อมธ. ร่อนแถลงการณ์ ขอพรรคการเมือง และ 250 ส.ว. เคารพเสียงประชาชน

องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ทุกพรรคการเมือง และ วุฒิสภาทั้ง 250 คน เคารพเจตนารมณ์ของประชาชน ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

วันที่​ 16​ พ.ค.2566-ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2566​ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกแถลงการณ์ร่วมขององค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะกรรมการนักศึกษา 24 คณะ/หลักสูตร โดยระบุว่า“ขอให้ทุกพรรคการเมือง และวุฒิสภาทั้ง 250 คน เคารพเจตนารมณ์ของประชาชน และปฏิบัติตามที่ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้กับประชาชน เราหวังว่าจะได้เห็นรัฐบาลใหม่ที่สง่างาม มีที่มาอย่างถูกต้อง”

ทั้งนี้ในเนื้อหาของแถลงการณ์ร่วม องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะกรรมการนักศึกษา 24 คณะ/สถาบัน/วิทยาลัย/หลักสูตร เรื่อง ขอให้พรรคการเมืองและวุฒิสภา 250 คน จัดตั้งรัฐบาลโดยเคารพเจตนารมณ์ของประชาชน มีใจความว่า

“การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 นับเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 2 ภายใต้การบังคับใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปีพุทธศักราช 2560 และเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 2 ภายหลังการรัฐประหารในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2557 ผ่านพ้นมาแล้วเป็นเวลาเกือบทศวรรษ แต่ประเทศไทยยังคงมีมรดกของการก่ออาชญากรรมรัฐประหาร หลงเหลืออยู่กับระบอบประชาธิปไตย ทั้งการมีอยู่ของสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 250 คน และการควบคุม แทรกแซงองค์กรอิสระ รวมไปถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งหมดนี้ยังคงสร้างปัญหาให้การเมืองไทยในรอบหลายปีที่ผ่านมา ที่ทำให้ประเทศไทยเต็มไปด้วยความวุ่นวาย และไม่สามารถทำให้ประชาชนมองเห็นความหวังที่จะใช้ชีวิตต่อไปในประเทศแห่งนี้

การเลือกตั้งจึงนับว่าเป็นเครื่องมือแห่งความหวังเพียงอย่างเดียวในเวลานี้ที่ทุกคนต่างก็ให้การยอมรับ แม้ระหว่างทางจะเต็มไปด้วยอุปสรรคมากมาย โดยเฉพาะการทำงานที่ไม่เป็นมืออาชีพของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่เราต่างก็เข้าคูหากันด้วยความหวังที่ว่า เสียงของเราจะสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ได้

สุดท้ายนี้ เมื่อการเลือกตั้งได้สิ้นสุดลงแล้ว พวกเราหวังว่านักการเมือง และพรรคการเมืองจะปฏิบัติตนตามที่ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้กับประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดตั้งรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ ขอให้ท่านยึดมั่นเจตนารมณ์ ฟังเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย

พวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเห็นสมาชิกวุฒิสภาที่เคารพมติของประชาชน และเชื่อเช่นกันว่าจะได้เห็นรัฐบาลชุดใหม่ที่สง่างาม มีที่มาอย่างถูกต้อง ไม่ฝืนธรรมชาติหรือใช้กลไกพิสดารเพียงเพื่อให้ตนเองได้ดำรงตำแหน่งต่อไป

เรื่องราวเหล่านี้ควรยุติลง และเริ่มกระบวนการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยให้อำนาจหวนคืนสู่ประชาชนอย่างแท้จริง”