“ปราโมทย์ ศรีอุทัย” โต้ “อามีน ลอนา”มุสลิมขายข้าวให้คนพุทธนำไปใส่บาตรได้หรือไม่

ปราโมทย์ ศรีอุทัย ได้เขียนบทความตอบโต้ “อามีน ลอนา”มุสลิมขายข้าวให้คนพุทธนำไปใส่บาตรได้หรือไม่

ปราโมทย์ ศรีอุทัย ได้โพสตฺในเฟสบุค ระบุว่า ได้ตอบคำถามเรื่องมุสลิมขายอาหารให้แก่ชาวไทยพุทธเพื่อนำไปใส่บาตรให้พระไปนานพอสมควรแล้ว และผมก็ปล่อยเรื่องนี้ให้เป็นดุลยพินิจของท่านผู้อ่านและนักวิชาการจะวินิจฉัยกัน เพราะผมก็ไม่ได้ฟันธงเลยว่าคำตอบของผมคือข้อชี้ขาด ห้ามใครเห็นต่างเป็นอันขาด

แต่ก็ยังมีบางคนที่มีความเชื่อส่วนตัวว่า “พื้นฐาน” การใส่บาตรของชาวพุทธเป็นชิริก ..ได้นำเอาคำตอบอันเป็น “ข้อวินิจฉัย” (มิใช่หลักฐาน) ของอาจารย์บางท่าน (ขออภัยที่ต้องเอ่ยชื่อท่าน คือ ท่าน อ. อามีน ลอนา) ที่ “มองต่างมุม” กับผมในเรื่องนี้ มา ตัดสินในลักษณะว่า คำตอบของ อ.อามีนเท่านั้นคือข้อชี้ขาดของปัญหานี้

1377248_1618479368434904_340954331664415686_n
ปราโมทย์ ศรีอุทัย


เขาทราบหรือเปล่าว่า การทำธุรกิจหรือการปฏิบัติบางประการหรือหลายประการกับคนต่างศาสนาในสิ่งที่มุสลิมถือว่าหะรอม แต่คนต่างศาสนาถือว่า ฮาล้าล(สำหรับเขา) – อย่างเช่นกรณีการให้อาหารกาเฟรฺนำไปรับประทานในเดือนรอมะฎอน – นักวิชาการยังขัดแย้งกันว่า จะทำได้หรือทำไม่ได้

เรื่องการขายอาหารให้ชาวพุทธนำไปใส่บาตรพระก็คล้ายๆกันนี่แหละ …

เมื่อเป็นปัญหาขัดแย้งและไม่มีหลักฐานชัดเจนใดๆ (نَصٌّ صَرِيْحٌ) จะมาชี้ขาด แล้วเราจะเอาอะไรมา “ฟันธง” ว่า ทัศนะนั้นทัศนะนี้เท่านั้นที่ถูกต้อง …

นอกจากเป็นการกล่าวไปตามอารมณ์หรือความเชื่อส่วนตัวเองเท่านั้น ..

สิ่งนี้ นักวิชาการจริงๆ – โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักวิชาการในสมัยอดีต – จะไม่กระทำกัน

ยิ่งไปกว่านั้น บางอย่างที่เขานำมาตั้งเป็นคำถาม – อันเป็นเรื่องชิริกที่ “ชัดเจน” อยู่แล้ว – ก็เป็นเรื่องไม่น่าจะนำมาถาม ถ้าเพียงแต่เขาจะอ่านข้อเขียนของผมทั้งหมดอย่างละเอียด, ใคร่ครวญ และเข้าใจ ไม่ใช่อ่านเพียงผิวเผิน …

เพราะสิ่งที่เขาถาม ก็เป็นสิ่งที่คล้ายคลึงกับสิ่งที่ผมเขียนตอบไปก่อนแล้วว่า ทำไม่ได้ …

อย่างเช่น เขาเขียนถามเรื่องถ้ามีคนไทยพุทธมาซื้อแกงหรือซื้อต้นกล้วยเพื่อนำไปไหว้เจ้าที่เจ้าทางอันเป็นชิริก จะขายให้ได้กระนั้นหรือ ? … …

กรณีที่คล้ายคลึงกันนี้ ผมก็เขียนตอบมาก่อนแล้วมิใช่หรือว่า …
“ข้อนี้ (เรื่องชาวบ้านที่เป็นคนพุทธใส่บาตรเพื่อให้พระนำไปรับประทาน) ต่างกับการที่เราเชือดเป็ดหรือไก่ แล้วนำไปขายให้แก่คนต่างศาสนิก ที่เรา “รู้ชัดเจนแล้ว” ว่าเขาจะนำเป็ดหรือไก่นั้นไปเส้นไหว้ดวงวิญญาณของบรรพบุรุษหรือบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของเขา อันนี้ผมก็เห็นด้วยกับทัศนะที่ว่ามุสลิมขายให้ไม่ได้ ……..”

อามีน ลอนา
อามีน ลอนา

ปัญหาในกรณีคำตอบของผมที่ว่าขายอาหารให้ชาวพุทธนำไปใส่บาตรได้ (ภายใต้เงื่อนไขที่ผมอธิบายไว้ชัดเจนแล้วและจะขออนุญาตนำมากล่าวซ้ำอีกตอนหลัง) จึงอยู่ภายใต้ปัญหาหรือคำถามที่ว่า …

พื้นฐานการใส่บาตรของชาวพุทธ เป็น “ชิริก” ในตัวของมันเองหรือไม่ ? …

ถ้าใช่ เราก็ร่วมมือไม่ได้โดยไม่มีเงื่อนไข …

แต่ถ้าไม่ใช่ เราก็สามารถร่วมมือได้ภายใต้เงื่อนไข …

ประเด็นนี้สำคัญที่สุด จึงควรทำความเข้าใจให้ช้ดเจนก่อนจะนำไปหุก่มหรือวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ …

ก่อนจะให้คำตอบในเรื่องนี้ ผมขออธิบายเกี่ยวกับเรื่อง “หุก่ม” ของอิสลามก่อน เพื่อให้นำไปเปรียบเทียบกับเรื่องนี้ ดังนี้ …

หุก่มในเรื่องคำห้าม- คำใช้ของอิสลาม จะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะคือ หุก่มตะอับบุดียะฮ์ (حُكْمٌ تَعَبُّدِىٌّ) และหุก่มตะอักกุลียะฮ์ (حُكْمٌ تَعَقُّلِىٌّ) …

1. حُكْمٌ تَعَبُّدِىٌّ คือหุก่มที่เราไม่สามารถจะใช้สติปัญญาของ
เราหาเหตุผลได้ว่า ที่ใช้หรือห้ามอย่างนั้น เพราะอะไร ? … หน้าที่
ของเราจึงมีเพียงปฏิบัติตามคำสั่งใช้หรือห้ามนั้นโดยดุษฎีเท่านั้น …

ตัวอย่างเช่น การที่ท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ห้ามอ่านอัล-กุรฺอานในรุกั๊วะอฺและในสุญูด …

ทั้งๆที่การอ่านอัล-กุรฺอานก็เป็นซิกรุลลอฮ์ที่ดีเลิศที่สุด และการรุกั๊วะอฺและสุญูดก็เป็นอริยาบถที่นอบน้อมที่สุดเท่าที่บ่าวพึงปฏิบัติต่อผู้เป็นนาย …

แล้วทำไม ท่านศาสดาจึงห้ามอ่านอัล-กุรฺอานซึ่งเป็นสิ่งดีในขณะรุกั๊วะอฺและสุญูดซึ่งเป็นอริยาบถที่ดี ? ..

สิ่งนี้เราไม่สามารถอธิบายเหตุผลได้เลยว่าเพราะอะไรถึงห้าม นอกจากปฏิบัติตามเพียงอย่างเดียว …

2. حُكْمٌ تَعَقُّلِىٌّ คือหุก่มที่เราสามารถเข้าใจหรือชี้แจงเหตุผล
ได้ว่า ที่ใช้หรือห้ามนั้น เพราะเหตุผลอะไร …

ตัวอย่างเช่น การที่ท่านศาสดาห้ามบุคคลในท้องถิ่นที่กำลังมีโรคระบาดเดินทางออกภายนอก และห้ามบุคคลภายนอกเดินทางเข้าไปในท้องถิ่นที่กำลังมีโรคระบาด …

การห้ามในกรณีนี้ เป็นสิ่งที่เราสามารถเข้าใจเหตุผลได้ นั่นคือเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคนั้นไม่ให้ลุกลามหรือขยายตัวสู่ภายนอก ..
สำหรับเรื่องการใส่บาตรของชาวพุทธ ก็จัดเข้าอยู่ในหลักการดังที่กล่าวมานี้
คือมีทั้งที่เป็น حُكْمٌ تَعَبُّدِىٌّ และที่เป็น حُكْمٌ تَعَقُّلِىٌّ …

การที่พระพุทธเจ้าวางกฎห้ามพระสงฆ์หุงอาหารเอง และห้ามพระสงฆ์เก็บอาหารไว้ค้างคืนเพื่อรับประทานในวันรุ่งขึ้น ถือเป็น حُكْمٌ تَعَبُّدِىٌّ คือเป็นอิบาดะฮ์สำหรับชาวพุทธ เพราะเราไม่สามารถทราบเหตุผลได้ว่า เพราะอะไร พระพุทธเจ้าจึงได้วางกฎไว้อย่างนี้ …

ส่วนการที่พระพุทธเจ้าสั่งให้ชาวบ้านนำอาหารมาใส่บาตรให้พระสงฆ์ “ทุกเช้า – ทุกเช้า” นั้น ถือเป็น حُكْمٌ تَعَقُّلِىٌّ คือ เราสามารถทราบเหตุผลได้ว่า ที่ให้นำอาหารมาใส่บาตรให้พระก็เพื่อพระจะได้นำไปรับประทานเพื่อสามารถดำรงชีพอยู่ต่อไปได้ มิฉะนั้นพระสงฆ์ก็จะอดอาหารตาย …

ดังนั้น “พื้นฐาน” ของการใส่บาตรให้พระของชาวพุทธ จึง มิใช่เป็น حُكْمٌ تَعَبُّدِىٌّ .. คือมิใช่เป็นอิบาดะฮ์หรือพิธีกรรมที่ “ไม่สามารถรู้เหตุผลได้”

และมิได้เป็นชิริก (สำหรับมุสลิม เรา) ในตัวของมันเอง อย่างความเข้าใจของพวกเราบางคน …

แต่เป็น عَادَةٌ คือประเพณีหรือวิถี ชีวิตประจำวันของชาวพุทธ

แต่มันจะกลายเป็นอิบาดะฮ์(สำหรับชาวพุทธ) และชิริก (สำหรับมุสลิมเรา) ก็ต่อเมื่อมีความเชื่อหรือการกระทำอย่างอื่นเข้ามาประกอบขณะใส่บาตรด้วย …

เช่นมีความเชื่อว่าขณะใส่บาตรว่า อาหารที่ใส่บาตรไปนั้นจะถึงไปยังวิญญาณญาติพี่น้องที่ตายด้วย, หรือก่อนจะใส่บาตร เขาจะเอาอาหารนั้นวางจบบนศีรษะแล้วอธิษฐาน, หรือขณะพระภิกษุให้พร ผู้ใส่บาตรจะกรวดน้ำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว …

เมื่อนั้น การใส่บาตรจึงจะกลายเป็นอิบาดะฮ์สำหรับชาวพุทธ และเป็นชิริกสำหรับมุสลิมทันที …

ผมจึงไม่เห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่า การใส่บาตรเป็นอิบาดะฮ์ของชาวพุทธมาตั้งแต่ต้น, เป็นชิริก, และห้ามมุสลิมขายอาหารให้ชาวพุทธนำไปใส่บาตรโดยไม่มีข้อแม้หรือเงื่อนไขใดๆ

และ .. คำตอบเรื่องการขายอาหารให้ชาวพุทธนำไปใส่บาตรนี้ ผมก็มิได้ตอบเลยว่า ขายให้ได้โดยปราศจากเงื่อนไข แต่ผมตอบว่าขายได้ ภายใต้เงื่อนที่ผมกล่าวไว้แล้วคือ .. “ถ้าชาวพุทธที่ซื้ออาหารไป นำอาหารนั้นไปให้แก่พระภิกษุด้วยการใส่บาตร เพื่อให้นำไปรับประทาน(ฉัน)เป็นการประทังชีพอย่างเดียว โดยไม่มีความเชื่อและภาคปฏิบัติที่ค้านต่อหลักการอิสลามเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยในขณะใส่บาตร” …

อ่านคำตอบของผมช้าๆและใคร่ครวญซิครับ อย่าอ่านเผินๆหรือลวกๆ …

โดยเฉพาะตอนท้ายที่ผมเขียนว่า “เพื่อให้นำไปรับประทานเป็นการประทังชีพอย่างเดียวโดยไม่มีความเชื่อและภาคปฏิบัติที่ค้านต่อหลักการอิสลามเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยในขณะใส่บาตร”

ถ้าชาวพุทธคนใดที่ซื้ออาหารไปใส่บาตรปฏิบัติได้ตามเงื่อนไขที่กล่าวมานี้ แล้วมีนักวิชาการท่านใดยังยืนยันว่า ขายให้ไม่ได้ ผมก็ขอหลักฐาน ? …

หลักฐานที่ผมขอ อาจจะเป็นหลักฐานจากหะดีษก็ได้, หรือหลักฐานจากคำตอบของนักวิชาการระดับโลกท่านใดก็ได้ที่ตอบคำถามดังที่มีคนถามผมมาในกรณีนี้ แล้วนักวิชาการระดับโลกท่านนั้นตอบว่า ขายให้ไม่ได้โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆทั้งสิ้น …

ถ้าท่านหามาได้ ผมก็พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงคำตอบของผม …
แต่ไม่ใช่หลักฐานจาก “ความคิด, ความเข้าใจ หรือมุมมองของตัวเอง” มาฟันธง เพราะคำตอบของผมในเรื่องนี้มิใช่เป็นการนั่งเทียนตอบ แต่ผมอาศัย “หลักวิชาการ” เช่นเดียวกัน …

นอกจากนั้น การทำธุรกิจหรือการปฏิบัติบางประการกับคนต่างศาสนาในสิ่งที่มุสลิมถือว่าหะรอม แต่คนต่างศาสนาถือว่า ฮาล้าล(สำหรับเขา) .. นักวิชาการยังขัดแย้งกันว่า จะทำได้หรือทำไม่ได้ .. ดังได้กล่าวมาแล้ว …

ท่านมีสิทธิ์มั่นใจในมุมมองของท่านและผมก็มีสิทธิ์มั่นใจในมุมมองของผม ตราบใดที่เราทั้งสองฝ่ายไม่สามารถหา نَصٌّ صَرِيْحٌ (หลักฐานที่ชัดเจน) มาตัดสินได้ …

ส่วนมุมมองใครจะผิดจะถูก .. พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. เท่านั้นที่ทรงทราบ …

หมายเหตุ ..

ผมยังเขียนต่อไปอีกมิใช่หรือครับว่า …

ส่วนในกรณีที่ผู้ขายอาหาร “มั่นใจหรือรู้แน่ชัด” ว่า ชาวพุทธที่ซื้ออาหารไปเพื่อใส่บาตรให้พระภิกษุนั้น มีการปฏิบัติหรือมีความเชื่อดังข้างต้น เช่นเชื่อว่า อาหารที่ใส่บาตรไปนั้นจะถึงไปยังวิญญาณญาติพี่น้องที่ตายด้วย, หรือก่อนจะใส่บาตร เขาจะเอาอาหารนั้นวางจบบนศีรษะแล้วอธิษฐาน หรือขณะพระภิกษุให้พร ผู้ใส่บาตรจะกรวดน้ำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับ …

อย่างนี้ ผมเห็นว่า เราจะขายอาหารให้ไม่ได้ …..
และ .. ผมยังกล่าวต่อไปอีกว่า …

หรือถ้าเรา(ผู้ขายอาหาร) “ค่อนข้างมั่นใจ, สงสัย หรือเกรง” ว่า ผู้ซื้อจะมีการปฏิบัติข้อใดข้อหนึ่งจาก 3 ประการนั้น ทางที่ดีเราก็ควร “ระงับ” จากการขายให้ เพื่อหลีกเลี่ยงจากการกระทำสิ่งชุบฮาต (คือสงสัยหรือคลุมเคลือว่าทำได้หรือไม่) .. ดังคำสั่งของท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ..

คำตอบนี้ของผม ท่านอ่านละเอียดและทำความเข้าใจแล้วยัง ?.. หรือยังไม่ได้อ่านเลย ? …

สรุปแล้ว เงื่อนไขของผมที่ว่าขายให้ได้ สำหรับชาวพุทธคงเป็นเรื่องยากในทางปฏิบัติของพวกเขา ซึ่งหากเขาปฏิบัติไม่ได้ เราก็ขายอาหารให้ไม่ได้ ดังที่อธิบายมาแล้ว ..
.
ข้อเปรียบเทียบในเรื่องนี้ก็คล้ายๆกับที่นักวิชาการหะดีษอนุโลมให้นำหะดีษเฎาะอีฟน้อยมาปฏิบัติในเรื่องฟะฎออิลุ้ลอะอฺมาลได้นั่นแหละ เพราะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขสำคัญ 4 ประการ ซึ่งตามข้อเท็จจริงแล้ว การปฏิบัติตามเงื่อนไขทั้ง 4 ประการนี้เป็นเรื่องยากหรือแทบจะทำไม่ได้เลย …

เพราะฉะนั้น ข้ออนุโลมให้ขายอาหารให้ชาวพุทธนำไปใส่บาตรได้ภายใต้เงื่อนไขที่ผมกล่าวไว้ และกรณีการนำหะดีษเฎาะอีฟน้อยมาปฏิบัติได้ภายใต้เงื่อนไขที่นักวิชาการกำหนดไว้นี้ ถ้าพิจารณาด้วยใจเป็นธรรม ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เหมือนกับเป็นการ “ตีกัน” ทางอ้อมนั่นเอง …

และสุดท้าย ผมก็ขอเรียนให้ท่านผู้อ่านทุกท่านทราบว่า …

ท่าน อ. อามีน ลอนากับผม สนิทสนมกันมาก .. หรืออีกนัยหนึ่ง ท่านเปรียบเสมือนลูกชายของผม, น้องชายของผม หรือศิษย์ของผมคนหนึ่ง มีอะไรท่านก็ไลน์หรือโทรฯมาปรึกษาผมอยู่เสมอ …
การเห็นต่างกันในเรื่องใดๆระหว่างพ่อกับลูก, พี่กับน้อง หรือศิษย์กับอาจารย์ มิใช่เรื่องใหม่และมิใช่เรื่องแปลก แต่มันมีมาแล้วตั้งแต่อดีต …

เช่น ความเห็นต่างในหลายๆเรื่องระหว่างท่านอิหม่ามชาฟิอีย์กับท่านอิหม่ามมาลิก ซึ่งทั้งสองท่านเป็นศิษย์กับอาจารย์กัน ..

หรือความเห็นต่างระหว่างท่านอิหม่ามอะห์มัดกับท่านอิหม่ามชาฟิอีย์ ซึ่งเป็นศิษย์กับอาจารย์กัน ก็เช่นเดียวกัน …

มิใช่เพียงเรื่องนี้เท่านั้นที่ผมกับ อ. อามีนเห็นต่างๆกัน แต่อาจจะมีเรื่องอื่นๆอีกก็ได้

ความเห็นต่างเรื่องวิชาการ เป็นเรื่องปกติที่มีมาทุกยุคทุกสมัยแล้ว …

ทว่า .. ในด้านส่วนตัว ผมเชื่อว่าไม่มีอะไรจะมาทำลายความสัมพันธ์, ความรักใคร่ห่วงใยและความเคารพนับถือที่เรามีต่อกันได้ อินชาอัลลอฮ์ …