จู่ๆ “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ก็ลุกขึ้นมายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ให้ตรวจสอบคุณสมบัติของ “นิพนธ์ บุญญามณี” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ว่าขาดคุณสมบัติในการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.หรือไม่ พร้อมยกเหตุรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สั่งให้พ้นจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาขึ้นมาเป็นเหตุ โดยขาดการตรวจสอบในเชิงลึก ติดกับดัก “ไซแห้ง” ของ”นิพนธ์”
นักร้องชื่อดัง “เรืองไกร” ร้องค้าน “นิพนธ์” ว่า เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 หรือไม่ และขอให้ตรวจสอบว่า พรรคประชาธิปัตย์กระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 50 มาตรา 51 มาตรา 55 มาตรา 117 หรือไม่
โดย “เรืองไกร” ระบุในหนังสือร้องเรียนว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 บัญญัติว่า บุคคลผู้มีลักษณะต้องห้าม มิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ นอกจากนั้น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 50, 51 และ 55 ยังกำหนดให้ คณะกรรมการบริหารพรรคพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคล ที่จะเสนอเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง
รวมทั้งห้ามมิให้ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด หัวหน้าสาขาพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคการเมือง ผู้ใดยินยอมให้บุคคลใดที่มิได้เป็นสมาชิกของพรรคการเมืองเข้าแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมหรือให้ความเห็นชอบไม่ให้ความเห็นชอบในการดำเนินการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ขณะที่มาตรา 117 ระบุว่า หัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมือง หัวหน้าสาขาพรรคการเมือง หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 52 หรือมาตรา 55 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน และปรับไม่เกิน 10,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี จากเหตุดังกล่าวจึงขอคัดค้านนายนิพนธ์ ผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 5 ของพรรคประชาธิปัตย์ ว่าเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกดั้งตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 หรือไม่ และขอให้ กกต. รวมทั้งนายทะเบียนพรรคการเมือง ตรวจสอบว่า คำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 1528/2564 ยังมีผลอยู่และมิได้ถูกยกเลิก
นักร้องอย่าง “เรืองไกร” น่าจะก้าวพลาดแล้ว จาดการตรวจสอบข้อมูลในเชิงลึกที่มากกว่าคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งของรัฐมนตรีมหาดไทย เพราะหลังจากถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่งแล้ว “นิพนธ์”ได้ไปฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลาง และศาลปกครองกลางสั่งคุ้มครองชั่วคราวแล้ว
“นิพนธ์”ออกมาโต้เดือด พร้อมเตือนระวังเข้าข่ายใส่ร้ายป้ายสี โดย ยืนยันได้ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคุณสมบัติไปยังประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งและกรรมการอีก 5 ท่านแล้วเมื่อที่ 4 เม.ย.66 ที่ผ่านมา โดยได้ชี้แจงกกต.ดังนี้
1. กระทรวงมหาดไทย มีคำสั่งที่ 1524/ 2564 ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2564 ให้นายนิพนธ์ บุญญามณี พ้นจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ในวาระการดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2556 ถึงวันที่ 27 มิถุนายน 2562
2. เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 ข้าพเจ้าได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ) ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวเป็นคดีหมายเลขดำที่ 1314/2565 โดยมีคำร้องขอทุเลาการบังคับคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ซึ่งข้าพเจ้าได้ระบุในคำขอทุเลาไว้อย่างชัดเจนว่า ถ้าให้คำสั่งของกระทรวงมหาดไทยในข้อ 1 มีผลบังคับใช้ต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้ฟ้องคดี เนื่องจากแม้ปัจจุบันผู้ฟ้องคดีได้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยแล้ว
3.เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2566 ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 1528/2564 ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2564 เรื่อง ให้นายนิพนธ์ บุญญามณี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา พ้นจากตำแหน่งในวาระการดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม2556 ถึงวันที่ 27 มิถุนายน 2562 ไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น อันมีผลเป็นการชะลอหรือระงับการบังคับตามผลของคำสั่งทางปกครองไว้เป็นการชั่วคราวตามข้อ 72 วรรคสาม และข้อ 69 วรรคสอง ระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 ทั้งนี้ ศาลได้วินิจฉัยถึงเงื่อนไขในการที่ศาลปกครองจะมีอำนาจออกคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง ตามคำขอของข้าพเจ้า (ผู้ฟ้องคดี)สรุปความได้ว่า เงื่อนไขประการที่หนึ่ง คำสั่งกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย และในเงื่อนไขประการที่สองว่า คำสั่งกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว มีผลกระทบต่อคุณสมบัติของผู้ฟ้องคดีในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การที่ผู้ฟ้องคดีขาดคุณสมบัติสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น เป็นกรณีที่จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้ฟ้องคดีจนยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลังได้ ดังนั้น การให้คำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 1528/2564ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2564 ที่สั่งให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลามีผลใช้บังคับต่อไป จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้ฟ้องคดีจนยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง
4.การที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 1528/2564 ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2564 ทำให้คำสั่งกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวสิ้นผลลงโดยเหตุอื่น ตามมาตรา 42 วรรคสอง พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 และมีผลทำให้ข้าพเจ้ามิใช่บุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อีกต่อไป
5.เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 กระทรวงมหาดไทย(ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ได้ทำคำชี้แจงกรณีที่ข้าพเจ้าได้ยื่นคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง (ครั้งที่ สาม ต่อศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขดำที่ 1314/2564 รายละเอียดสรุปความได้ว่าการออกคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 1528/2564 ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2564 ที่ให้นายนิพนธ์ บุญญามณี พ้นจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาฯ น่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายตามแนวคำวินิจฉัยคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 581/2565 จึงยอมรับและไม่คัดค้านคำขอทุเลาตามคำสั่งทางปกครองของข้าพเจ้า
“…การที่ผู้ฟ้องคดีขาดคุณสมบัติสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น เป็นกรณี ที่จะทําให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้ฟ้องคดีจนยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลังได้ ดังนั้น การให้คําสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 1528/2564 ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2564 ที่สั่งให้ ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตําแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา มีผลใช้บังคับต่อไปจะทําให้ เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้ฟ้องคดีจนยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง…” นี้เป็นคำพิพากษาศาลปกครองกลาง
จากข้อเท็จจริงที่กล่าวมาข้างต้น เมื่อศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น ซึ่งคำสั่งของศาลปกครองกลางมีผลคุ้มครองทันทีจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
“นิพนธ์” กล่าวย้ำว่า “เรืองไกร” อาจจะมีความผิดเข้าข่ายใส่ร้ายป้ายสีในช่วงเลือกตั้ง “ขอเตือนไปยังคุณเรืองไกรด้วยว่า คุณก็เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคพลังประชารัฐ มีเจตนาเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จผ่านสื่อ อาจเข้าข่ายการใส่ร้ายป้ายสีในช่วงเลือกตั้งเป็นโทษทางอาญา”
เคยมีบทเรียนมามากแล้วกับการปราศรัย ให้สัมภาษณ์ เปิดเผยข้อมูลอันเป็นเท็จ ใส่ร้ายป้ายสีคู่แข่งทางการเมือง ศาลสั่งลงโทษมากมากแล้ว และบางคนถึงขั้นถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองก็มี
งานนี้นักร้องดัง “เรืองไกร” อาจจะพลาด ขาดการตรวจสอบข้อมูลในเชิงลึก อนาคตอาจจะถึงขั้น “กราบกราน” ของโทษ แต่โทษทาง “อาญา” มิอาจละเว้นได้ !
#นายหัวไทร