10’ต่างศาสนิก’ร่วมถือศีลอด ม.เกริกจัดเรียนรู้รอมฎอน-เลี้ยงละศีลอดคึกคัก

ม.เกริก ไอเดียเจ๋ง จัด Challenge เรียนรู้พหุวัฒนธรรม ชวน 10 ต่างศาสนิกร่วมถือศีลอด One day fasting in Ramadan พร้อมเป็นเจ้าภาพจัดงานรอมฎอนสัมพันธ์ ครั้งที่ 1
.
เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2566 มหาวิทยาลัยเกริก โดยวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพจัดกิจกรรม One day fasting in Ramadan เรียนรู้การอยู่ร่วมกับแบบพหุวัฒนธรรมในสังคมไทย และได้จัดเลี้ยงละศิลอด ณ ภัตตาคารสินธรสเต๊กเฮาส์ (ศรีนครินทร์) ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวกว่า 10 คน โดยแต่ละคนมาจากพื้นฐานความหลากหลาย ในบทบาทหน้าที่การทำงานในรั้วมหาวิทยาลัยเกริก นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของการเรียนรู้วัฒนธรรม และการสร้างความเข้าใจระหว่างกันมากยิ่งขึ้น ซึ่งได้รับการสนับสนุนอัลกุรอ่านฉบับแปลไทย และอินทผลัมจากสํานักงานที่ปรึกษากิจการอิสลาม สถานเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบีย ประจําประเทศไทย
.
การจัดงานดังกล่าวมี ศ.ดร.อิมรอน มะลูลีม กรรมการสภามหาวิทยาลัยเกริก และประธานที่ปรึกษาวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ เป็นประธานในพิธี ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม คณบดีวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ ให้เกียรติกล่าวต้อนรับ และอาจารย์สราวุธ และซัน รองคณบดีวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพฝ่ายบริหารและวิเทศสัมพันธ์กล่าวรายงานการจัดงาน โดยวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ ได้เป็นเจ้าภาพจัดงานเลี้ยงละศิลอด IICB Iftar Dinner รอมฎอนสัมพันธ์ ครั้งที่ 1 มี ผศ.ดร.อับดุลเลาะ หนุ่มสุข ผู้แทนจุฬาราชมนตรีและผู้อำนวยการสถาบันวะสะฏียะฮ์เพื่อสันติภาพและการพัฒนา สำนักจุฬาราชมนตรี นายสมาน อาดัม รองเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย นักวิชาการ องค์กรสื่อหลายสำนัก อาทิ นายระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ นายบัญญัติ ทิพย์หมัด นายกสมาคมสื่อมุสลิมไทยและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์มุสลิมไทยโพสต์ นายเอกราช มูเก็ม บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าวอะลามี่ และ บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร The Alami อาจารย์ฮัมซะฮ์ อัลกรีมี ผู้แทนจากสถานีโทรทัศน์ ไวท์แชนแนล (White Channel) นายสมพร หลงจิ บรรณาธิการบริหาร Mtoday รวมถึงคณะที่ปรึกษาวิทยาลัย คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษามหาวิทยาลัยเกริก ร่วมงานดังกล่าวกว่า 300 คน


.
ศ.ดร.อิมรอน มะลูลีม ได้กล่าวถึงคณะผู้บริหารวิทยาลัย ฯ และผู้เข้าร่วมงานว่า การขับเคลื่อนวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพได้เห็นถึงความมานะพยายามในการสร้างกระบวนการการศึกษาในมิติต่าง ๆ การสร้างความเข้าใจ การสร้างการรับรู้ และการพัฒนากิจกรรมที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของคณะ วันนี้นอกจากมหาวิทยาลัยเกริกจะจัดงานเลี้ยงละศิลอดกับบรรดาลูกศิษย์ทั้งในระดับปริญญาเอก ปริญญาโท และปริญญาตรีแล้ว ผมตื่นเต้นที่เห็นกิจกรรมเชิญชวนเพื่อนร่วมงานในมหาวิทยาลัยมาร่วมถือศิลอดในเดือนรอมฏอน เป็นเรื่องใหม่ที่ไม่ค่อยมีใครได้คิดได้ทำกัน จริง ๆ แล้วการถือศิลอดไม่ใช่เพียงแค่อดอาหาร แต่ยังเป็นการฝึกความอดทน เข้าใจความรู้สึกของผู้ยากไร้ในยามหิวโหย ฝึกการควบคุมอารมณ์ และยังเป็นการรักษาสุขภาพด้วย


.
ในขณะที่ ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม ได้กล่าวภายในงานว่า การจัดโครงการปีนี้เป็นปีแรก โดยได้รับการสนับสนุนจากคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเกริก ซึ่งที่ผ่านมามหาวิทยาลัยเกริกได้สนับสนุนกิจกรรมของวิทยาลัยนานาชาติอิสลามมาโดยตลอด ตั้งแต่เราได้เปิดตัววิทยาลัยแห่งนี้ขึ้นเมื่อปีที่แล้ว เราพยายามผลักดันกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดจนขยายความร่วมมือกับองค์กรภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาการกิจกรรมของนักศึกษาให้ครอบคลุ่มทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก และคาดว่าปีการศึก 2566 จะมีนักศึกษาในระดับปริญญาตรีเข้ามาสมัครเรียนอีกกว่า 100 คน


.
อาจารย์สราวุธ และซัน ได้เน้นย้ำว่า การจัดงานในวันนี้มีเป้าหมายเดียวกัน คือการสร้างความเป็นพี่น้อง การทำความรู้จัก การปฏิสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนคณาจารย์ นิสิตนักศึกษา ผู้ที่นับถือศาสนาที่แต่กต่างกัน เป็นงานที่เปิดโอกาสให้เกิดการสร้างความเข้าใจระหว่างกัน และมีโอกาสได้มาร่วมละศิลอดในเดือนอันประเสริฐโดยพร้อมเพรียงกัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์การถือศิลอดระหว่างเพื่อนร่วมงาน และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนด้านความรู้เรื่องความสำคัญของการอดอาหารเพื่อสุขภาพ โดยกิจกรรมที่จัดขึ้นมานั้น มหาวิทยาลัยเกริกมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล และเปิดโอกาสให้กับกลุ่มนักศึกษามุสลิม คณาจารย์ และบุคลากรในรั้วมหาวิทยาลัยสามารถปฏิบัติศาสนกิจได้ อีกทั้งยังให้สถานที่ในการจัดทำละหมาดขนาดกว่า 200 คนในรั้วมหาวิทยาลัย มีห้องปฏิบัติงานของศูนย์ภาษาอาหรับกรุงเทพ และอื่น ๆ วิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ จึงกลายเป็นสถาบันการศึกษาทางเลือกที่ตอบโจทย์กับกลุ่มนักศึกษาไทยมุสลิมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่สำคัญ การจัดงานในครั้งนี้ยิ่งเห็นว่ามีเพื่อนร่วมงานมาร่วมกิจกรรม One day fasting in Ramadan ถึง 10 คน ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายที่ได้ตั้งใจไว้ ยิ่งทำให้เรามั่นใจถึงการเปิดใจเรียนรู้ความแตกต่างระหว่างกันและเห็นถึงมิติของการอยู่ร่วมกันท่ามกลางวัฒนธรรมที่หลากหลายในรั้วมหาวิทยาลัยอย่างแท้จริง


.
ในช่วงท้ายของการจัดงานละศิลอด ได้มีการจัดเสวนาพิเศษเรื่อง “การถือศีลอดกับมิติทางการแพทย์” โดยมีร่วมให้ความรู้ 2 ท่าน นายแพทย์วิรุฬห์ พรพัฒน์กุล ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลเอกชล 2 และนักศึกษาปริญญาเอกรุ่นที่ 1 สาขาวิชาบริหารธุรกิจอิสลาม และ ดร.อัชอารีย์ สุขสุวรรณ หัวหน้างานวิจัยและนวัตกรรม ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้ให้ความรู้ด้านการแพทย์กับการถือศิลอดว่า การถือศิลอดเป็นกลไกของร่างกายในการช่วยปรับลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดคอเลสเตอรอล และลดความดันโลหิตสูงสุด ทำให้ร่างกายสะอาด และช่วยให้ร่างกายบำบัดตนเองไปในตัว ดังนั้นการถือศิลอดอย่างถูกวิธีจะช่วยในเรื่องของการรักษาสุขภาพกายและสุขภาพจิตไปพร้อม ๆ กัน