เกมยากของ “พิธา” เมื่อเจอกับด่านความมั่นคงสูง จะค้ำถ่อพ้นไปหรือเปล่า

ก้าวไกล-พิธา ต้องฝ่า 3 ด่าน ที่เป็นปราการใหญ่ในการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

1.จุดยืนในการแก้ประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ว่าด้วยการคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ เปิดทางให้วิจารณ์สถาบันได้มากขึ้น ลดโทษจำคุก-ปรับ ให้สถาบันฟ้องเอง ก้าวไกลมีจุดยืนชัดว่า จะแก้ไข ม.112 แต่พรรคร่วมส่วนใหญ่ไม่เอาด้วย จึงไม่มีข้อตกลงใน mou ก้าวไกลก็ยืนยันจะแก้ผ่านกลไกของสภา

2.การขอแรงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา ที่พรรคก้าวไกลดิ้นรนจะปิดสวิทต์เขามาตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ต้องขอรับการสนับสนุน ผ่านการเจรจา-พูดคุย-แลกเปลี่ยน ไม่ใช่ใช้มวลชนไปกดดันเหมือนที่ผ่านมา เวลานี้สมาชิกวุฒิสภาบางคนท่าทีชัดว่า จะไม่ยกมือสนับสนุน บางคนก็จะยกมือให้ บางคนจะยกมือสนับสนุนอย่างมีเงื่อนไข

3.การถือหุ้นในบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น ไอทีวี ยังประกอบกิจการตามวัตถุประสงค์ในการจดตั้งอยู่ ต้องแยกให้ออกนะครับระหว่าง บริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) กับ สถานีข่าวไอทีวี สถานีข่าวไอทีวี หยุดเผยแพร่ภาพไปแล้ว แต่ บริษัทไอทีวี ยังประกอบกิจการตามวัตถุประสงค์อยู่ มีกำไรด้วย พิธาอ้างว่า เป็นหุ้นในมรดก เขาถือหุ้นในฐานะผู้จัดการมรดก แต่ผู้รู้ก็โต้แย้งว่า ถ้าเป็นหุ้นในกองมรดก ในใบหุ้นต้องสลักหลังชื่อไว้ด้วย “มรดก” แต่ใบหุ้นไอทีวีของพิธา ไม่มีการใส่วงเล็บไว้หลังชื่อ

นี้เป็นปราการ 3 ด่านที่ พิธา จะต้องฟันฝ่าไปให้ได้ ส่วนตำแหน่งประธานสภา จะเป็นของใคร พิธาส่งสัญญาณมาแล้วว่า เป็นเรื่องเล็ก ให้ไปคุยกันในวงคณะทำงาน จะเป็นของก้าวไกล หรือ เพื่อไทยให้จบในวงคณะทำงาน

ด่านต่อไปคือ การจัดสรรตำแหน่งทางการเมืองในฝ่ายบริหาร คือ ตำแหน่งรัฐมนตรี ทีมีการคำนวณออกมาแล้วว่า 8.6 ส.ส.ต่อรัฐมนตรี 1 คน แล้วอย่างนี้แสดงว่าพรรคเล็ก 1-2 เก้าอี้ จะไม่มีตำแหน่งรัฐมนตรี ใช่หรือไม่ หรือมีตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆให้ เป็นประจำสำนักนายกฯ หรือ ไปกินตำแหน่งในสัดส่วนของสภา เป็นตำแหน่งในกรรมาธิการคณะต่างๆ

ด่านต่อไป คือการยกร่างนโยบายรัฐบาลที่จะต้องแถลงต่อสภา ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาล โดยคณะทำงาน จะต้องไปนั่งถกแถลงกันให้ตกผลึก นโยบายของแต่ละพรรคที่จะใส่เข้าไปมีอะไรบ้าง พรรคร่วมฯว่าอย่างไร แล้วเขียนมาเป็นนโยบายรัฐบาล

จะเห็นว่า “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ยังมีอีกหลายด่าน หลายปราการในการก้าวขึ้นเป็นผู้นำประเทศ เพราะการเลือกตั้งที่ผ่านมา ก้าวไกล ไม่ได้ชนะขาดพรรคเดียวจัดตั้งรัฐบาลได้ ต้องอาศัยแรงจากพรรคอื่นๆด้วย และแรงจากพรรคอื่นกลับเป็นพรรคเพื่อไทย ที่มีเสียงรองเป็นอันดับสอง จึงทำให้พรรคเพื่อไทย มีอำนาจต่อรองสูงมาก ยิ่งสูงมากขึ้น เมื่อพรรคภูมิใจไทย ประกาศชัดไม่ร่วมกับพรรคก้าวไกล

ส่วนพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ ชัดเจนตั้งแต่ต้น เพราะพรรคก้าวไกลประกาศเอง “มีลุงไม่มีเรา มีเราไม่มีลุง” เท่ากับปปฏิเสธสองพรรคนี้ตั้งแต่ก่อนลงคะแนนเลือกตั้งแล้ว

พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ต้องพูดถึง 25 เสียง เป็นแค่ตัวแปรเล็กๆ ที่แทบจะไม่มีความหมายอะไรมากนัก เว้นแต่นักแสวงหาบางคน อาจจะดิ้นรนนำพาไปสู่การแสวงหาอำนาจ แต่ก็ยากจำสำเร็จ เว้นแต่ดีลระหว่างพรรคก้าวไกลกับเพื่อไทยเดินต่อไปไม่ได้ พรรคประชาธิปัตย์ ค่อยมาพูดกัน เช่นเดียวกับพรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีเวลา 60 วันในการรับรองผลการเลือกตั้ง ถ้ารับรองได้ครบ 95% ก็สามารถเปิดประชุมสภา เลือกประธานสภาได้ ส่วนใน 60 วันจะพิจารณา และรับรองผลการเลือกตั้งได้แค่ไหน ขึ้นอยู่กับข้อร้องเรียนในการทำผิดกฎหมายของผู้สมัครที่มีคะแนนนำมาอันดับ 1 รวมถึงความยุ่งยากในการสืบสวนสอบสวน พยานหลักฐานในการร้องเรียน จะมี “ใบแดง-ใบเหลือง-ใบส้ม” กี่มากน้อย

หากเป็น “ใบส้ม-ใบเหลือง” คณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องจัดเลือกตั้งใหม่ โดยใช้ผู้สมัครคนเดิม ไม่ต้องเปิดสมัครใหม่ แต่คนที่โดนใบส้มจะหมดสิทธิ์ลงสมัคร ส่วนใบเหลือง ก็ไม่ต้องเปิดรับสมัครใหม่เช่นกัน แต่ผู้สมัครที่โดนใบเหลือง ยังมีสิทธ์เป็นผู้สมัครอยู่

ส่วนใบแดง เป็นการตัดสิทธิ์ของผู้สมัครที่ทำผิดกฎหมาย ผ่านการพิจารณาตัดสินของศาล ถ้าเขตเลือกตั้งใด ได้ใบแดง กกต.ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยเปิดรับสมัครใหม่ และคนเก่าที่ได้ใบแดง จะหมดสิทธิ์ลงสมัคร

เวลานี้การพิจารณาข้อร้องเรียนต่างๆอยู่ในขั้นการสอบสวนของชุดสอบสวนของ กกต.จังหวัด จะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับข้อร้องเรียนมีมากน้อยแค่ไหน พยานหลักฐานเป็นอย่างไร ข้อร้องเรียนยุ่งยากซับซ้อนหรือไม่ และ 60 วันจะทันต่อการรับรองให้ครบ 95% หรือไม่

ถึงเวลานี้ยังไม่มีอะไรแพลมออกมาจาก กกต.ถึงข้อร้องเรียน ผลการพิจารณา แต่เป็นที่เข้าใจได้ว่ามีข้อร้องเรียนมาก เช่น จัดเลี้ยง สัญญาว่าจะให้ ซื้อเสียง ทุจริตการเลือกตั้ง เหล่านี้ เป็นต้น

สำหรับคอการเมืองที่ติดตามอย่างกระชั้นชิดในช่วงนี้ ต้องกระพริบตา ตามเกมเปลี่ยน ให้ทันนะครับ

#นายหัวไทร