“พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ” ร่ายจดหมายฉบับ 10 โว เป็นคนประสาน แก้รธน.สูตรเลือกตั้ง สร้างผลงานก้าวข้ามความขัดแย้ง ชี้ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมต้องขับเคลื่อนด้วยเสรีนิยม ยัน ไม่ได้เป็นเผด็จการจำแลง มีจิตวิญญาณประชาธิปไตย
วันที่ 21 เม.ย. 2566 เพจเฟซบุ๊ก “พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ” ซึ่งเป็นเพจทางการของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โพสต์ข้อความระบุว่า ตอนนี้การหาเสียงเริ่มที่จะแสดงออกด้วยการโจมตีกันรุนแรงมากขึ้นอีกแล้ว จะเห็นว่าระดับผู้นำของพรรคการเมืองกลับมาเล่นงานคนที่มีความคิดแตกต่างกับตัวด้วยท่าทีก้าวร้าว ขนาดขับไล่ไสส่งให้ “ไปเสียให้พ้นจากแผ่นดินไทย” ขณะที่อีกฝ่ายก็เอาแต่ประกาศกร้าว ตัดขาดที่จะร่วมมือกับฝ่ายกีดกันไว้เป็นฝ่ายตรงกันข้าม เป็นบรรยากาศที่แบบ “ชี้หน้าคนเห็นต่างว่าเป็นศัตรู” ด้วยท่าที่ของการ “ปลุกระดม” ให้เกิดความขัดแย้ง แตกแยกรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ความเป็นไปที่มีแนวโน้มเช่นนี้ ย่อมถือว่าอันตรายอย่างยิ่งต่อการอยู่ร่วมกันเป็นชาติที่ประชาชนมีความร่วมมือร่วมใจ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาให้ประเทศเดินหน้าไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้
ผมจึงต้องมาย้ำอีกครั้งว่า “ประเทศไม่มีทางออกอื่น นอกจากต้องร่วมกันก้าวข้ามความขัดแย้ง” และขอให้รู้ว่า ที่ผมมาพูดเรื่องนี้ และขอให้ทุกคน ทุกฝ่ายร่วมมือกัน ไม่ใช่เรื่องที่ผมมาพูดเอาเท่ หรือ สร้างจุดขายที่แตกต่างของการเป็นผู้นำการเมืองอย่างที่หลายๆคนพยายามคิด และพูดกันไป ไม่ได้ตั้งใจสร้างภาพให้เกิดความต่างเพื่อเป็น “ตัวเลือกใหม่” หรือ อะไรอย่างนั้น แต่ผมรู้สึก และเกิดเป็นความคิดจริงๆว่า “การเมืองเดินหน้าต่อไปไม่ได้หากไม่ก้าวข้ามความขัดแย้ง” และผมขอบอกว่า เป็นความรู้สึกและความคิดที่เกิดจาก “ประสบการณ์” อันหมายถึงการได้เห็น ได้ยินได้ฟัง ได้สัมผัสรับรู้มา จากคนในทุกกลุ่ม ทุกวงการ ทั้ง “ฝ่ายอนุรักษ์นิยม”ที่ ชินกับการจัดการด้วยอำนาจ และ “ฝ่ายเสรีนิยม”ที่มีธรรมชาติของการเปิดรับความคิดเห็นที่แตกต่างได้มากกว่า ผมเห็นจุดอ่อนและจุดแข็งของทั้ง 2 ฝ่ายที่ไม่มีทางจะทำให้ฝ่ายตรงกันข้ามพ่ายแพ้อย่างราบคาบ โดยฝ่ายตัวได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด
พล.อ.ประวิตร ระบุว่า เพราะเห็นเช่นนี้ ผมจึงตัดสินใจใช้เวลาของชีวิตที่เหลืออยู่ หาทางทำให้ประเทศมีทางออกจาก “วงจรอันสิ้นหวังของการร่วมกันอย่างสุขสงบ” นี้ให้ได้เสียที มีคำถามว่า “ผมจะทำอะไร” ผมอยากจะบอกว่า ในความเป็นจริงนั้นผมทำเรื่อง “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” มาก่อนหน้านี้แล้ว เป็นการทำอย่างเงียบๆ และโดยใช้ “ความเป็นผม” ทั้งหมดเพื่อให้เกิดความสำเร็จ คำตอบในเรื่องนี้ เห็นได้ไม่ยากหากย้อนไปทบทวนช่วง “รัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญ” จาก “เลือกตั้งด้วยบัตรใบเดียว” มาเป็น “สองใบ” และ แก้ตัวหารคะแนน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์จาก “500” มาเป็น “100” ช่วงนั้นเกิดความขัดแย้งรุนแรง พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคเห็นไปทางเดียวกับสมาชิกวุฒิสภาที่ไม่เอาด้วยกับแนวทางนั้น ต้องการให้เลือกด้วยบัตรใบเดียว ปาร์ตี้ลิสต์หาร 500 เหมือนเดิม เพราะมองไม่เห็นว่า แก้ไขแล้วพรรครัฐบาลจะมีโอกาสชนะพรรคฝ่ายค้านที่เป็นพรรคใหญ่ มีสมาชิกและเครือข่ายฐานเสียงมากกว่าได้อย่างไร ขณะที่ “พรรคการเมือง” บางพรรคโจมตี ส.ว.อย่างรุนแรง ทำนองว่าเป็นส่วนเกินที่ให้ผลในทางเลวร้ายต่อประชาธิปไตย ไม่ควรจะออกมาใช้สิทธิแสดงความคิด ออกเสียง สร้างความเกลียดชังต่อกันรุนแรง
ตอนนั้นผมเป็นผู้นำ “พลังประชารัฐ” ที่เป็นพรรคแกนนำรัฐบาล มีแรงกดดันมากมายทั้งในพรรคและนอกพรรค อย่างที่รู้ๆ กันว่าแม้แต่ “ผู้นำในทำเนียบรัฐบาล” ก็ส่งสัญญาณผ่านคนใกล้ชิดว่า “ต้องกลับเป็นบัตรใบเดียว และ ปาร์ตี้ลิสต์หาร 500” เพื่อความได้เปรียบของพรรคร่วมรัฐบาล ตัดโอกาสที่จะชนะของพรรคฝ่ายค้านที่เป็นพรรคใหญ่ เป็นผมเองที่เห็นว่า “จะใช้อำนาจทำแบบนั้นไม่ได้ ถึงเวลาที่จะต้องจัดการให้การเมืองเดินหน้าไปโดยยึดหลักการประชาธิปไตย” แต่ความยากอยู่ที่จะคุยอย่างไร ให้เสียงส่วนใหญ่ทำตามอย่างที่ผมเห็น ยากตรงที่มีการโจมตี ส.ว.ด้วยถ้อยคำรุนแรงมากมาย จนมองไม่เห็นว่าจะดึงอารมณ์ให้กลับมาพูดดีๆ อย่างเข้าอกเข้าใจกันได้อย่างไร ตอนนั้น แม้แต่ใน “พรรคพลังประชารัฐ” ยังมีแค่ไม่กี่คนที่เข้าใจในแนวทางแบบที่ผมเชื่อว่า “ต้องยืนหยัดในหลักประชาธิปไตย แต่ด้วยความเข้าใจในอนุรักษ์นิยม” ลองไปค้นข้อมูลกลับมาดูได้ จะเห็นว่าแม้แต่ “นายกฯตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ยังถูกมองว่าไม่เอาด้วยกับการแก้ไขบัตรเลือกตั้ง โดยช่วงนั้นนักการเมืองที่รู้กันว่าเป็นสายตรงนายกฯออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านชัดเจน เป็นภารกิจที่ยากทีเดียวในการพูดคุยหาทาง “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” เดินหน้าในหลักการประชาธิปไตย โดย “ฟากอนุรักษ์นิยม” ให้ความร่วมมือ ทั้งที่ถูกโจมตีหนักจาก “ฝ่ายเสรีนิยม แต่ “ผมทำได้” การแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ประสบความสำเร็จ สำเร็จตามความตั้งใจและลงมือด้วยประสบการณ์ และความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกฝ่ายที่ผมสร้างสมมา
พล.อ.ประวิตร ระบุว่า แม้วันนี้จะมีคนโจมตีว่าผมเป็น “เผด็จการจำแลง” ผมก็เพียงบอกตัวเองว่า ผมอาจจะอธิบาย “จิตวิญญาณประชาธิปไตย” ที่มีในตัวผมยังไม่ชัด ซึ่งเป็นหน้าที่ของผมว่าจะต้องอธิบายต่อไป ผมขอยืนยันว่า “ถึงวันนี้ประเทศเรายังไม่มีคำตอบอื่น นอกจากทำให้อนุรักษ์นิยมซึ่งเป็นแก่นของความเป็นชาติ อยู่ด้วยและร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาไปด้วยเสรีนิยมที่มีความคล่องตัวและได้รับการสนับสนุนจากนานาประเทศมากกว่า” ซึ่งผมเชื่อว่า “ผมทำได้ และผมต้องเป็นคนทำ” เพียงแต่ เมื่อถึงวันนี้เกิดปรากฏการณ์ที่น่าเป็นกังวลอย่างยิ่ง การหาเสียงเลือกตั้งที่มุ่งแต่ชัยชนะ ก่อให้เกิดการโจมตีกันรุนแรง จนมองเห็นแนวโน้มของความแตกแยก ถึงขั้นขับไสไล่ส่งไม่ให้อยู่ร่วมชาติ เกิดขี้นอีกแล้ว ทั้งที่ทุกเรื่องมีวิธีการแก้ไข หากทุกฝ่ายร่วมมือกันคิดทำ โดย “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” แค่ “อย่าหักโหมที่จะเอาชนะกัน เสียจนลืมว่าเป็นการดีกว่าหากเปลี่ยนเป็นร่วมมือทำงานเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ร่วมกัน” ในฐานะประชาชนชาวไทยที่เป็นหนึ่งเดียว