รู้จัก “ฟูอาดี้” ทายาท “พิศสุวรรณ” คีย์แมน ประสานก้าวไกลพบต่างชาติ

เปิดประวัติ “ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ” ทายาทคนโต “ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตเลขาธิการอาเซียน หลังปรากฏตัวร่วมเฟรม “พรรคก้าวไกล” พบ “World Economic Forum” ในฐานะ “Keyman” คนสำคัญ-หนึ่งในทีมต่างประเทศพรรคก้าวไกล

“ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ” ถูกจับตามองในฐานะทายาทคนโตของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตเลขาธิการอาเซียน รวมทั้งยังเป็นนักวิชาการที่คร่ำหวอดในการศึกษาการต่างประเทศมายาวนาน
ฟูอาดี้ ปรากฏตัวร่วมกับ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และ พริษฐ์ วัชรสินธุ กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงจาก “World Economic Forum” หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ในอนาคต ฟูอาดี้จะ “ข้ามขั้ว” ร่วมงานกับก้าวไกลตามรอย “พริษฐ์” หรือไม่
ฟูอาดี้มองว่า ตอนนี้ “พรรคก้าวไกล” เป็นพรรคการเมืองที่ตรงกับความต้องการของตนมากที่สุด และพิธาได้เปิดเผยเพิ่มเติมแล้วว่า ฟูอาดี้คือหนึ่งในทีมต่างประเทศของรัฐบาลก้าวไกลชื่อของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงการเมืองไทย เป็นนักการเมืองที่เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาแล้วมากมาย อาทิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราชติดต่อกันยาวนาน 8 สมัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย และได้รับการรับรองจากชาติสมาชิกในอาเซียนให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียน โดยเป็นคนไทยคนแรกที่ได้เข้ารับตำแหน่งดังกล่าว

หลังจาก ดร.สุรินทร์ ถึงแก่กรรมในวัย 68 ปี นามสกุลพิศสุวรรณที่เข้ามาโลดแล่นบนถนนสายการเมืองอีกครั้ง มีทั้ง ฮูวัยดีย๊ะ พิศสุวรรณ อุเซ็ง น้องสาวของดร.สุรินทร์ ร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐในฐานะทีมนโยบายเศรษฐกิจภาคใต้ รวมถึง ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ ที่เคยเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และถูกจับตามองในฐานะทายาทของแกนนำคนสำคัญ

พาไปรู้จัก ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ ทายาทดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ที่กำลังถูกจับตามองว่า หลังจากนี้ เขาจะมุ่งหน้าสู่ถนนสายการเมืองอีกครั้งหรือไม่ หลังครองบทบาทนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ และกำลังจะเข้ารับการบรรจุเป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ: จาก “เลือดใหม่” ประชาธิปัตย์ สู่การแก้รัฐธรรมนูญ-รื้อระบอบประยุทธ์

ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ มีชื่อเต็มเป็นภาษาอาหรับว่า ฟูอาดี้ บิน อับดุล ฮาลีม พิศสุวรรณ บุตรชายคนโตของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ คลุกคลีอยู่ในวงวิชาการมานานหลายสิบปี จบปริญญาตรี สาขาการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ วอชิงตัน ดี.ซี. (Georgetown University in Washington DC)ด้วยความสนใจทางการทหาร หลังจบปริญญาตรี ฟูอาดี้เริ่มทำงานที่ “Cohen Group” บริษัทที่ปรึกษาด้านการทหารของอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในรัฐบาล บิล คลินตัน เป็นเวลา 3 ปี จากนั้น จึงกลับไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ด้านนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) และปัจจุบัน กำลังศึกษาในระดับปริญญาเอก ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Oxford University)

ในระหว่างที่กำลังศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ฟูอาดี้ได้มาประจำที่สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะ “Predoctoral Fellowship” คือ ในช่วง 2-3 ปีสุดท้าย นักศึกษาป.เอกต้องมาประจำการในมหาวิทยาลัยก่อนจบการศึกษา

นอกจากการทำงานทางความคิด ฟูอาดี้ยังได้ร่วมก่อตั้ง “Beanspire Coffee” จากความสนใจด้านกาแฟ เขามองว่า กาแฟเปรียบเสมือนกับ “น้ำมันทางความคิด” ของเหล่านักคิดนักเขียน เขาเริ่มทำงานกับชาวสวนกาแฟบนดอยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดเชียงราย โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาและส่งออกเมล็ดกาแฟ

แม้ในช่วงแรกเขาจะเข้าสู่ถนนสายการเมืองตามรอยผู้พ่อด้วยการสังกัดสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ตรงกับช่วงเวลาที่พรรคก่อตั้งกลุ่ม “New Dem” ขึ้น หวังใช้เป็นแกนหลักในการ “ถ่ายเลือด” เข้าสู่ศักราชใหม่ แต่ท้ายที่สุด “New Dem” ก็ถึงคราวปิดฉากลง เมื่อ “เลือดใหม่” และ “เลือดเก่า” คิดเห็นสวนทางกัน หลังจากพรรคประชาธิปัตย์มีมติยกมือโหวตให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกสมัย เป็นอันสิ้นสุดบทบาทของกลุ่มคนรุ่นใหม่ประชาธิปัตย์ รวมถึงฟูอาดี้ก็ตัดสินใจลาออกจากบทบาทสมาชิกพรรคด้วยหลังจากนั้น ฟูอาดี้เริ่มต้นบทบาททางการเมืองอีกครั้งร่วมกับ “ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ” เพื่อผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ในนามของกลุ่ม “Re-solution” ภายใต้แคมเปญ “ขอคนละชื่อ รื้อระบอบประยุทธ์” รัฐธรรมนูญที่เป็นผลพวงจากคสช. โดยมีใจความสำคัญ คือ ล้ม ส.ว. โละศาลรัฐธรรมนูญ เลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และล้างมรดกรัฐประหาร

แม้ว่าท้ายที่สุด ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวจะถูกตีตก รัฐสภาไม่เห็นชอบรับหลักการในวาระแรก แต่ชื่อของแกนนำกลุ่ม “Re-solution” ก็ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวาง ซึ่งนอกจากพริษฐ์และฟูอาดี้แล้ว ยังมี ชลธิชา แจ้งเร็ว และ ธิษะณา ชุณหะวัณ ที่ปัจจุบันขึ้นแท่นว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตในนามพรรคก้าวไกลทั้งสองคน

มุมมองการเมืองไทยกับการเลือกตั้ง 2566 ของทายาทพิศสุวรรณ

ฟูอาดี้แสดงความเห็นกับ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ในรายการช่องยูทูบ “PAVIN” ไว้ว่า ปี 2566 เป็นการเลือกตั้งที่น่าตื่นเต้นมาก เพราะเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี หลังจากประเทศอยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาลประยุทธ์ ที่ประชาชนสามารถกำหนดความต้องการของตัวเองได้ ขณะเดียวกันกฎหมายที่บิดเบี้ยวอย่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ ส.ว. มีอำนาจในการเลือกนายกฯ ก็ยังคงอยู่ เราจึงเห็นความดุเดือดการดีเบตของแคนดิเดต และตัวแทนจากพรรคการเมืองในการเลือกตั้งครั้งนี้มากกว่าครั้งก่อนๆ อย่างมีนัยสำคัญฟูอาดี้มองว่า หลังจากนี้ ผู้มีอำนาจในประเทศต้องเคารพ “ครรลองประชาธิปไตย” ไม่ควรเล่นนอกกฎเกณฑ์เหมือนที่ผ่านมา แต่ที่ผ่านมา ไทยมักใช้วิธีการ “Shortcut” ซึ่งเป็นสิ่งที่ “Undemocratic” หรือไม่มีความเป็นประชาธิปไตย เป็นวิธีการที่ไม่ยั่งยืนและปัญหาก็ยังคงอยู่ ประชาธิปไตยไม่ใช่เกม แต่เป็นกฎที่ทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ หากครั้งนี้พ่ายแพ้ก็ต้องรออีก 4 ปี ตามระบบ เพื่อเข้าสู่การเลือกตั้งครั้งถัดไป

ฟูอาดี้ในถนนสายการเมืองที่ชื่อ “ก้าวไกล”

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ในการแถลงลงนามเอ็มโอยู (MOU) เพื่อการจัดตั้งรัฐบาล พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เปิดเผยบนเวทีว่า ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ จะเป็นหนึ่งในทีมต่างประเทศของรัฐบาลก้าวไกล โดยเบื้องต้นได้มอบหมายให้ฟูอาดี้ศึกษารายงานจากองค์การสหประชาชาติ (UN) ว่าด้วยเรื่องของอันดับการส่งออกอาวุธให้พม่า ซึ่งไทยติดโผ “Top 5” ด้วย

ฟูอาดี้เป็นหนึ่งในนักวิชาการ-ทายาทนักการเมืองที่ถูกจับตามอง และได้รับการทาบทามจากพรรคการเมืองหลายพรรค ด้วยประสบการณ์การทำงานและศึกษาด้านต่างประเทศมาหลายสิบปี มีความสนใจด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ ด้านการทหาร ทำวิจัยระดับปริญญาเอกเรื่องอัตลักษณ์กับความสัมพันธ์ทางการทหาร จึงเป็นที่มาของการศึกษารายงานเบื้องต้นในขณะนี้

ก่อนหน้านี้ ฟูอาดี้เปิดเผยอย่างชัดเจนว่า พรรคก้าวไกลเป็นพรรคการเมืองที่ตอบโจทย์ตนเองมากที่สุด แต่หากถามว่า ในอนาคตจะเข้าสู่ถนนสายการเมืองในบทบาทนักการเมืองเต็มตัวหรือไม่ เขาบอกว่า ตนยังมีความฝันหลายอย่างที่ตั้งเป้าไว้และยังทำไม่สำเร็จ อาทิ พัฒนาและส่งออกเมล็ดกาแฟไทยไปต่างแดน สร้างมูลนิธิสุรินทร์ พิศสุวรรณ ให้มีเค้าโครงออกมาเป็นรูปธรรม ต่อยอด-ส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ ได้ทั่วทั้งอาเซียน รวมถึงบทบาทนักวิชาการอย่างอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เป็นความฝันมาโดยตลอดด้วย