“ประเสริฐ” เผยร่าง เอ็มโอยูพท.เน้นภาพกว้างแก้เศรษฐกิจ-ความเหลื่อมล้ำ-รายได้ ย้ำยังไม่คุยแบ่งเก้าอี้ รมต.-ประธานสภาฯ ภาคเอกชนขอคนรุ่นใหม่-คนเก่าเก๋าเกมนั่งเก้าอี้ บริหาร 6 กระทรวงเศรษฐกิจที่สำคัญ
วันที่ 21 พ.ค.2566 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการลงเอ็มโอยูของพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลวันพรุ่งนี้ (22 พ.ค.)ว่า เราได้ส่งรายละเอียดในส่วนของพรรค พท. ไปให้พรรคก้าวไกลแล้ว โดยในวันพรุ่งนี้ก่อนที่จะมีการแถลงร่วมกันก็จะมีการนัดหมายเพื่อสรุปอีกครั้ง ซึ่งในเอ็มโอยูนั้น เบื้องต้นเราสนับสนุนให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 และให้พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ส่วนในข้ออื่นๆ ก็จะเป็นการเขียนหลักการในภาพรวม ไม่ได้ลงรายละเอียดลึกมาก เช่น เราจะต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ, ความเหลื่อมล้ำ, รายได้ เป็นต้น มองว่าเอ็มโอยูควรลงรายละเอียดกว้างๆ ไว้ก่อน ส่วนการลงรายละเอียดลึกควรเป็นนโยบายที่จะแถลงต่อรัฐสภา เมื่อถามถึง เรื่องโผเก้าอี้รัฐมนตรี สรุปพรรคร่วมคุยกันอย่างไร นายประเสริฐ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้คุยกัน รวมถึงเรื่องเก้าอี้ประธานสภาฯ ด้วย อย่างไรก็คงต้องมีการพูดคุยกันอีกครั้ง
นายอาคม สุวรรณกันธา รองประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ตามไทม์ไลน์ที่กำหนดในเดือนสิงหาคมหรือไม่นั้น มองว่าหากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าออกไป เศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบเรื่องความเชื่อมั่นสำหรับการค้า การลงทุน เพราะนักลงทุนประเมินเสถียรภาพผู้นำ หรือรัฐบาลที่เกิดขึ้น
ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุน และรอการจัดตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จ อีกทั้งนักลงทุนจะพิจารณาผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงหลัก 6 กระทรวง เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งก็มีผลในการตัดสินใจลงทุน
“ถ้าการรอจัดตั้งรัฐบาลให้ยืดเยื้อมากขึ้น หรือยิ่งจัดตั้งได้ช้ามากเท่าไหร่ โอกาศเรื่องความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจไทย หากการโอนถ่ายรัฐบาลหนึ่งสู่รัฐบาลใหม่ล่าช้ามากกว่าเดิมจะทำให้เศรษฐกิจไทยจะชะลอตัว ซึ่งจะเป็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจ” นายอาคมกล่าว
ขณะเดียวกัน หลังจัดตั้งรัฐบาล และมีการประกาศชัดเจนถึงผู้ที่จะมานั่งดำรงตำแหน่งใน 6 กระทรวงเศรษฐกิจ มองว่าจากการจัดตั้งรัฐบาลผสม ผู้จะมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงดังกล่าวจะเฉลี่ยกันออกไปจากผู้นำของพรรคการเมืองเสียงข้างมาก เนื่องจากคะแนนเสียงของพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย มีคะแนนเสียงสัดส่วนใกล้เคียงกัน
ดังนั้น จะเห็นคนรุ่นใหม่กับคนที่มีประสบการณ์ในด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผสมผสานกัน หากเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ล้วนๆ ก็อาจได้ภาพเกี่ยวข้องกับการเชื่อมั่นระหว่างประเทศ แต่ว่าถ้ามีกลุ่มคนมีประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญจากผลงานเดิมเป็นหัวเรือหลัก หรือเข้าร่วมด้วยจะสร้างความเชื่อมั่นต่างประเทศมากขึ้น
“อย่างไรก็ตาม บางประเด็นของกระทรวงต่างๆ จะมีความละเอียดอ่อน หากต้องต่อรองกับระหว่างประเทศ การตัดสินใจทำนโยบายขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจ อาจจะต้องมีพี่เลี้ยงก่อน ซึ่งการจัดตั้งไม่มีความน่าเป็นห่วง เพราะว่าการตั้งรัฐมนตรีช่วย หรือที่ปรึกษารัฐมนตรี จะเห็นภาพความกลมกลืนและความผสมผสานกัน” นายอาคมกล่าว
นอกจากนี้ หอการค้าภาคเหนือ รวมถึงหอการค้าภาคใต้ใน 17 จังหวัด จะเตรียมประเด็นต่างๆ เสนอเข้าที่ประชุมของหอการค้าไทย ที่จะมีการประชุมในวันที่ 5-6 สิงหาคมนี้ ซึ่งในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่เตรียมไว้แล้ว 3 ประเด็นหลัก อาทิ 1.การส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานหลักที่ถูกแช่แข็งมานาน ทำให้เศรษฐกิจภาคเหนือและเชียงใหม่ไม่ฟื้นตัว
เช่น โครงสร้างพื้นฐานรถไฟความเร็วสูง เรื่องการสร้างสนามบินแห่งที่ 2 และการขนส่งมวลชนในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ที่จะสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่พยายามสร้างระบบขนส่งให้ดีขึ้น โดยจะเร่งผลักดันโครงสร้างพื้นฐานที่จะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดเงินหมุนเวียนมากขึ้น รวมถึงสนับสนุนให้มีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ให้มากขึ้น
2.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor: NEC) โดยภาคเอกชนจะสานต่อและเป็นแกนหลักในการพัฒนา 17 จังหวัด แต่โครงการจะเริ่มพัฒนาที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง ในโครงการ NEC – Creative LANNA ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการค้าชายแดนที่เชื่อมโยงกับประเทศจีน และ 3.กระตุ้นการค้าชายแดน หรือการค้าระหว่างประเทศ เป็นส่วนสำคัญที่นำจุดขาย
และจุดแข็งของภาคเหนือที่มีอยู่ 4 ด้าน หรือเรียกว่า 4C อาทิ 1.แคร์ (Care) หรือบริการสุขภาพผู้สูงอายุ 2.คลีน (Clean) หรือพลังงานสะอาด 3.คอนเน็ก (Connect) หรือการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมให้เกิดขึ้น และ 4.ครีเอทีฟ (Creative) หรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์และเซอร์วิสในด้านต่างๆ ให้ยกระดับคุณภาพดียิ่งขึ้น
“ซึ่งจากการนำเสนอทั้ง 3 ด้านนี้จะสามารถพัฒนาเศรษฐกิจในภาคเหนือให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจให้ดียิ่งขึ้นตามยุทธศาสตร์การดำเนินงานหลักๆ โดยจะผลักดันผ่านการส่งเรื่องถึงหอการค้าไทย และให้เรื่องเข้าถึงคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ระดับประเทศต่อไป” นายอาคม กล่าว