‘สืบพงษ์’ เฮ! ศาลปกครองสั่งเพิกถอนมติสภา ม.รามฯ ปลดพ้นตำแหน่งอธิการบดี

“สืบพงษ์”เฮลั่น! ศาลปกครองกลางสั่งเพิกถอนมติสภา มหาวิทยาลัยรามคำแหง ชี้มติปลดพ้นตำแหน่งอธิการบดีฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่เปิดโอกาสให้นำพยานหลักฐานชี้แจงก่อนลงมติ

วันที่ 28 เมษายน 2566 ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาสั่งเพิกถอนมติสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ปลด นายสืบพงษ์ ปราบใหญ่ ออกจากการเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยคดีดังกล่าว นายสืบพงษ์ ยื่นฟ้องสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 ศาสตราจารย์สมบูรณ์ สุขสำราญ อุปนายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ทำหน้าที่แทนนายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้ถูกฟ้องที่ 2 และนายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้ถูกฟ้องที่ 3 กรณีมีมติในการประชุมครั้งที่ 15/2564 เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2565 ให้ถอดถอนนายสืบพงษ์ ออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งนายสืบพงษ์เห็นว่าได้รับความเสียหาย จึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนมติดังกล่าว

ทั้งนี้ ศาลปกครองกลางสั่งเพิกถอนมติถอดถอนนายสืบพงษ์ ของสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยระบุเหตุผลว่า พิจารณาแล้วเห็นว่า ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงครั้งที่ 15/2564 เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.64 ได้มีกรรมการฯจำนวนไม่น้อยกว่า 7 คน มีหนังสือร้องขอเรียกประชุม และได้มีการตั้งคำถามเพื่อให้นายสืบพงษ์ ชี้แจงต่อสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงถึงเหตุผลที่นายสืบพงษ์ ไม่เรียกประชุม

โดยในวันนั้น ศ.สมบูรณ์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมได้แจ้งให้สภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้หารือการลงมติ 2 เรื่อง คือ ประเด็นที่ 1 เรื่องนายสืบพงษ์ ชี้แจงต่อไปหรือไม่ และประเด็นที่สอง นายสืบพงษ์จะต้องออกไปจากห้องประชุมขณะที่สภามหาวิทยาลัยรามคำแหงทำการพิจารณาในประเด็นที่หนึ่งหรือไม่ ซึ่งสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงได้มีมติโดยเสียงข้างมากว่า นายสืบพงษ์จะต้องออกไปจากห้องประชุมขณะที่สภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ทำการพิจารณาในประเด็นที่หนึ่ง และนายสืบพงษ์ จะต้องออกไปจากห้องประชุมขณะที่มีการพิจารณาเรื่องประเด็นที่หนึ่ง ซึ่งหลังจากนั้นสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ทำการพิจารณาต่อไปจนกระทั่งมีการลงมติถอดถอนนายสืบพงษ์ออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง

ดังนั้น จากข้อเท็จจริงดังกล่าวเห็นได้ว่า ขณะเริ่มประชุมสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงมิได้แจ้งให้นายสืบพงษ์ทราบเลยว่าจะมีการพิจารณาลงมติถอดถอนนายสืบพงษ์ ออกจากตำแหน่งอธิการบดีฯ ในวาระการประชุมนี้ คงมีก็แต่เพียงการอภิปรายและตั้งคำถามจากกรรมการสภามหาวิทยาลัยบางราย เพื่อให้นายสืบพงษ์ ชี้แจงถึงเหตุผลที่ไม่เรียกประชุมสภามหาวิทยาลัยเท่านั้น โดยที่นายสืบพงษ์เองก็ไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าตนจะต้องถูกพิจารณาถอดถอนออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงในวาระการประชุมนี้ จึงไม่มีโอกาสที่จะได้เตรียมพยานหลักฐานอย่างเต็มที่เพื่อโต้แย้ง และเมื่อมติของสภามหาวิทยาลัยรามคําแหง ที่ถอดถอนนายสืบพงษ์ออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นคำสั่งทางปกครองอันมีผลให้นายสืบพงษ์ต้องพ้นจากตำแหน่งดังกล่าวเป็นการถาวรและเด็ดขาด

ซึ่งการที่สภามหาวิทยาลัยรามคำแหง มิได้แจ้งให้นายสืบพงษ์ ทราบข้อเท็จจริงและมีโอกาสโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานเสียก่อน จึงเป็นการมีมติโดยไม่ถูกต้องตามขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญตามที่มาตรา 30 วรรคหนึ่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 กำหนดมติของสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงที่ถอดถอนนายสืบพงษ์ ออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมีคำพิพากษาเพิกถอนมติของสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงในการประชุมครั้งที่ 15/2564 เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2564 ที่ให้ถอดถอนนายสืบพงษ์ออกจากตำแหน่งอธิการบดีฯ โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่มีมติดังกล่าว ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ทั้งนี้ ให้คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาที่สั่งทุเลาการบังคับตามมติและคำสั่งที่ถอดถอนนายสืบพงษ์ออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง มีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ภายหลังฟังคำพิพากษา นายสืบพงษ์ กล่าวว่า คดีนี้เป็นคดีแรกที่ตนยื่นฟ้องศาลปกครอง และยังมีอีกที่ตนฟ้องสภา ม.รามฯ ซึ่งยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง นอกจากนี้ ในวันที่ 9 พ.ค.นี้ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดฟังคำสั่งในคดีที่ตนยื่นฟ้อง สภา ม.รามฯ และกรรมการสภาฯ ในความผิดฐานปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบอีกคดี