‘เพื่อไทย’ เตือนนักโหนกระแสทั้งหลาย อย่าคิดใช้ ‘ทักษิณ’ อยากกลับไทย เป็นประเด็นการเมือง เชื่อไม่กระทบต่อการเลือกตั้ง ชูนโยบายทำได้จริง แก้ความเดือดร้อนประชาชน พร้อมเปิดคดีความต่างๆพบถูกฟ้องอื้อในชั้นศาลและป.ป.ช.
วันที่ 25 มี.ค.2566 น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ รองเลขาธิการพรรค ในฐานะรักษาการโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ประกาศพร้อมกลับมารับโทษจำคุกในประเทศไทย หากเขาได้รับอนุญาตให้ใช้ชีวิตที่เหลืออยู่กับครอบครัว ว่า ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง และถูกหยิบมาเป็นประเด็นทางการเมือง และเชื่อมโยงพรรคเพื่อไทย ซึ่งนายทักษิณได้แสดงความคิดเห็นส่วนตัวในฐานะคนไทยคนหนึ่ง ที่อยากกลับบ้านมาอยู่กับลูกหลานในช่วงปั้นปลายชีวิต เพื่อเข้าสู่กระบวนการกฎหมายของไทยอย่างถูกต้อง โดยที่ผ่านมา คดีต่างๆ ที่นายทักษิณถูกดำเนินคดี ล้วนเกิดจากฝั่งตรงข้ามทางการเมือง จนทำให้เกิดคำถามว่า ความยุติธรรมที่มีไว้เพื่อกำจัดฝั่งตรงข้าม จะยังใช่ความยุติธรรมไม่ วันนี้หากนายทักษิณจะเดินทางกลับไทยและเข้าสู่การพิจารณาคดี ถือว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคล และเป็นเรื่องที่ดีที่จะมาพิสูจน์ตัวเอง จึงไม่ควรใช้เป็นประเด็นโจมตีทางการเมือง โดยการเชื่อมโยงบุคคลอื่นคดีอื่นๆ
น.ส.ลิณธิภรณ์ กล่าวอีกว่า วันนี้พรรคเพื่อไทยมุ่งเน้นการนำเสนอนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในทุกกลุ่มและทุกช่วงวัย ให้ครอบคลุมทุกๆ มิติ เพราะประชาชนเชื่อมั่นในนโยบายของพรรคเพื่อไทยว่าสามารถทำได้จริง ประเทศไทยล้าหลังและถดถอยมาตลอด 8 ปี ดังนั้นการเลือกตั้งอย่างมียุทธศาสตร์ คือการเลือกให้ชนะขาดแบบแลนด์สไลด์
“เหล่านักโหนทักหลาย ที่คิดใช้ประเด็นนายทักษิณโจมตีพรรคเพื่อไทย ควรคิดเสียใหม่ เพราะที่ประชาชนชื่นชมและเชื่อมั่นในพรรคเพื่อไทย คือนโยบายดีๆ ที่คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อคนไทยทุกคน” น.ส.ลิณธิภรณ์ กล่าว.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีความของ นายทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกสั่งฟ้องและดำเนินการอยู่ในชั้นของ ป.ป.ช. มีดังต่อไปนี้
1. คดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก ที่มีการกล่าวหาคุณหญิงพจมาน ชินวัตร (ภริยานายทักษิณ และนามสกุลขณะนั้น) และนายทักษิณ ในการซื้อที่ดิน 33 ไร่ 78 ตร.ว. ราคา 772 ล้านบาท จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 51 โดยก่อนศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะพิพากษาคดีดังกล่าว นายทักษิณ ได้เดินทางออกนอกประเทศ อ้างว่าไปดูการแข่งขันโอลิมปิกที่ประเทศจีน และหลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษาแต่อย่างใด ทำให้ศาลฎีกาฯ อ่านคำพิพากษาลับหลัง จำคุกนายทักษิณ 2 ปี และยกฟ้องคุณหญิงพจมาน ปัจจุบันคดีดังกล่าวหมดอายุความแล้ว
2. คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า คดีหวยบนดิน โดยศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุกนายทักษิณ 2 ปี ไม่รอลงอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
3. คดีสั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) อนุมัติเงินกู้สินเชื่อ 4,000 ล้านบาท แก่รัฐบาลสหภาพเมียนมา โดยศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 (เดิม) โดยศาลเห็นว่า นายทักษิณ สั่งการให้ Exim Bank อนุมัติเงินกู้ดังกล่าว ในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าต้นทุน เพื่อให้นำเงินกู้ดังกล่าวไปใช้ในการซื้อสินค้า และบริการของบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น
4. คดีให้บุคคลอื่น (นอมินี) ถือหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แทน โดยบริษัท ชินคอร์ปฯ เป็นคู่สัญญาต่อหน่วยงานของรัฐ และเข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นในกิจการโทรคมนาคม โดยศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา แบ่งเป็น ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่รับสัมปทาน หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ จำคุก 2 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้น จำคุก 3 ปี
นอกจากนี้ยังมีคดีอยู่ในชั้น ป.ป.ช. เช่น คดีกล่าวหาการอนุมัติสั่งซื้อเครื่องบินแบบ A340-500 และ A340-600 ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ระหว่างปี 2545-2547 ทำให้การบินไทยมีหนี้สินเพิ่มมากขึ้น