ผลโหวต เดลินิวส์ x มติชน โพลเลือกตั้ง ’66 ครั้งที่ 1 ออกแล้ว “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เข้าป้ายอันดับ 1 นายกฯ ที่ใช่ ตามด้วย “อุ๊งอิ๊ง-เศรษฐา” และ “บิ๊กตู่” รั้งอันดับ 4 ส่วนพรรคที่ชอบ “เพื่อไทย” เข้าวินเป็นที่ 1 ตามด้วย ก้าวไกล-รวมไทยสร้างชาติ-ภูมิใจไทย อันดับ 2-4 ตามลำดับ
วันที่ 15 เมษายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานผลการโหวตโพลการเมือง ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของสองสื่อสารมวลชนชั้นนำ “เดลินิวส์ -มติชน โพลเลือกตั้ง ’66 ครั้งที่ 1” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 8-14 เมษายน 2566 ผ่านช่องทางออนไลน์กระจายไปทั่วทุกภูมิภาค ระดับอาชีพ การศึกษา และรายได้ทั่วประเทศ รวมกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 84,076 ราย และเป็นการโหวตแบบไม่ซ้ำไอพีแอดเดรส (IP Address)
โดยทำการโหวตผ่านช่องทางออนไลน์ เว็บไซต์ https://www.matichon.co.th/thai-election66-poll/ ของสื่อเครือมติชน ประกอบด้วย มติชน ข่าวสด ประชาชาติธุรกิจ มติชนสุดสัปดาห์ มติชนทีวี และ https://www.dailynews.co.th/election-2566/poll/ ของเดลินิวส์ พบข้อมูลดังนี้
หัวข้อคำถามที่ 1 ท่านจะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี ในการเลือกตั้ง 2566 พบว่า ในกลุ่ม 10 อันดับแรก ผู้ได้รับการโหวตเป็น อันดับ 1 คือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากพรรคก้าวไกล ร้อยละ 29.42, อันดับ 2 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 23.23, อันดับ 3 นายเศรษฐา ทวีสิน จากพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 16.69, อันดับ 4 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากพรรครวมไทยสร้างชาติ ร้อยละ 13.72, อันดับ 5 ยังไม่ตัดสินใจ (ว่าจะเลือกใคร) ร้อยละ 2.97
อันดับ 6 นายอนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 2.94, อันดับ 7 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส จากพรรคเสรีรวมไทย ร้อยละ 2.25, อันดับ 8 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จากพรรคไทยสร้างไทย ร้อยละ 1.90, อันดับ 9 นายกรณ์ จาติกวณิช จากพรรคชาติพัฒนากล้า ร้อยละ 1.40 และอันดับ 10 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ พรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 1.24ทั้งนี้ ในส่วนของพรรคเพื่อไทย จากผลการทำโพลในหัวข้อคำถามที่ 1 ดังกล่าว พบว่า เมื่อนำผลโหวตของ น.ส.แพทองธาร นายเศรษฐา และนายชัยเกษม นิติสิริ มารวมกัน จะอยู่ที่ร้อยละ 40.34
สำหรับแคนดิเดตนายกฯ คนอื่นๆ ที่ได้รับการโหวตคะแนนลดหลั่นกันไป ประกอบด้วย อันดับ 11 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 1.08, อันดับ 12 นายวราวุธ ศิลปอาชา พรรคชาติไทยพัฒนา ร้อยละ 0.96, อันดับ 13 บุคคลอื่นๆ ร้อยละ 0.49, อันดับ 14 นายชัยเกษม นิติสิริ พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 0.42, อันดับ 15 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค พรรครวมไทยสร้างชาติ ร้อยละ 0.26, อันดับ 16 นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม พรรคไทยภักดี ร้อยละ 0.25
อันดับ 17 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา พรรคประชาชาติ ร้อยละ 0.21, อันดับ 18 นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ พรรคไทยศรีวิไลย์ ร้อยละ 0.20, อันดับ 19 นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ พรรคชาติพัฒนากล้า ร้อยละ 0.11, อันดับ 20 น.ต.ศิธา ทิวารี พรรคไทยสร้างไทย ร้อยละ 0.10, อันดับ 21 นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ร้อยละ 0.08, อันดับ 22 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง พรรคประชาชาติ ร้อยละ 0.06 และอันดับ 23 นายเทวัญ ลิปตพัลลภ พรรคชาติพัฒนากล้า ร้อยละ 0.01
ต่อด้วยหัวข้อคำถามที่ 2 ท่านจะสนับสนุนพรรคการเมืองใด ในการเลือกตั้ง 2566 พบว่า ในกลุ่ม 10 อันดับแรกนั้น พรรคการเมืองได้รับการโหวตเป็นอันดับ 1 คือ พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 38.89, อันดับ 2 พรรคก้าวไกล ร้อยละ 32.37, อันดับ 3 พรรครวมไทยสร้างชาติ ร้อยละ 12.84, อันดับ 4 พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 3.30, อันดับ 5 ยังไม่ตัดสินใจเลือกพรรคใด ร้อยละ 2.21, อันดับ 6 พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 1.83, อันดับ 7 พรรคไทยสร้างไทย ร้อยละ 1.73, อันดับ 8 พรรคเสรีรวมไทย ร้อยละ 1.63, อันดับ 9 พรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 1.55 และอันดับ 10 พรรคชาติพัฒนากล้า ร้อยละ 1.14
ส่วนพรรคอันดับอื่นๆ มีผลโหวตโพลดังนี้ อันดับ 11 พรรคชาติไทยพัฒนา ร้อยละ 0.96, อันดับ 12 พรรคไทยภักดี ร้อยละ 0.41, อันดับ 13 พรรคอื่นๆ ร้อยละ 0.36, อันดับ 14 พรรคประชาชาติ ร้อยละ 0.33, อันดับ 15 พรรคเปลี่ยน ร้อยละ 0.31 และอันดับ 16 พรรคไทยศรีวิไลย์ ร้อยละ 0.14
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มตัวอย่างผู้ร่วมทำโพลออนไลน์ “เดลินิวส์ x มติชน โพลเลือกตั้ง ’66 ครั้งที่ 1” 84,076 ราย แยกเป็นกลุ่มช่วงอายุ 42-57 ปี หรือ “GEN-X” มากเป็นอันดับหนึ่ง จำนวนร้อยละ 35.08 ตามด้วยกลุ่มช่วงอายุ 58-76 ปี หรือ “เบบี้บูมเมอร์” จำนวนร้อยละ 27.63, ช่วงอายุ 26-41 ปี หรือ “GEN-Y” จำนวนร้อยละ 26.50, ช่วงอายุ 18-25 ปี หรือ “GEN-Z” จำนวนร้อยละ 9.77 และช่วงอายุ 77 ปีขึ้นไป หรือ “Silent-GEN” จำนวนร้อยละ 1.02
ส่วน 10 จังหวัดแรกที่มียอดผู้ร่วมตอบโพลสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานครฯ, นนทบุรี, เชียงใหม่, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, ชลบุรี, บุรีรัมย์, นครราชสีมา, ขอนแก่น และสงขลา ตามลำดับ
นอกจากนั้น เพื่อให้การวิเคราะห์ผลโพล “เดลินิวส์ x มติชน โพลเลือกตั้ง ’66 ครั้งที่ 1” รอบแรก มีความลึกและสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น กอง บก. ทั้งมติชนและเดลินิวส์ ยังได้จับมือกับอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เข้ามาร่วมนำข้อมูลผลโพลดังกล่าว ไปวิเคราะห์เพิ่มเติมในแง่มุมทางวิชาการเพื่อเตรียมเผยแพร่สู่สาธารณะต่อไป
ทั้งนี้ การโหวตโพล “เดลินิวส์ x มติชน โพลเลือกตั้ง ’66 ครั้งที่ 1” รอบที่สอง จะเริ่มต้นขึ้นในวันเสาร์ที่ 22 เม.ย. 2566 หลังจากนั้น เมื่อได้ผลโพลครบทั้งสองรอบแล้ว กอง บก.สื่อเครือมติชน ประกอบด้วย มติชน ข่าวสด ประชาชาติธุรกิจ มติชนสุดสัปดาห์ มติชนทีวี และเครือเดลินิวส์ ร่วมกับตัวแทนอาจารย์วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ฯ จะร่วมกันจัดเวทีวิเคราะห์เจาะลึกผลโพลทั้งสองรอบ พร้อมกับไลฟ์สตรีมถ่ายทอดสดผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของสื่อทั้งสองเครือต่อไป ช่วงต้นเดือน พ.ค. 2566