“พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” โชว์วิสัยทัศน์ ตลาดทุนไทย ดันพักหนี้ 3ปี หยุดต้น ปลอดดอกเบี้ย คนละไม่เกิน1ล้านบาท เพื่อให้โอกาสทุกคนเดินไปข้างหน้า เชื่อเมกกะโปรเจค “แลนด์บริดจ์” ชุมพร ระนอง ขนถ่ายสินค้า สร้างมูลค่าเพิ่มให้ตลาดทุนไทย
วันที่ 25 มีนาคม 2566 นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ผู้อำนวยการการเลือกตั้งกรุงเทพฯ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ได้เข้าร่วมแสดงวิสัยทัศน์ เรื่อง นโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และตลาดทุนไทย ภายใต้รัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ณ หอประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยกล่าวว่า 3-4 ปีที่ผ่านมา เราต้องยอมรับว่า ไม่ว่าใครจะทำธุรกิจอะไรก็ตาม ปัญหาหลักของทุกอุตสาหกรรมไม่ว่าจะขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ คือเรื่องหนี้สิน เมื่อพูดถึงภาพรวมของเศรษฐกิจประเทศ การจะทำนู่นทำนี้ จะเดินหน้าเศรษฐกิจอย่างไรก็ได้ มันยังทำไม่ได้ ถ้าครึ่งหนึ่งของคนในประเทศ 11.6 ล้านครัวเรือนยังเป็นหนี้อยู่ในขณะนี้ จะเดินหน้าเศรษฐกิจยังไง ต้องปลดล็อก และช่วยดูแลคน 11.6 ล้านครัวเรือนนี้ให้ปลอดจากหนี้ หรือแบ่งเบาภาระผ่อนปรนภาระหนี้สินของเขาให้ได้ก่อน“สมมุติว่าจากนี้ไป วันนี้เศรษฐกิจดีขึ้น ซึ่งเห็นว่ามันดีขึ้น แต่ถามว่า พวกเขาที่เคยเดือดร้อนมาตลอด 3-4 ปี จะเดินหน้าหาธุรกิจของเขายังไง เดินไปกู้เงินแบงค์ก็ไม่ได้ เพราะหนี้สินก็ยังมีอยู่ ต้นก็ไม่ได้จ่าย ดอกก็ยังไม่มีจ่าย แล้วถ้าไม่จ่ายก็โดนแบล็คลิสต์ เครดิตบูโรก็ขึ้นบัญชี ก็ยิ่งเป็นภาระของสังคม ภูมิใจไทย มีความรู้สึกว่าถ้าเราไม่แก้ปัญหาจุดนี้ก่อน โดยการนำเสนอในเรื่องของการพักหนี้ ทั้งต้น ทั้งดอก 3 ปี เราไม่ได้บอกว่าเราให้เปล่า หรือยกหนี้ให้เลย วินัยการเงินการคลังจบไปเลย ไม่ใช่ เราบอกว่า 3 ปีนี้ เป็น 3ปี ที่ทุกคนที่มีหนี้ในระบบ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์ ไฟแนนซ์ ก็ออกมาตรการขยายเวลาในการผ่อนชำระ โดยที่ถ้าไม่ชำระ ไม่ไปติดแบล็คลิสต์ 3 ปี ธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง สามารถที่จะได้มีเวลาในการที่จะไปแปรรูป ปรับปรุงดูแลโครงสร้าง ปรับปรุงบริษัทของตัวเอง 3ปี กลับมายืนได้ แล้วก็กลับไปชำระหนี้สินครั้งต่อไป แล้วอย่างนี้เศรษฐกิจต่างๆของประเทศที่จะเดินต่อไปในระดับมหภาคก็จะเดินได้”เรื่องที่สอง พูดถึงเรื่องนโยบายประชานิยม ให้ลดแลก แจก แถม ให้มากให้น้อย ค่าแรงบ้างอะไรบ้าง หลักการวันนี้ให้แล้วก็หมด ภูมิใจไทย คิดว่า ถ้าเกิดเราจะให้ ยกตัวอย่าง เราเปิดเครดิตให้คนไทย 2,000 บาททุกคน ใครจะใช้ก็ได้ มีเครดิต 2,000 บาท ให้เขาได้เอากลับมากระตุ้นหรือมาเสริมทักษะ สร้างความชำนาญ หรืออะไรที่ทำให้เขาอยู่ต่อได้ เมื่อใช้แล้วก็ต้องทยอยผ่อน ซึ่งชาวบ้านตาดำๆ 2,000 บาทมีค่ากับเขามาก นายพุทธิพงษ์ กล่าว
สำหรับเรื่องของตลาดทุนที่เกี่ยวข้องกับนักลงทุนหรือประชาชนคนหนึ่งที่ได้เฝ้ามองตลาดทุนมาโดยตลอดหลายๆ ปี ไม่ว่าตลาดทุนหรือว่าตลาดหลักทรัพย์ที่เกิดขึ้นแล้ว ทำมาตั้งแต่ SET – MAI และวันนี้จะมีกระบวนการในการทำเรื่อง Life Exchange ที่ได้มาดูแลในเรื่องของกลุ่ม Startup ในกลุ่มที่เป็น SME ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ดีก็ต้องขอบคุณตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอบคุณ ก.ล.ต.ที่ผลักดันในเรื่องแบบนี้
“ทุกคนพูดเหมือนกันว่า รายใหญ่ๆ รายเล็กๆ จริงๆ ไม่ได้ต่างกันมันอยู่ที่ capacity กับความกระทบหรือผลกระทบที่ได้รับนั้นเป็นอย่างไร ตัวเล็กๆ ก็เจ็บแบบเล็กๆ ตัวใหญ่ๆ ก็เจ็บแบบใหญ่ๆ อย่าไปมองว่ารายใหญ่เขาไม่เจ็บ เขาก็เจ็บเหมือนกัน ผมว่าถ้าเรามองโลกแบบนี้แล้ว เราผลักดันมองในมิติของตลาดทุนแบบนี้ คิดว่าจะช่วยทุกคนได้”นายพุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า กระบวนการของตลาดทุน สิ่งแรกคือเรื่องความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ มิติของการที่เราจะผลักดันให้เกิดการลงทุนในประเทศคือ ความเชื่อมั่นของประเทศ หลายๆ เรื่องที่บางคนติดข้อจำกัดในเรื่องของการเข้าสู่ตลาดทุน ทำไมสตาร์ทอัพบริษัทใหม่ๆ ถึงต้องไปจดทะเบียน และพยายามไปผลักดันแม้กระทั่งไปตั้งบริษัท ยังต้องไปตั้งอยู่ที่สิงคโปร์ ทั้งนี้ ต้องกลับมามองว่า มันอยู่ที่ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ที่เกิดขึ้น นักลงทุนไทยผู้ประกอบการไทยเก่ง ถ้าวัดกันตัวต่อตัวเก่งมาก แต่กว่าจะไปสู้คนอื่นได้ เหนื่อย เพราะโดน พันธนาการทางกฎระเบียบของประเทศไทย ดึงแข้งดึงขากว่าจะผ่านไป และไปสู้ต่างประเทศได้ก็หมดแรงแล้ว จึงต้องกลับไปดูว่าสถานการณ์วันนี้เราจะปรับปรุงระเบียบอย่างไร เช่น กฎหมายในเรื่องของการเก็บภาษีหุ้น ขอให้หยุดเลย ชัดเจนฟันธงไม่ต้องไปเก็บ เพราะวันนี้ มูลค่าวันก่อนสองหมื่น วันนี้มาสามหมื่นกว่า ช่วงดีๆ ไม่รู้กี่หมื่น สำหรับวันนี้ไม่ต้องไปถึงหกหมื่นเจ็ดหมื่น วันนี้ยังไม่เก็บยังขนาดนี้ ถ้าไปเก็บอีก แน่นอนว่าสภาพคล่องในตลาดลดลงแน่นอน ผู้ประกอบการรายย่อยอย่างน้อย ถ้าเล่นเองประมาณสองล้านกว่าคนได้รับผลกระทบแน่ และผู้ประกอบการที่เล่นผ่านทางอ้อม อย่างเช่นกองทุนต่างๆ อีกประมาณสิบเจ็ดล้านคน ก็กระทบแน่“วันนี้ประเทศไทยต้องการจะเดินหน้าต่อไป พูดเรื่องตลาดทุนที่มีเสถียรภาพ นักลงทุนวันนี้หลายล้านคนเฝ้าดูอยู่ว่า วันนี้จะเกิดอะไรขึ้นกับการเมือง ผมบอกเลย สถานการณ์และเสถียรภาพทางการเมืองมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง กับตลาดทุน ความเชื่อมั่นของประเทศมีส่วนโดยตรง ถามว่านักลงทุนเวลาเขาเข้ามา เขาไม่เข้ามาเพราะอะไร เพราะเขาเจอระบบ เจอระเบียบ การโอนเงินเข้า การเอาเงินออก เป็นปัญหากับเขาหมด ถ้าไม่แก้วันนี้ เขาก็วิ่งไปเพื่อนบ้านหมด เขาก็วิ่งไปต่างประเทศหมด”
เรื่องที่สองคือ เมื่อเราจัดระบบ แก้ระบบระเบียบตรงนี้ให้เสร็จแล้ว สิ่งต่อไปในเรื่องของตลาดทุน เราต้องพยายามทำให้ประเทศไทยมีความน่าสนใจ มีความน่าเชื่อถือ เช่น เราพูดถึงโครงการแลนด์บริดจ์ คอคอดกระ ไม่ต้องไปขุดแล้วคอคอดกระ มีปัญหามาไม่รู้กี่สิบปี แต่วันนี้เทคโนโลยีผ่านไปเยอะ เราใช้พื้นที่เดียวกัน แถวระนอง-ชุมพร ทำแลนด์บริดจ์ เราใช้สายพานก็ได้ ใช้ระบบขนถ่ายคาร์โก้ก็ได้ เอาระบบศุลกากรไป เรือที่เข้ามาจากอเมริกาเข้ามาจอดฝั่งนี้ รับช่วงต่อ แถมพื้นที่หรืออุตสาหกรรมแถวนั้นนักลงทุนสามารถไปลงทุนแปรรูปโรงงานสินค้า แถวชุมพร-ระนอง สร้างมูลค่าเพิ่ม อีกฝั่งหนึ่งก็ส่งต่อไปตะวันออกกลาง ถ้าเราทำแบบนี้มูลค่าการลงทุนและทั้งหมดจะกลับมาอยู่ที่ประเทศไทยทั้งหมด อันนี้ง่ายที่สุด แล้วถ้าทำตรงนี้จริง เงินลงทุนของทุกบริษัทบริษัททั่วประเทศก็จะวิ่งเข้ามาสู่ตลาดทุน และพุ่งเข้ามาสู่ประเทศไทย เพราะประเทศไทยมีภูมิประเทศที่เหมาะสมที่สุดอยู่แล้วในภูมิภาคอาเซียน ขนาดยังไม่ทำอะไรเลยเราก็ยังโดดเด่นที่สุดในภูมิภาคอาเซียนแล้ว หากแก้กฎระเบียบให้เรียบร้อย รัฐต้องไม่ไปขัดแข้งขัดขาเป็นผู้สนับสนุนที่ดี ผลักดันให้เอกชนออกไปวิ่งนำหน้าสู้กับเขา ทำโครงการเมกะโปรเจคใหญ่ๆ หนึ่งอัน ให้เขาเห็นว่าเมื่อเขามาลงทุนแล้วสามารถต่อยอดธุรกิจได้ สามารถมีเมนธุรกิจ มีธุรกิจสนับสนุนได้ พื้นที่ก็เหมาะ ถ้าทำแบบนี้ทุกอย่างที่พูดกันจะวิ่งมาที่เมืองไทยหมด ตลาดทุนอาจจะขึ้นไปเป็นสองสามเท่า นั่นคือหน้าที่ของรัฐบาล เราจะเข้าไปทำการเมืองต้องทำให้ได้ ต้องทำให้เกิดขึ้นจริง
“เรื่องสุดท้ายคือเรืองดิจิทัล ซึ่งช่วงที่เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี กระทรวงดิจิทัล ผมวางโครงสร้างดิจิทัลไว้บ้างแล้ว เราต้องต่อยอดและทำให้แข็งแรงขึ้นคืออุตสาหกรรมธุรกิจดิจิทัลนี้ ทำเร็ว ได้เร็ว มาลงทุนโรงงานใช้เวลา 5 ปี ตั้งโรงงาน แต่ดิจิทัลใช้เวลาหนึ่งปีเงินเข้ามาแล้ว อันนี้ต้องทำ รับรองตลาดทุนไปได้แน่นอน” นายพุทธิพงษ์ กล่าว.