการแถลงข่าวร่วมกันระหว่างหัวหน้าพรรคจัดตั้งรัฐบาลทั้ง 8 พรรค โดยมีข้อสรุปของการประชุมดังต่อไปนี้ 1.หัวหน้าพรรคทั้ง 8 พรรค ได้ร่วมกันมีมติในการจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานในช่วงเปลี่ยนผ่าน ประกอบด้วยบุคลากรดังต่อไปนี้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นประธาน โดยมี กรรมการประกอบด้วย น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ตัวแทนพรรคก้าวไกล , นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล ตัวแทนพรรคเพื่อไทย , พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ตัวแทนพรรคประชาชาติ , น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ตัวแทนพรรคไทยสร้างไทย , นายวิรัตน์ วรศสิริน ตัวแทนพรรคเสรีรวมไทย , นายกรรณวีร์ สืบแสง ตัวแทนพรรคเป็นธรรม , นายวสวรรธ์ พวงพรศรี ตัวแทนพรรคเพื่อไทรวมพลัง และนายเชาวลิต ขจรพงศ์กีรติ ตัวแทนพรรคพลังสังคมใหม่
นายพิธา กล่าวอีกว่า สำหรับคณะกรรมการประสานงานฯ จะนัดประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 6 มิ.ย.66 ที่ พรรคเพื่อไทย โดยในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ คณะกรรมการประสานงานฯ จะตั้งคณะทำงานขึ้นมา 7 คณะ จากทั้งหมด 23 คณะ เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงร่วม (MOU) เมื่อวันที่ 22 พ.ค.66 ที่ผ่านมา โดยคณะทำงานทั้ง 7 คณะเบื้องต้น เพื่อตอบสนองแก้ไขปัญหาของประชาชนในช่วงนี้ ได้แก่ 1.คณะทำงานค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันดีเซล และพลังงาน 2.คณะทำงานภัยแล้ง และเอลนินโญ 3.ปัญหา จังหวัดชายแดนใต้ 4.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 5.ปัญหาสิ่งแวดล้อม และ PM 2.5 6.เรื่องเศรษฐกิจ ปากท้อง และ SME และ 7.เรื่องการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยคณะทำงานทั้ง 7 คณะข้างต้น จะประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญของแต่ละพรรคเข้ามาเป็นคณะทำงาน เพื่อหารือและแก้ไขปัญหาต่างๆ หลังจากนั้นจะมีการแจ้งแก่คณะกรรมการประสานงานฯต่อไป
หลังจากนั้น นายพิธา ตอบคำถามสื่อมวลชนว่า การตั้งคณะกรรมการประสานงานฯ และคณะทำงานข้างต้น เป็นทางออกของทุกพรรคในการแก้ไขปัญหาของประเทศ เพื่อกลั่นกรองเป็นนโยบายร่วมกันในการแถลงต่อรัฐสภา และนำไปปฏิบัติในฐานะฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติต่อไป “ยืนยันว่าการทำงานเป็นไปด้วยดี เราจะสามัคคีกัน เพื่อที่จะตั้งใจทำงาน ในการแก้ไขปัญหาของประชาชนให้มากสุดเท่าที่เป็นไปได้” นายพิธา กล่าว
เมื่อถามถึงสัดส่วนการจัดสรรตำแหน่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายพิธา กล่าวว่า การจัดสรรตำแหน่งฝ่ายบริหาร จะเกิดขึ้นหลังทำงานร่วมกัน โดยยึดการทำงานเพื่อประชาชนเป็นตัวตั้ง ส่วนตำแหน่งประธานสภาฯ ก้าวไกล และ เพื่อไทย จะพิจารณาร่วมกัน เรื่องนี้ไม่เป็นอุปสรรคในการจัดตั้งรัฐบาล พวกเราพูดคุยในจุดประสงค์เดียวกันว่า สิ่งสำคัญคือการเตรียมพร้อมบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อประชาชน ขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีการประกาศผลคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการแล้ว เหลือเพียงรับรอง ส.ส.อย่างเป็นทางการ เมื่อสามารถเปิดประชุมสภาฯ ได้ หวังว่า กกต.จะใช้เวลาไม่นาน ในการรับรอง ส.ส.ทำให้ความสามารถในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ เกิดขึ้นได้โดยเร็ว ทำให้พวกเราบริหาร ผลักดันวาระต่าง ๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนชาวไทยต่อไป
สำหรับการกำหนดวาระว่า คณะทำงาน 7 คณะ ตั้งตาม MOU 23 ข้อ เราสามารถหาจุดวาระร่วมของพวกเรา 8 พรรคได้แล้ว ตาม MOU ดังนั้นคณะกรรมการประสานงานฯ จะดูตาม MOU จำนวน 23 ข้อ โดยวันนี้ตั้งแล้ว 7 คณะทำงานฯ และอาทิตย์หน้าคาดว่าจะมีการตั้งคณะทำงานฯให้ได้ 8 – 9 วาระ และให้มีตัวแทนพรรคที่เชี่ยวชาญมาดำเนินการ ระหว่างรอ กกต.รับรอง ส.ส.ก่อนประชุมเลือกนายกรัฐมนตรีต่อไป โดยการหารือกันระหว่างเพื่อไทย ก้าวไกล ต้องสอดคล้องกับเวลาทางกฎหมาย และเวลา กกต.อย่างที่เรียกร้องไปยังกกต.ว่า ประชาชนต้องการให้การทำงานของรัฐบาลไร้รอยต่อ
เมื่อถามถึงกรอบเวลาในการหารือเรื่องประธานสภาฯ ระหว่างพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย นายพิธา กล่าวว่า เรื่องประธานสภาฯ เป็นการพูดคุยเฉพาะเพื่อไทย และ ก้าวไกล ยืนยันว่าจะทำให้เร็ว และเหมาะสมที่สุด ตามกรอบของกฎหมาย จะบอกว่าเสร็จภายในวันหรือเวลาใดคงไม่เหมาะสม แต่กฎหมายบอกไว้ว่าต้องทำเสร็จเมื่อไหร่ จึงดำเนินการตามนั้น
ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวเสริมนายพิธาถึงประเด็นนี้ว่า ยืนยันตามนายพิธา ว่าที่นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ว่า คณะกรรมการประสานงานฯ มีการหารือเบื้องต้น มีข้อตกลงร่วมกันชัดเจนว่า ตำแหน่งประธานสภาฯทั้ง 2 พรรคจะพิจารณาร่วมกัน ไม่คำนึงว่าเป็นโควตาของพรรคใด พรรคหนึ่ง และจะไม่เกิดเป็นปัญหาอุปสรรคในการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันทั้ง 8 พรรค ไม่ว่าก้าวไกล หรื อเพื่อไทย ไม่เป็นประเด็นให้เกิดความขัดแย้ง
“ตำแหน่งประธานสภาฯ ไม่เป็นอุปสรรคต่อการจัดตั้งรัฐบาล และเลือกนายกฯ โดยจะมุ่งเน้นประโยชน์สุขต่อประชาชน ที่มุ่งหวังรัฐบาลประชาธิปไตย และทำให้เร็วที่สุด หมายความว่า ถ้า กกต.ประกาศรับรอง ส.ส. จะมีข้อยุติตรงนั้น เตรียมเข้าสู่การเลือกที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร” นพ.ชลน่าน กล่าว
เมื่อถามถึงกรณีการเจรจากับ ส.ว.เพื่อหาเสียงโหวตนายพิธาเป็นนายกฯนั้น นายพิธา กล่าวว่า เห็นแต่พาดหัว ยังไม่เห็นรายละเอียดว่าเกิดอะไร แต่ของเรามั่นใจว่า ไม่ได้มีการข่มขู่แต่อย่างใดแน่นอน เป็นการพูดคุยกัน เพื่อรักษาระบบของประเทศนี้ให้ได้ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นการรักษาระบบของรัฐสภา หาทางออกบ้านเมือง ยืนยันว่าไม่มีอะไร ที่ผ่านมาคณะเจรจามีการพูดคุย เป็นไปทิศทางที่ดี
“ยืนยันว่าที่ผ่านมา ไม่มีความสั่นคลอนอะไร แต่สิ่งที่ทำน้อยไป และเพิ่งทำวันนี้ คือเอาปัญหาประชาชนเป็นที่ตั้ง เชื่อว่าสื่อเห็นด้วย และให้ความร่วมมือ ถ้ามีคำตอบดีๆ มันน่าจะเป็นการเสนอข่าวสื่อสร้างสรรค์” นายพิธา กล่าว
ขณะที่ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวว่า วันนี้เวลา และความหวังของประชาชนใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ตนอยากให้ทุกฝ่ายช่วยกันให้เวลา และความหวังของประชาชน สำเร็จด้วยความเรียบร้อยตามเจตนารมณ์ของประชาชนที่แท้จริงในการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่อยากให้มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปทำเรื่องนี้ให้ประชาชนผิดหวัง ตนอยากให้ทุกคนมองเห็นว่า ความหวังของประชาชนเป็นสิ่งที่มีพลัง ถ้าเราไม่สนใจเรื่องนี้แล้วผลักความหวังของประชาชนออกไป พลังประชาชนจะมากเพียงพอที่อาจทำให้อะไรเกิดขึ้นก็ได้
“ขอให้ กกต.เร่งรับรอง ส.ส.เพื่อให้เกิดการนับหนึ่งในกระบวนการเลือกประธานสภาฯ และ นายกฯ โดยเร็วที่สุด ผมไม่ได้กดดัน กกต.แต่ กกต.ต้องทำหน้าที่ของตัวเองโดยไม่ล่าช้า ถ้า กกต.ไม่รับรอง ส.ส. ทุกอย่างก็นับหนึ่งไม่ได้ ความเชื่อมั่นในการลงทุน และความเชื่อมั่นจากต่างประเทศก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้” หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าว.