คลี่งบการเงิน 3 การไฟฟ้ากำไรท่วม 6 หมื่นล้าน! สุดอึ้ง! กฟผ.ขนาดถูกบอนไซ ยังกำไรทะลักล้น 5 ปี 2 แสนล้าน บทสะท้อนความจริง…ใครกัน “ปล้นสะดม-ทำนาบนหลังผู้ใช้ไฟ”???
ยังคงเป็นประเด็นสุดฮอต เป็น Talk of the Town เรื่องของค่าไฟฟ้าที่ “แพงในสามโลก” ที่กำลังเป็นเผือกร้อนของรัฐบาลอยู่ในเวลานี้ หลากหลายพรรคการเมืองที่กำลังเดินหน้าหาเสียงในโค้งสุดท้ายต่างฉวยโอกาสหยิบยกเอามาเป็นนโยบายหาเสียงหลักของพรรคกันให้ละลานตา
บ้างก็ประกาศกร้าวจะรื้อโครงสร้างค่าไฟฟ้า รื้อสัญญารับซื้อสัญญาจัดหาไฟฟ้าจากเอกชนเสือนอนกินทั้งหลาย บ้างก็ประกาศนโยบายประชานิยมสุดลิ่ม จะปรับลดค่าไฟฟ้าครัวเรือนให้เหลือแค่ยูนิตละ 2.50 บาท จะติดตั้งโซลาร์เซลให้บ้านทุกหลัง แม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง อย่างภูมิใจไทย (ภท.) และพลังประชารัฐ (พปชร.) ยังออกโรงโจมตีต้นตอที่ทำให้ค่าไฟแพง เป็นเพราะนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กพช.) ดำเนินนโยบายที่มุ่งเอื้อนายทุนเป็นหลัก หากตนเองเข้ามาเป็นรัฐบาลจะปรับรื้อโครงสร้างค่าไฟฟ้า ลดค่าไฟเหลือ 2.50 บาทให้ดู
ทำเอาพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ถึงกับนั่งไม่ติด ต้องออกมาว้ากเพ้ย ตำหนิพรรคร่วมรัฐบาลที่กำลังชิ่งหนีเผือกร้อนนี้ โดยระบุว่า ไม่ควรจะมาโจมตีกันเองแบบนี้ เพราะก็ร่วมหอจมท้ายอยู่ในรัฐบาลเดียวกันมาโดยตลอด ควรจะไปบอกว่า จะทำอะไรเมื่อตนเองเป็นรัฐบาล “อย่าลืมว่าผมประชุมมาในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผมก็รับฟังความคิดเห็นจากทุกคน ทุกรัฐมนตรี ถือเป็นการทำงานที่บูรณาการร่วมกัน”
ฝั่งหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต่างเรียงหน้าออกมาชี้แจงต้นตอค่าไฟแพงต่อสังคมกันไปคนละทิศ วันก่อนสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ออกโรงชี้แจงกรณีการคำนวณไฟฟ้าสำรอง หรือ Reserve margin ที่ถูกระบุว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชาชนคนไทยต้องถูกโขกค่าไฟแพง เพราะถูกบังคับให้ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าสูงเกินจริง จากไฟฟ้าสำรอง Reserve margin ที่ทะลักล้นไปกว่า 50-60%
ก่อนหน้านี้ ฝ่ายบริหารการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็ออกโรงชี้แจงถึงสัญญาจัดหาไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนทั้ง IPP-SPP ที่ถูกระบุว่าเป็นต้นตอสำคัญที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพง โดยระบุว่า การรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน เป็นไปตามนโยบายภาครัฐ เพื่อลดภาระการลงทุนของภาครัฐ ลดหนี้สาธารณะ และเพิ่มการแข่งขันในกิจการไฟฟ้า ซึ่งภาครัฐเป็นผู้คัดเลือกผู้ผลิตไฟฟ้าฯ ที่มีราคาต่ำสุดในช่วงเวลานั้น ๆ โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และ กพช. ตามลำดับ
ส่วน กฟผ. เป็นเพียงผู้รับซื้อไฟฟ้าตามราคาที่รัฐกำหนด และดำเนินการตามระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าฯ เท่านั้น ขณะที่ “ค่าความพร้อมจ่าย” Availability Payment : AP ที่ถูกระบุว่าเป็นอีกต้นตอที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพง แม้โรงไฟฟ้าเหล่านั้นจะไม่ได้เดินเครื่องก็ยังต้องจ่ายให้เปล่าปรี้นั้น ฝ่ายบริหาร กฟผ.ยืนยันว่า เป็นแนวทางปฏิบัติตามหลักสากลสำหรับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวที่ต้องมีการเดินเครื่อง หรือบำรุงรักษาให้มีความพร้อมอยู่เสมอ และค่า AP ดังกล่าวก็รวมอยู่ในค่าไฟฟ้าฐาน ไม่ได้มีการปรับขึ้นมาตั้งแต่ปีมะโว้ 2558 โน้นแล้ว จึงไม่ได้ส่งผลต่อค่าไฟฟ้าที่ปรับสูงขึ้นอยู่ในปัจจุบันแต่อย่างใด
เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า “ต้นตอ” ค่าไฟฟ้าแพงในสามโลกที่สังคมพากันตั้งข้อกังขากันก่อนหน้า และโยนขี้กันไปที่นโยบายรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชน บอนไซโรงไฟฟ้าของภาครัฐอย่าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.) จนเหลือสัดส่วนผลิตไฟฟ้าอยู่เพียง 34% นั้น เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนอย่างชัดแจ้ง
แล้วอะไรคือต้นตอ หรือสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงในสามโลก???!!!
“กูรูด้านพลังงาน” ได้ให้ข้อมูลเชิกลึกที่ประชาชนคนไทยน่าจะต้องนำไปสังเคราะห์ตรึกตรองกันดู หากทุกฝ่ายจะได้ย้อนรอยไปพิจารณารายงานงบการเงินของ 3 การไฟฟ้า อันได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในรอบปี 65 ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า
3 การไฟฟ้านั้นมี “กำไร” จากการประกอบการในรอบปี 65 รวมกันกว่า 60,000 ล้านบาท โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ มีรายได้ประกอบการ 794,894 ล้านบาท มีกำไร 45,387 ล้านบาท ขณะที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มีรายได้ 593,217 ล้าน มีกำไร 12,465.95 ล้านบาท และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ที่แสดงงบการเงินมาถึงปี 64 มีรายได้ 184,275 ล้านบาท กำไร 4,637 ล้านบาท
อุแม่เจ้า! ขณะที่ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมน้อยใหญ่ และประชาชนคนเดินดินต่างสำลักพิษเศรษฐกิจและไวรัสโควิด-19 เศรษฐกิจไทยแทบจะพับฐานกันเป็นระนาว แต่ 3 การไฟฟ้ากลับหน้าชื่นเฉลิมฉลองรายได้และกำไรประประการที่ “สวนทิศทางเศรษฐกิจ” กันสุดสตรอง!
ยิ่งในส่วนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.) ที่เคยออกโรงเรียกร้องให้สังคมช่วยกันตรวจสอบรัฐบาลและกระทรวงพลังงาน ที่ดำเนินนโยบายเอื้อประโยชน์ต่อเอกชนและกลุ่มทุนพลังงาน จนทำให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ลดเหลือเพียง 34% ของกำลังการผลิตรวมทั้งประเทศเท่านั้น (คงหวังจะ “เคลม” ว่า หาก กฟผ. เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าทั้งระบบดั่งเดิม ประชาชนคนไทยคงจะได้ใช้ไฟ “ถูกเป็นขรี้”)
แต่ในงบดุลและงบการเงินของ กฟผ. ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (2561-65) กฟผ. กลับมีกำไรรวมกันกว่า 193,806 ล้านบาท แยกเป็นกำไรในปี 61 จำนวน 45,712 ล้านบาท ปี62 จำนวน 48,209 ล้านบาท ปี 63 (วิกฤติโควิด-19) กำไร 28,031 ล้านบาท ปี 64 กำไร 26,467 ล้านบาทและปี 65 กำไร 45,387 ล้านบาท ทั้งยังมีกำไรสะสม ณ สิ้นปี 65 อีกกว่า 475,545 ล้านบาท
อันเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่า แม้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ จะทำหน้าที่เป็นเพียง “ตัวกลาง” รับซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชนตามนโยบายรัฐก่อนส่งขายต่อไปยัง 2 การไฟฟ้า คือ ”กฟน. – กฟภ.” แต่ก็หาได้ทำให้กำรี้กำไรของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ลดลงไปแต่อย่างใดดังนั้น หากจะฟันธง ถึงสาเหตุหลักที่ทำให้ค่าไฟแพงระยับในสามโลกราวกับการ “ปล้นสะดม” ประชาชนคนใช้ไฟนั้น นอกจากสภาพอากาศที่ “ร้อนปรอทแตก” เครื่องใช้ไฟฟ้าต้องทำงานหนักเป็นทวีคูณ ส่งผลให้ค่าไฟที่ประชาชนต้องจ่ายแพงเป็นทวีคูณแล้ว
อีกสาเหตุหลักอีกประการก็มาจาก การ “ปฏิรูปพลังงาน” ของประเทศยังไป “ไม่สุดซอย” นั่นเอง การผลิตและจัดหาไฟฟ้าที่แม้รัฐจะพยายามเปิดเสรี เปิดให้เอกชนเข้ามาแข่งขันผลิตและสร้างโรงไฟฟ้า ก็ยังคงต้องขายไฟฟ้าเหล่านั้นผ่านระบบ “สายส่ง” ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ และขายต่อลงไปยังบ้านเรือนประชาชนผ่าน 2 การไฟฟ้าคือการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอีกทอดหนึ่ง
การเปิดเสรีพลังงาน เปิดเสรีไฟฟ้าหรือ Mitering ที่ประชาขนผู้ใช้ไฟสามารถจะเลือกซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายใดก็ได้ ยังไปไม่สุดซอย เพราะระบบสายส่งของประเทศยังคงอยู่ในเงื้อมมือของ กฟผ. ที่ผูกขาดระบบสายส่งและการจำหน่ายไฟให้บ้านเรือนประชาชนผ่าน 2 การไฟฟฟ้า ด้วยข้ออ้างเพื่อความมั่นคงของระบบนั้น
จึงทำให้ ต่อให้รัฐตั้งโต๊ะรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตเอกชนจะ IPP – SPP หรือ VSPP รวมทั้งจัดซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีต้นทุนราคาต่ำแค่ไหน เมื่อต้องจำหน่ายไฟเหล่านั้นผ่านระบบสายส่งของ กฟผ. และ 2 การไฟฟ้า ที่ต้องถูกบวกค่าบริหารจัดการและกำรี้กำไรเพื่อหล่อเลี้ยงองค์กร หล่อเลี้ยงโบนัสและสวัสดิการอันพึงมีของพนักงานและลูกจ้างที่มีอยู่เต็มลำเรือทั้ง 3 การไฟฟ้าแล้ว
สุดท้ายค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่ายมันจึงแพงบรรลัยกัลป์ในสามโลกอย่างที่เห็น เป็น Tiger Sleep Eat หรือไม่ “รสนา โตสิตระกูล” และเครือข่ายพลังงานดูเอาเอง!
ถึงวินาทีนี้ที่ประชาชนคนไทยจะต้องตัดสินใจเลือกพรรคนายกฯ และพรรคการเมือง ที่ต่างกำลังขายฝันขายนโยบายกันให้ละลานตา ก็เป็นหน้าที่ของประชาชนคนไทยที่ต้องกลับมาถามใจตัวเองให้กระจ่าง เราจะยังคงเลือกพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลเดิม เลือก “แคนดิเดท” นายกฯ หน้าเดิม คน “กากี่นั๊ง” กันอยู่ต่อไป โดยที่ปัญหาค่าไฟแพงก็คงจะตามหลอกหลอนกันต่อไปเช่นนี้
การเปิดเสรีไฟฟ้าที่ทุกฝ่ายคาดหวังจะเห็นการ “ปลดล็อค” เปิดเสรีมิเตอร์ไฟฟ้า Mitering เช่นที่รัฐเปิดเสรีสื่อสารโทรคม-อินเทอร์เน็ตก่อนหน้าจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ หากจะต้องเลือกพรรคการเมืองและนักการเมืองที่จะเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ ก็ต้องกล้าพอที่จะเลือกพรรคการเมืองที่กล้าพอจะปลดล็อคเปิดเสรีไฟฟ้ากันไปให้สุดซอย!
จริงหรือไม่จริง !!!