“พิธา” ต้องก้าวให้พ้น “หุ้นไอทีวี” ไปก่อน อีกความยุ่งยากในการจัดตั้งรัฐบาล

ผลการเลือกตั้งเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า กระแสพรรคก้าวไกลแรงเกินคาดจริงๆ ส่งผลให้พรรคก้าวไกลได้รับเลือกตั้งมาถึง 152 ที่นั่ง และเป็น 152 ที่นั่งที่มากกว่าพรรคเพื่อไทย ที่ตั้งเป้าว่า จะต้องได้ 310 ที่นั่ง ยิ่งมาดูสนามเลือกตั้งเมืองหลวง พรรคก้าวไกลกวาดไปถึง 32 ที่นั่งจากทั้งหมด 33 ที่นั่ง และ 1 ที่นั่งของเพื่อไทยที่ได้ไปก็ชนะก้าวไกลไปเพียง 4 คะแนนเท่านั้นเอง

ปรากฏการณ์กวาดเรียบไม่ใช่ไม่เคยเกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร อย่างน้อยเราเคยเห็นว่า ปี 2522 พรรคประชากรไทย ของ “สมัคร สุนทรเวช” ที่แยกตัวออกมาจากพรรคประชาธิปัตย์ ก็เคยกวาดมาแล้วเช่นกัน รวมถึงสมัย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ตั้งพรรคพลังธรรม ก็เคยกวาดสนามกรุงเทพฯ เช่นกัน

น่าใจหายสำหรับพรรคเพื่อไทย ที่คาดกันว่าน่าจะได้ไม่น้อยกว่า 15 ที่นั่ง แต่ได้แค่ที่นั่งเดียว คนที่มั่นใจว่าจะชนะ แต่กลับแพ้ และหากทอดสายตาไกลออกไป หลายจังหวัด พรรคก้าวไกลก็กวาดมาไม่น้อย ภูเก็ต ก็ยกจังหวัด สมุทรปราการ ก็ยกจังหวัด ชลบุรีก็ทำเอาบ้านใหญ่สอบตก เช่นเดียวกับระยอง บ้านใหญ่ก็ไม่เหลือ “เขาแรงจริงๆ” แม้จะเทียบไม่ได้กับ สมัยพรรคไทยรักไทย ของ “ทักษิณ ชินวัตร” ที่กวาดไปเกินครึ่งจนจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ แต่ยุคสมัยนี้ก็ถือว่าก้าวไกลแรงจนแซงเพื่อไทยอย่างไม่คาดคิด

แน่นอนว่าตัวเลข 152 เป็นตัวเลขที่มากกว่าทุกพรรคแล้ว และ เป็นตัวเลขที่เป็นความชอบธรรม ที่พรรคก้าวไกลจะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล เป็นพรรค ที่จะต้องทำหน้าที่รวบรวมเสียงให้ได้มากพอในการเป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก เสียงข้างมากเฉพาะในสภาผู้แทนราษฏร จากจำนวน 500 คน ก็ต้องรวบรวมให้ได้เกิน 251 เสียง ซึ่งพิธาก็ประกาศเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล 5 พรรคฝ่ายค้านเดิมไปแล้ว มีเสียง 309 เสียง ประกอบด้วยพรรคก้าวไทย 152 เสียง พรรคเพื่อไทย 141 เสียง พรรคประชาชาติ 9 เสียง พรรคไทยสร้างไทย 6 เสียง และพรรคเสรีรวมไทย 1 เสียง

ประเด็นสำคัญคือ พรรคก้าวไกลจะต้องหาเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภาด้วย หรือไม่ ก็ต้องหาพรรคการเมืองอื่นมาร่วมรัฐบาลเพิ่ม เพราะการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จะต้องโหวตกันในที่ประชุมรัฐสภา 750 เสียง

เรื่องเสียงในสภายังไม่สำคัญเท่ากับเรื่องร้องเรียนต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรณีนายพิธาถือหุ้นอยู่ในบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่ง บริษัทไอทีวี จดแจ้งชัดเจนว่าผลิตสื่อ ซึ่งกฎหมายเลือกตั้งห้ามผู้สมัครเป็นเจ้าของสื่อ การถือหุ้นอยู่ของนายพิธา จึงถือว่าเป็นเจ้าของหรือไม่ เป็นประเด็นที่ กกต.จะต้องดำเนินการ ซึ่งตามขั้นตอนกกต.ก็ต้องสอบสวน และเรียกผู้ถูกร้องมาให้ปากคำด้วย และสุดท้ายคือสรุปสำนวนคำร้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

เรื่องของนายพิธาเมื่อเทียบเคียงกับของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ถือหุ้นใน บริษัทดีลักซ์ จำกัด ซึ่งประกอบกิจการสื่อเช่นกัน และศาลตัดสินตัดสิทธิ์ทางการเมืองไปแล้ว ธนาธรก็ต้องพ้นจาก ส.ส. รวมถึงความผิดพลาดอื่นๆจนนำมาสู่การยุบพรรคอนาคตใหม่มาแล้ว

รวมถึงเรื่องร้องเรียนต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) กรณีแจ้งบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ เมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่ง ส.ส.หลังการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่ง พิธา ไม่ได้แจ้งทรัพย์สินในส่วนของการถือหุ้นไอทีวี เรื่องนี้รอ ปปช.สอบสวนอยู่เช่นกัน

แม้พิธาจะออกมาแสดงอาการไม่สะทกสะท้านต่อการถือครองหุ้นไอทีวี โดยให้เหตุผลว่า เป็นการถือหุ้นในฐานะผู้จัดการมรดก ซึ่งมีคนออกมาโต้แย้งว่า ถ้าหุ้นในกองมรดก ใบหุ้นจะต้องมีสลักหลังไว้ด้วยว่า “หุ้นกองมรดก” แต่เท่าที่ทราบหุ้นของพิธา ในใบหุ้นไม่ได้สลักหลังไว้ ซึ่งทั้ง ปปช.และ กกต.ก็ต้องสอบสวนให้ได้ความว่า พิธามีส่วนได้เสียต่อหุ้นไอทีวีหรือไม่ ถ้ามีส่วนได้เสียพิธาก็อาจจะเดินตามรอยธนาธรก็เป็นได้ เว้นแต่ว่าพิธาจะอธิบายเหตุผลต่อกรรมการสอบสวนให้เชื่อได้ว่าไม่มีส่วนได้เสีย และ ต่ออธิบายกับ ปปช.ด้วยว่า ทำไมไม่แจ้งทรัพย์สินส่วนนี้ต่อ ปปช.

กรณีการถือหุ้นไอทีวีของนายพิธา เป็นเรื่องน่าติดตามว่า กกต.จะว่าอย่างไร ปปช.จะวินิจฉัยออกมาแนวไหน และศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไร เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวโยงกับอนาคตของประเทศชาติ ที่กำลังก้าวเดินไปสู่การเปลี่ยนแปลงในมือของคนรุ่นใหม่ ที่ได้รับฉันทามติจากประชาชนผ่านการเลือกตั้งไปแล้ว

ทั้งหมดนี้นำมาสู่ความยุ่งยากในการดำเนินการทางการเมืองต่อไปในนามพรรคก้าวไกล และน่าจะก่อให้เกิดความยุ่งยากในการจัดตั้งรัฐบาลด้วย

#นายหัวไทร