หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เปิดนโยบายสวัสดิการเอาใจ ‘อสม. – อสส.’ จัดเต็มกองทุนเงินออมให้ยืม 1 แสนบาท ตั้งสถาบัน อสม. . หวังเสียงสนับสนุนกว่าล้านเสียง กลับเข้าไปสานต่องาน สธ.
วันที่ 17 เม.ย. 2566 เวลา 10.30 น. ที่พรรคภูมิใจไทย (ภท.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เป็นประธานการแถลงนโยบายการพัฒนา และ สวัสดิการอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) พร้อมด้วย น.ส.เรวดี รัศมิทัต และนายจำรัส คำรอด ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย อดีตประธานชมรม อสม. แห่งประเทศไทย ร่วมแถลงด้วย โดยมี อสม. และ อสส. เข้าร่วมรับฟังนายอนุทิน กล่าวตอนหนึ่งว่า สมัยที่เป็น รมช.สาธารณสุข ตนไม่รู้จัก อสม. แต่พอได้ออกไปปฏิบัติหน้าที่นอกกระทรวง ได้พบเห็นได้รับการซึมซับ อสม. จนเข้าใจว่าคือฟันเฟืองสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดความเรียบร้อย หลังจากนั้นคำว่า อสม. ก็อยู่ในความคิดของตนตลอด กระทั่งวันที่ได้กลับมาเป็น รมว.สาธารณสุข ก็ได้ออกปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ต่างจังหวัดอีกครั้ง ความรู้สึก และบรรยากาศ ทุกอย่างเหมือนเดิม และเมื่อโควิด – 19 เข้ามายิ่งทำให้มีความใกล้ชิดกับ อสม. มากขึ้น ทำให้เรากล้าแสดงให้คนทั้งประเทศได้เห็นความสำคัญของ อสม. ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาด และส่วนตัวได้สมัครเป็น อสม.ด้วย ที่ ต.อิสาน อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งน่าจะเป็นหัวหน้าพรรคเพียงคนเดียวที่เป็น อสม.ทั้งนี้ เราต้องไม่ลืมว่า อสม. คือบุคคลที่เป็นอาสาสมัคร ถ้าเราอยากหาเสียงแบบไม่ลืมหูลืมตัว เราคงแถมแหลกแจกสะบัด แต่ตนบอกเสมอว่า อสม. คืออาสาสมัครไม่มีใครบังคับให้มา พวกท่านมากันเอง ถ้ามาเรียกร้องค่าตอบแทนความเป็น อสม. จะหมดไปทันที ตนต้องรักษาศักดิ์ศรีของพวกท่านทุกคนที่เป็น อสม. ด้วย จึงต้องทำให้ทุกท่านยืนหยัดได้ด้วยความมีศักดิ์ศรี เราทำงานขนาดนี้ ก็คงต้องกลับไปดูและกระทรวงสาธารณสุขอีกครั้ง“ช่วงโควิด – 19 คนมีความศรัทธา อสม. ทุกอย่างเกิดจากการกระทำ เกิดจากความเสียสละของพวกท่าน ถือเป็นระบบเดียวที่สาธารณสุขไทยมี แต่สาธารณสุขทั่วโลกไม่มี พรรคภูมิใจไทยลงเลือกตั้งครั้งนี้ ยังมีอีกหลายอย่างที่ระบบสาธารณสุขไทยต้องมีมากขึ้น ผมคิดว่าพรรคภูมิใจไทยโชคดีมีคนที่เป็น อสม. เป็นถึงประธานชมรม อสม. มาเป็นตัวแทนของพรรค ผมหวังว่าท่านจะให้พรรคการเมืองนี้ ได้ต่อยอดดูแลทำประโยชน์ให้พี่น้อง อสม. เพื่อที่สิ่งดีๆ จะได้สะท้อนกลับไปยังประชาชน หากจะมี อสม. เป็น ส.ส. สักคนในสภาผู้แทนราษฎร ผมคิดว่ามีความหมาย และสำคัญอย่างยิ่งต่อพี่น้อง อสม. เพื่อที่เขาจะได้ช่วยเข้าไปเป็นปากเป็นเสียงให้ อสม. ถ้าพี่น้อง อสม. 1 ล้านคน เลือกพรรคภูมิใจไทยทั้งหมด ผมไม่ต้องหาเสียงแล้ว ซึ่งภูมิใจไทยน่าจะเป็นพรรคที่สื่อสารกับพี่น้อง อสม. ได้ใกล้ชิดที่สุด” นายอนุทิน ระบุหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงนโยบายการพัฒนา และสวัสดิการ อสม. และ อสส. ด้วยว่า จะมีการเสนอกฎหมายจัดตั้ง “สถาบันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมสุขภาพภาคประชาชน” โดยใช้งบประมาณจากภาษีบาป , ค่าตอบแทนอสม. 2,000 บาท , เจ็บป่วยมีประกัน , เจ็บป่วยมีห้องพิเศษฟรี ค่าอาหารฟรี (โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ใช้บัตรสมาร์ทการ์ด อสม. และ อสส. ยื่นใช้สิทธิ , เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ อสม. แห่งประเทศไทย เสียชีวิตได้ 500,000 บาท , เงินยืมอสม. อสส. ปลอดดอกเบี้ยคนละ 100,000 บาท ผ่านกองทุนเงินออม อสม. และอสส. และจัดตั้งกองทุนเงินออม อสม. และ อสส. โดยเงินทุนมาจาก อสม. ส่งเงินเข้ากองทุน 100 บาทต่อเดือน รัฐบาลส่งเงินเข้ากองทุน 100 บาทต่อเดือน“เงินของนโยบายพรรคที่เกี่ยวกับ อสม. เป็นเงินที่หมุนเวียนในระบบกองทุนของ อสม. เราไม่ต้องไปตั้งสกุลเงินใหม่ แต่เงินจะหมุนเวียนอยู่ในระบบ อสม. ไม่ต้องใช้งบประมาณประเทศ” นายอนุทิน กล่าว.
ด้าน นายจำรัส คำรอด ให้รายละเอียดว่า หลักเกณฑ์ และวิธีการ โดยการหักเงินจากสมาชิกเดือนละ 100 บาท นำเข้ากองทุนเช่น อสม. จำนวน 1,000,000 คน หักเดือนละ 100 บาท เท่ากับเดือนละ 100,000,000 บาท ปีละ 1,200,000,000 บาท, วงเงินที่ให้สมาชิกกู้ รายละ 100,000 บาท โดยการผ่อนชำระเดือนละ 500 บาท ให้ทายาทที่เป็นผู้รับผลประโยชน์ของ ฌกส.อสม.แห่งประเทศไทย เป็นผู้ค้ำประกัน, สมาชิกที่จะกู้ยืมต้องออมเงินเข้ากองทุนอย่างน้อย 1 ปี จึงจะมีสิทธิ์กู้ยืมได้ตามสิทธิ์, การพิจารณาวงเงินกู้ยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ยโดยการพิจารณาจากอายุการเป็นอสม. เช่น เป็นอสม. 30 ปี 20 ปี 10 ปี และคะแนนสะสมผลงานความดีของ อสม. เป็นหลักในการพิจารณาขณะที่ นางสาวเรวดี รัศมิทัต กล่าวว่า เพื่อให้อสม. และอสส. ที่มีสมาชิกเป็นจำนวนมากมีองค์กรที่มีความเข้มแข็ง และสามารถทำงานได้กับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในเรื่องของการดูแลสุขภาพของพี่น้องประชาชน โดยที่ผ่านมาในองค์กรหรือหน่วยงานที่ทำงานด้านสุขภาพ ประชาชนโดยทั่วไปแล้วมักจะใช้กลไกของ อสม. และอสส. เข้าถึงประชาชนในพื้นที่ จึงเห็นสมควรยกระดับให้เป็น “สถาบัน อสม. แห่งประเทศไทย”