“สังศิต พิริยะรังสรรค์” ประกาศหลักการสนับสนุนรัฐบาลใหม่ ต้องมีนโยบายไม่ให้ประเทศมหาอำนาจมาตั้งฐานทัพในประเทศไทย ไม่ส่งเสริมความรุนแรง ยั่วยุให้เกิดความแตกแยกในชาติ
นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ สมาชิกวุฒิสภา และ อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงการออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีว่าจะพิจารณาจากผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก โดยต้องการดูท่าทีและนโยบายของหัวหน้าพรรคก้าวไกลที่จะเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในสองประเด็นคือ 1. มีความเห็นต่ออธิปไตยไทยอย่างไร 2. มีความเห็นต่อความสงบสุขของคนในประเทศอย่างไร
“ผมยินดีสนับสนุนรัฐบาลที่ไม่ให้ประเทศมหาอำนาจเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทย เพราะมีบางพรรคการเมืองที่กำลังจะจัดตั้งรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนแนวทางนี้ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐฯ มีความพยามเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทย และก่อนการเลือกตั้งมีการเสนอให้สภาผู้แทนสหรัฐฯ เข้ามาแทรกแซงการเมืองไทย รวมทั้งมีการล็อบบี้จากชาติสมาชิกนาโต้ในการจัดตั้งรัฐบาลของไทย”
นอกจากนี้ยินดีสนับสนุนพรรคการเมือง ที่มีนโยบายไม่ส่งเสริมการใช้ความรุนแรงระหว่างประชาชนต่อประชาชน และจะไม่สนับสนุนรัฐบาลที่กระตุ้นหรือปลุกเร้าให้ประชาชนมีพฤติกรรมที่ยั่วยุหรือใช้ความรุนแรงระหว่างกัน เพราะปัจจุบันมีการสร้างแรงยั่วยุเร็วมาก
“ผมไม่สนใจว่าใครจะมีเสียงข้างมากหรือเสียงข้างน้อย แต่จะสนับสนุนนายกรัฐมนตรีตามหลักการที่ตั้งไว้”
นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักการทั้งสองข้อ เป็นหลักการของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ที่รักและหวงแหนอธิปไตยของชาติ และมีความปรารถนาอย่างลึกซึ้งที่จะเห็นสังคมและคนไทยอยู่ร่วมกันอย่างสงบเป็นปกติสุข
ประวัติศาสตร์ระยะใกล้ในช่วงระยะสองปีที่ผ่านมา ได้ให้บทเรียนแก่เราอย่างลึกซึ้งว่า ประเทศที่มีผู้นำและพรรคการเมืองที่ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนในการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น แต่กลับอนุญาตให้ชาติมหาอำนาจเข้าแทรกแซงนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของประเทศได้ จนทำให้ในขณะนี้ประเทศดังกล่าวตกอยู่ในภาวะบ้านแตกสาแหรกขาด บ้านเมืองถูกทำลายย่อยยับ ประชาชน จำนวนมากกลายเป็นผู้ลี้ภัยและประชาชนที่เหลืออยู่ในประเทศไม่สามารถดำเนินชีวิตอย่างเป็นปกติสุขได้อีกต่อไป
ผมใคร่ขอยกคำของหลวงพ่อชา ที่เคยกล่าวเอาไว้ว่า หากมีแมลงวันฝูงหนึ่งกับผึ้งหนึ่งตัวบินมาเจอกองอุจจาระ ฝูงแมลงวันจะบอกว่าหอม ส่วนผึ้งจะบอกว่าเหม็น ดังนั้น การจะวินิจฉัยเรื่องใดเรื่องหนึ่งนั้นจะถือเอาแต่เสียงข้างมากเพียงอย่างเดียวเสมอไปคงไม่ได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องยึดถือหลักธรรมะ ซึ่งก็คือหลักการทั้งสองประการข้างต้นนั่นเอง
สังศิต พิริยะรังสรรค์
ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา
17 พฤษภาคม 2566