อินทผาลัม ชื่อในภาษาอังกฤษคือ Date (เดต) ภาษาอาหรับคือ تمر (ตัมรฺ) คำว่าอินทผาลัมในภาษาไทยมีความหมายว่าผลไม้ของพระอินทร์ ท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) เองเคยกล่าวเช่นกันว่าอินทผาลัมนับเป็นผลไม้จากสรวงสวรรค์ อินทผาลัมเป็นผลไม้รสชาติหวาน มีปริมาณน้ำค่อนข้างต่ำ จึงมีลักษณะแห้งพอควร ในประเทศไทยยุคก่อนนำเข้าอินทผาลัมจากโลกอาหรับ และตะวันออกกลาง ขายดิบขายดีช่วงเดือนรอมฎอน มายุคหลังนี่แหละที่เห็นอินทผาลัมปลูกกันทั่วไปในประเทศไทย แม้รสชาติไม่หวานอร่อยเท่าอินทผาลัมจากอาหรับ แต่ก็หวานพอใช้
คุณค่าเด่นของอินทผาลัมคืออุดมไปด้วยสารไฟโตนิวเทรียนท์ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เป็นสารที่เอาไว้ใช้ต่อสู้ต้านทานโรค โดยอินทผาลัมมีสารต้านอนุมูลอิสระปริมาณมาก หากเทียบกับผลมะเดื่อและลูกพลัมน้ำหนักเท่าๆกัน อินทผาลัมมีสารต้านอนุมูลอิสระสูงที่สุด ไฟโตนิวเทรียนท์ในอินทผาลัม อย่างเช่น แคโรตินอยด์ แทนนิน สเตอรอล ทั้งมีโพลีฟีนอลหลายชนิด ได้แก่ กรดฟีนอลิก ไอโซฟลาโวน ลิกแนน ฟลาโวนอยด์ สารฟลาโวนอยด์มีประสิทธิภาพในการลดภาวะอักเสบ ลดความเสี่ยงของเบาหวาน อัลไซเมอร์ และมะเร็งบางชนิด ทั้งมีสารแคโรทีนอยด์ส่งเสริมสุขภาพของหัวใจ อาจลดความเสี่ยงของความผิดปกติเกี่ยวกับดวงตา อย่างเช่น จอประสาทตาเสื่อม กรดฟีนอลิกช่วยต้านการอักเสบ มีฤทธิ์ที่อาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งและโรคหัวใจได้ด้วย
งานวิจัยทางการแพทย์ระยะหลังพบว่าอินทผาลัมอาจส่งเสริมสุขภาพสมองโดยช่วยให้การทำงานของสมองดีขึ้นการศึกษาในห้องปฏิบัติการพบว่าอินทผาลัมให้ประโยชน์โดยช่วยลดสารบ่งชี้การอักเสบ เช่น อินเตอร์ลิวคิน 6 (IL-6) ในสมอง นักวิชาการรู้ว่าระดับ IL-6 ที่สูงสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นของโรคเกี่ยวกับความเสื่อมของระบบประสาท เช่น อัลไซเมอร์ การศึกษาอื่นๆ รวมทั้งการศึกษาในสัตว์ยังแสดงด้วยว่าอินทผาลัมมีประโยชน์ในการลดการทำงานของโปรตีนอะมีลอยด์เบต้า ซึ่งสามารถสร้างคราบโปรตีนในสมองที่ส่งผลรบกวนการสื่อสารระหว่างเซลล์สมอง อันอาจนำไปสู่การตายของเซลล์สมอง ก่อให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ได้ในที่สุด
ในการศึกษาในสัตว์พบว่าหนูที่กินอาหารผสมอินทผาลัมมีความจำและความสามารถในการเรียนรู้ที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด รวมถึงมีพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับความวิตกกังวลน้อยกว่าเมื่อเทียบกับหนูที่ไม่ได้กินอินทผาลัม คุณสมบัติในการกระตุ้นสมองที่เป็นไปได้ของอินทผาลัมนั้นมาจากปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระที่ทราบกันดีว่าลดการอักเสบ รวมถึงฟลาโวนอยด์ งานวิจัยด้านผลของอินทผาลัมต่อสมองกำลังได้รับรับความสนใจมากขึ้นในปัจจุบัน
จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันบทบาทของอินทผลัมต่อสุขภาพสมอง
บทความโดย ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย