สถานการณ์ค่าไฟที่ปรับสูงขึ้นนับได้ว่าส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม และความสามารถในการแข่งขันของประเทศแนวทางการแก้ไขปัญหาที่สำคัญ ไม่เพียงแค่การปรับลดค่าไฟฟ้าแบบครั้งต่อครั้ง แต่ควรมองถึงแนวทางการแก้ปัญหาระยะยาวด้วย
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. แสดงความเห็นถึงมุมมองการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ต่อการแก้ปัญหาระยะยาว
“วันนี้ที่เราอยากเห็นคือ ราคาพลังงานที่เป็นหัวใจสำคัญของเราในการแข่งขัน เทียบกับเวียดนามยัง 2 บาทกว่า เขาทำได้อย่างไร ส่วนเรา 4.77 บาท เรายังแพงกว่าเขาเท่าตัว ก็เป็นความท้าทายของภาคอุตสาหกรรม ในภาคอื่น ๆ ด้วย และนักลงทุนที่กำลังจะเข้ามา เขาอาจจะมองเรา แต่พอค่าไฟเราแพงกว่า อาจจะไม่มา เราก็เสียโอกาสในการดึงดูดการลงทุน”
จากนี้ไปถ้ารัฐบาลใหม่ที่จะมา ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะเป็นใคร เราจะฝากเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ว่าจะปรับโครงสร้างพลังงานได้อย่างไร ต้องมาดูเรื่องค่าสำรองและค่าพร้อมจ่ายที่สูงมากกว่า 50% และกำลังจะมีพลังงานสีเขียวมาเพิ่มเติมอีกหลายเมกะวัตต์
คำถามคือมันจะทำให้มีซัพพลาย มีการคิดรอบคอบถึงการเพิ่มซัพพลายเข้ามา ซึ่งจะกลายไปเป็นภาระที่เพิ่มขึ้น ทำให้คนทั้งประเทศต้องแบกรับหรือไม่
แต่ถ้าเราใช้พลังงานสีเขียวที่เกิดขึ้นมาเป็นจุดแข็งในการดึงดูดการลงทุนหรือนักลงทุน ที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมสะอาด ได้ดี แต่เราต้องหาคำอธิบายว่าวันนี้ไฟล้นอยู่แล้ว แล้วยังต้องมาเป็นภาระอีก การแบกรับเรื่องเหล่านี้ต้องดูให้รอบคอบ ศึกษาและวางแผนว่าจะทำอย่างไร
“สิ่งที่เราเรียกร้องเรื่องไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ โซลาร์ฟาร์ม ซึ่งทางเอกชนโดยเฉพาะภาพบริการพร้อมที่จะลงทุน เรามีเทคโนโลยีก้อนหนึ่งที่เป็นพลังงานสะอาด ทุกคนพร้อมลงทุน แต่ไปติดล็อกตรงที่ถ้าเกิน 1 เมกะวัตต์ ต้องไปขอใบ รง.4 ก็อยากให้ปลดล็อกให้เป็นเสรีอย่างแท้จริง ถ้าหากว่าในช่วงแรก ได้ตามจำนวนที่เคยใช้อยู่ เช่น โรงงานนี้ใช้ไฟ 10 เมกะวัตต์ ซึ่งตอนนี้ให้ผลิตพลังงานสะอาดหรือ โซลาร์ไม่เกิน 1 เมกะวัตต์ ให้เขาผลิตได้ 10 เมกะวัตต์เลย ให้ใช้อยู่ในโรงงานของเขา ห้ามเกิน ห้ามจำหน่าย ก่อนเป็นเฟสแรก ก่อน”
ในอนาคตเรามองว่า ควรจะพัฒนาแบบประเทศที่เจริญแล้ว ต้องมีระบบแพลตฟอร์มซื้อขายไฟฟ้าที่ดี มีระบบดิจิทัลที่ดีที่สามารถนำไฟฟ้าที่ผลิตส่วนเกินมาซื้อขายกันได้ นั่นควรจะเป็นเฟส 2