“ปทุมธานี” ต้องพึ่งพาตัวเองได้ หมดยุคทำงานไกลบ้าน ! “อนุทิน” หาเสียง “เมืองดอกบัว” สัญญา หาก “สจ.หนึ่ง” เข้าสภา พร้อมหนุนสร้างโมโนเรล อำนวยความสะดวกให้ประชาชน
วันที่ 11 พฤษภาคม 2566 ที่ลานอเนกประสงค์ หมู่บ้านไวท์เฮาส์ (คลองหลวง 17) ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะบริหาร และ แกนนำพรรค อาทิ นายศุภชัย ใจสมุทร นายทะเบียนพรรค และผู้สมัครแบบบัญชารายชื่อ ได้เดินทางลงะพื้นที่ขึ้นเวทีปราศรัย ช่วย นางสาวณัฐธิดา เกียรติพัฒนาชัย หรือ “สจ.หนึ่ง” หาเสียง ท่ามกลางประชาชน ที่มารับฟังกว่า 2 พันคน
นายอนุทิน กล่าวว่า จังหวัดปทุมธานี เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพ และพร้อมที่จะเจริญไปข้างหน้า เพียงแต่ต้องการคนทำงานเป็นมาช่วยผลักดัน และถ้าพูดถึงการทำงาน คนของพรรคภูมิใจไทยไม่เป็นรองใคร วันนี้ จะเห็นว่าปทุมธานี กำลังค่อยๆ กลายเป็นเมืองท่องเที่ยว เพราะมีวัดวาอาราม และสถานที่ ที่มีความสวยงามตามธรรมชาติ ส่วนตัว เมื่อมาที่นี่ ต้องไหว้พระ แต่รอบหน้า คิดว่ามาหลังวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ และนอกจากไหว้พระ ก็ต้องไหว้ขอบคุณพี่น้องประชาชน เพราะท่านได้เลือก ส.ส.ปทุมธานี ของพรรคภูมิใจไทยเข้าสภา และหนึ่งในนั้น จะต้องมีชื่อ สจ.หนึ่ง ซึ่งเป็นคนเก่ง ทำงานรับใช้พื้นที่ พี่น้องประชาชนยอมรับ“ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี ท่านมีวันนี้เพราะพี่ให้ กับ พรรคภูมิใจไทย เราก็มีวันนี้ เรามีคนดีๆ อย่าง สจ.หนึ่ง ก็เพราะ บิ๊กแจ๊ส ให้ กับบิ๊กแจ๊ส ท่านบอกว่า ถ้า สจ.หนึ่ง เข้าสภา จะต้องช่วยกันทำโมโนเรล อำนวยความสะดวกพี่น้องชาวปทุมธานี ผมให้คำมั่น ถ้า สจ.เข้าสภา เรื่องโมโนเรลพรรคภูมิใจไทย ดันเต็มที่ ไม่มีคำว่าลืม สจ.หนึ่ง ถ้าได้เข้าไป ต้องบอกว่าครบเครื่องเรื่องทำงาน เพราะตัวเองก็ทำงานเก่ง แล้วยังประสานกับท้องถิ่นได้ กับส่วนกลาง กับรัฐบาลได้ คุณสมบัติแบบนี้ หาไม่ได้ง่ายๆ เลือกเข้าไปไม่มีคำว่าผิดหวัง”
นายอนุทิน กล่าวต่อถึงนโยบายของพรรค ทั้ง การพักหนี้ 3 ปี หยุดต้น ปลอดดอกเบี้ย วงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท กรมธรรม์ผู้สูงวัย 60 ปีขึ้นไป เงินกู้ฉุกเฉิน 50,000 บาท งบพัฒนาการท่องเที่ยว จังหวัดละ 100 ล้านบาท และโครงการแลนด์บริดจ์ พัฒนาโครงสร้างอุตสาหกรรมไทย
“กับชาวปทุมธานี ที่ผ่านมา พี่น้องหลายต่อหลายคน เกิดที่นี่ แต่ต้องลำบากไปทำงานที่อื่น ไกลบ้าน ลำบากค่าใช้จ่าย ผมคิดว่า เราต้องมาช่วยกันสร้างงาน สร้างอาชีพให้เกิดขึ้นที่นี่ อย่างที่บอกว่า ในจังหวัดมีศักยภาพทั้งในเรื่องของอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว มันต้องไปขยายขีดความสามารถตรงนั้น สู่การจ้างงานที่มากขึ้น ต้องอาศัยคนมีฝีมือ และพรรคภูมิใจไทย เชื่อว่า เราจะผลักดันให้สำเร็จได้ แต่ต้องขอแรงพ่อแม่พี่น้องเลือกภูมิใจไทยเข้าไปมากๆ ยกจังหวัดยิ่งดี เพื่อการทำงานแบบไร้รอยต่อ” จากนั้น นายอนุทิน ได้กล่าวถึงจุดแข็งของพรรคในเชิงการเมืองระบุว่า เป็นพรรคที่มุ่งทำงาน และไม่สร้างความขัดแย้ง เชื่อมั่นว่า จะเป็นพรรคที่สามารถพาคนไทย ออกจากปัญหาขั้วการเมืองได้สำหรับผู้สมัครของพรรคภูมิใจไทย ในเขตพื้นที่ปทุมธานี ได้แก่ เขตเลือกตั้งที่ 1 : อำเภอลาดหลุมแก้ว, อำเภอสามโคก และอำเภอเมืองปทุมธานี (เฉพาะตำบลบ้านฉาง ตำบลบางหลวง และตำบลบางเดื่อ) นายนพพร ขาวขำ พรรคภูมิใจไทย เบอร์ 8, เขตเลือกตั้งที่ 2 : อำเภอเมืองปทุมธานี (ยกเว้นตำบลบ้านฉาง ตำบลบางหลวง ตำบลบางเดื่อ และตำบลสวนพริกไทย) พลตำรวจตรีวัฒนา วงศ์จันทร์ พรรคภูมิใจไทย เบอร์ 7, เขตเลือกตั้งที่ 3 : อำเภอคลองหลวง (เฉพาะตำบลคลองสาม ตำบลคลองสอง (ในเขตเทศบาลเมืองท่าโขลง) และตำบลคลองหนึ่ง (ในเขตเทศบาลเมืองท่าโขลง) นายอนาวิล รัตนสถาพร พรรคภูมิใจไทย เบอร์ 6, เขตเลือกตั้งที่ 4 : อำเภอเมืองปทุมธานี (เฉพาะตำบลสวนพริกไทย), อำเภอธัญบุรี (เฉพาะตำบลประชาธิปัตย์) และอำเภอคลองหลวง [เฉพาะตำบลคลองหนึ่ง (ในเขตเทศบาลเมืองคลองหลวง) และตำบลคลองสอง (ในเขตเทศบาลเมืองคลองหลวง) นางสาวณัฐธิดา เกียรติพัฒนาชัย พรรคภูมิใจไทย เบอร์ 8, เขตเลือกตั้งที่ 5 : อำเภอธัญบุรี (เฉพาะตำบลลำผักกูด ตำบลรังสิต และตำบลบึงยี่โถ), อำเภอคลองหลวง (เฉพาะตำบลคลองสี่ ตำบลคลองห้า ตำบลคลองหก และตำบลคลองเจ็ด) และอำเภอหนองเสือ (เฉพาะตำบลบึงชำอ้อ ตำบลบึงกาสาม และตำบลนพรัตน์) นายพิษณุ พลธี พรรคภูมิใจไทย เบอร์ 9, เขตเลือกตั้งที่ 6 : อำเภอลำลูกกา (เฉพาะตำบลคูคตและตำบลลาดสวาย) นายเอกชัย ศรีสุขชยะกุล พรรคภูมิใจไทย เบอร์ 7, เขตเลือกตั้งที่ 7 : อำเภอลำลูกกา (ยกเว้นตำบลคูคตและตำบลลาดสวาย), อำเภอธัญบุรี (เฉพาะตำบลบึงสนั่นและตำบลบึงน้ำรักษ์) และอำเภอหนองเสือ (ยกเว้นตำบลบึงชำอ้อ ตำบลบึงกาสาม และตำบลนพรัตน์) นางสาวพรพิมล ธรรมสาร พรรคภูมิใจไทย เบอร์ 2