“รังสิมันต์” เปิด จม. ตร. แจงสาเหตุ ปม ศาลฯ “ออกหมายจับ-เพิกถอน” สว.ทรงเอ

รังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล เผยแพร่จดหมายความยาว 7 หน้า ที่ตำรวจนายหนึ่งทำถึงกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) รายหนึ่ง ลำดับเหตุการณ์การออกหมายจับ และเพิกถอนหมายจับนายอุปกิต ปาจรียางกูร วุฒิสมาชิก จากข้อกล่าวหา “ความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดและการฟอกเงิน”

โดย รังสิมันต์ โรม เผยแพร่เอกสารชุดนี้ทางบัญชีเฟซบุ๊กของตัวเองเมื่อ 11 มี.ค.บรรยายว่า “เรื่องนี้ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องมีคำตอบ ไม่ว่าจะศาลและตำรวจ กระบวนการยุติธรรมของเรามันเน่าเฟะขนาดนี้ได้ยังไง ต้องปัดกวาดตัวเองให้เรียบร้อยได้แล้ว ไม่เช่นนั้นประชาชนจะเชื่อถือได้ยังไง”

ก่อนหน้านี้ไม่กี่ชั่วโมง บัญชีเฟซบุ๊กของนายรังสิมันต์ได้โพสต์ข้อความแจ้งว่า “วันจันทร์ที่ 13 มีนาคม 2566 เวลา 13.00 น. ผมจะไปที่ บช.ปส. หรือ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด เพื่อแถลงข่าวถึงการช่วยเหลือ ส.ว. ทรงเอ ให้รอดพ้นจากการถูกดำเนินคดี”

ทั้งนี้ นายรังสิมันต์ เพิ่งถูกนายอุปกิตฟ้องร้องต่อศาลอาญาเมื่อ 17 ก.พ. ในคดีหมิ่นประมาท และเรียกค่าเสียหาย 100 ล้านบาท สองวันหลังนายรังสิมันต์กล่าวในสภาผู้แทนราษฎร ในหัวข้อ ‘เช็กบิลไทยดำ-จีนเทา’ ระหว่างการอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งนายอุปกิตมองว่ามีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทเขา โดยศาลนัดไต่สวนมูลฟ้อง 1 พ.ค. 2566 เวลา 09.00 น.

ในเวลาต่อมา นายอุปกิต ได้ยื่นฟ้อง นายดนัย เอกมหาสวัสดิ์ นางสาวอมรรัตน์ มหิทธิรุกข์ 2 ผู้ดำเนินรายการ เจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ ข้อหาหมิ่นประมาทเนื่องจากการดำเนินรายการเจาะลึกทั่วไทยอินไซด์ไทยแลนด์ ออกอากาศเผยแพร่ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ MCOT ในหลายวาระ มีเนื้อหาพาดพิง สร้างความเสียหาย ทำให้สาธารณชนเข้าใจผิดต่อนายอุปกิตว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินของขบวนการค้ายาเสพติดกรณีการจับกุม นายทุน มิน ลัต นักธุรกิจชาวเมียนมา เรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท และนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ในข้อหาเดียวกันอีก 50 ล้านบาท

นายรังสิมันต์ ได้เข้ายื่นหนังสือถึง ก.ต. เมื่อ 8 มี.ค. เพื่อให้ตรวจสอบผู้พิพากษา ที่ พิจารณาเพิกถอนหมายจับ ส.ว. รายนี้ อีกสองวันต่อมา นายรังสิมันต์ได้ทวงถามผู้บัญชาตำรวจปราบปรามยาเสพติดผ่านทางบัญชีเฟซบุ๊กว่า “ได้นำตัว ส.ว….ที่กล่าวหาพัวพันขบวนการค้ายาเสพติดและฟอกเงิน มาแจ้งข้อหาหรือยัง” หลังจากที่เขายื่นหนังสือต่อ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เพื่อให้ตรวจสอบการดำเนินคดีนี้ ตั้งแต่ 28 ก.พ.

“ผ่านมาแล้ว 10 วัน ผมยังไม่เห็นความคืบหน้าอะไรทั้งนั้น… ตั้งแต่ 1 มี.ค. เป็นต้นมา หมดสมัยประชุมรัฐสภาแล้ว ส.ว. ไม่มีความคุ้มกันใดๆ ที่จะไม่ถูกหมายเรียกหรือหมายจับได้อีก” นายรังสิมันต์กล่าว

หน้าแรกของเอกสาร 7 หน้า ที่เผยแพร่ทางเพจเฟซบุ๊กของนายรังสิมันต์ เป็นจดหมายลงวันที่ 5 มี.ค. 2566 เขียนที่ สถานีตำรวจนครบาลพญาไท เรื่อง ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการร้องขอออกหมายจับ นายอุปกิต ปาจรียางกูร และการเพิกถอนหมายจับ ส่งถึง นายปุณณะ จงนิมิตสถาพร กรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ทว่าหน้าสุดท้ายของจดหมาย ได้ขีดฆ่าชื่อของผู้ส่ง เหลือไว้แต่ ยศ “พันตำรวจโท”

ขณะที่เว็บไซต์ข่าว เนตรทิพย์ ตีพิมพ์จดหมายดังกล่าว พร้อม คงชื่อและตำแหน่งของผู้เขียนจดหมาย คือ พ.ต.ท. มานะพงษ์ วงศ์พิวัฒน์ สารวัตรสืบสวน สถานีตำรวจนครบาลพญาไท ตำแหน่งที่เพิ่งย้ายมาใหม่

ขณะที่ พ.ต.ท. มานะพงษ์ ยืนยันว่า “เป็นเอกสารจริง ที่ทำและส่งจริง” แต่ตนไม่ได้เป็นผู้เผยแพร่เอกสารดังกล่าว “ไม่ได้หลุดจากผม ถ้าหลุดจากผม ถึงจะกังวล”

สำหรับรายละเอียดใน จดหมาย พ.ต.ท. มานะพงษ์ ได้ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งการขอหมายจับต่อศาล และถูกยกเลิกหมายจับ ขณะที่ปฏิบัติงานเป็นสารวัตร กองกำกับการสืบสวน 2 กองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.)

เอกสารคำชี้แจง ระบุถึงการยื่นคำร้องต่อศาลอาญาเพื่อขอออกหมายจับนายอุปกิต ในความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดและการฟอกเงินในวันที่ 3 ต.ค. 2565 และศาลได้อนุมัติตามคำขอแล้ว แต่ต่อมาในวันเดียวกัน ได้มีการเพิกถอนหมายจับ “โดยอ้างว่าเป็นบุคคลสำคัญ จึงเชื่อได้ว่าไม่มีพฤติการณ์หลบหนี”

นอกจากนี้ ยังเปิดเผยเงื่อนไขถอนหมายจับว่า ให้ออกหมายเรียกนายอุปกิตภายใน 15 วัน แต่จากเดือน ต.ค. 2565 ยังไม่มีการออกหมายเรียกนายอุปกิต แต่อย่างใด

“การประวิงเวลาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการดำเนินคดีกับนายอุปกิต ปาจรียางกูร ในครั้งนี้ ก่อให้เกิดผลเสียหายต่อความศรัทธาของประชาชนในกระบวนการยุติธรรม และการเพิกถอนหมายจับด้วยเหตุผลว่าผู้ถูกออกหมายจับ ‘เป็นบุคคลสำคัญ’ เป็นการทำลายหลักการที่ว่า “บุคคลย่อมเสมอภาคกันภายใต้กฎหมาย” พ.ต.ท. มานะพงษ์ ระบุ

ที่สำคัญ ยังปรากฏการโทรศัพท์สอบถามจากนายตำรวจระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ให้ตัดพยานหลักฐานบางส่วนออกจากคดีโดยเชื่อว่ามีเจตนาขัดขวางไม่ให้ดำเนินคดีกับนายอุปกิต

คณะทำงานงานสืบสวนสอบสวนเชื่อว่านายอุปกิต พัวพันกับขบวนการยาเสพติดและการฟอกเงินกับนายทุน มิน หลัด หรือ ตุน มิน ลัต ชาวเมียนมาที่ถูกตำรวจไทยจับเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดและฟอกเงิน เมื่อ 17 ก.ย. 2565

ตอนหนึ่งของจดหมายระบุว่า บุคคลระดับรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลบอกให้ พ.ต.ท. มานะพงษ์ ร้องขอถอนหมายหมายจับด้วยตนเอง แต่เขาปฏิเสธ เพราะการขอหมายจับในตอนเช้าและขอถอนหมายจับในตอนบ่าย เขาจะต้องถูกดำเนินคดีทั้งทางวินัยและอาญา เนื่องจากเป็นการกระทำที่ส่อไปในทางทุจริต

เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2565 เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมซึ่งมี พ.ต.ท. มานะพงษ์ อยู่ด้วย จับกุม นายทุน มิน หลัด สัญชาติเมียนมา พร้อมพวกรวม 4 คน ตามหมายจับศาลอาญาในความผิดเกี่ยวกับการกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดและการฟอกเงิน

พ.ต.ท. มานะพงษ์ ระบุในจดหมายว่า หลังจากควบคุมตัวไว้ 3 วัน ตามประมวลกฎหมายที่กองกำกับการสืบสวน 2 บช.น. ผู้ถูกจับบางส่วนได้สมัครใจให้การว่านายอุปกิต เป็นผู้เกี่ยวข้องกับขบวนการ พร้อมแสดงหลักฐานที่เกี่ยวข้อง จึงได้จัดทำเอกสารพยานหลักฐานประกอบคดี

ต่อมา 19 ก.ย. 2565 ตำรวจได้ส่งตัวผู้ถูกจับให้พนักงานสอบสวนกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ในระหว่างการสืบสวนขยายผล “ได้รับการติดต่อจากนายตำรวจระดับสูง” ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ตัดพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับนายอุปกิต ออกจากคดี จึง “เชื่อได้ว่ามีเจตนาขัดขวางไม่ให้นำนายอุปกิต ปาจรียางกูร เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม”

ต่อมา กองกำกับการสืบสวน 2 บช.น. เห็นควรดำเนินคดีกับนายอุปกิต เนื่องจากพยานหลักฐานชัดแจ้ง จึงรวบรวมพยานหลักฐาน ก่อนยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอออกหมายจับนายอุปกิต เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2565 เวลา 09:30 น.

ในเอกสารคำชี้แจงระบุด้วยว่า ในคำร้องแจ้งชัดว่านายอุปกิต เป็น ส.ว. และได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ศาลทราบถึงสถานภาพของนายอุปกิต โดยไม่ได้มีการปิดบังข้อเท็จจริง พร้อมด้วยคำร้องขอหมายค้นเพื่อจับกุมตัวบุคคลตามหมายจับ และตรวจยึดพยานหลักฐาน ประกอบคดี กำหนดเวลาค้น 4 ต.ค. 2565

หลังยื่นเอกสารข้างต้น พ.ต.ท. มานะพงษ์ ระบุว่า ได้รอการไต่สวนจากผู้พิพากษาเวรเป็นเวลา 1 ชม. ผู้พิพากษาเวรเรียกเขาไปไต่สวน โดยที่ พ.ต.ท. มานะพงษ์ ไม่ได้แจ้งให้ทราบว่านายอุปกิตเป็น ส.ว. เนื่องจากระบุในคำร้องแล้ว ต่อมา 11.00 น. ศาลได้อนุมัติหมายตามขอ ตามหมายจับศาลอาญาที่ จ.554/2565 ลงวันที่ 3 ต.ค. 2565 ส่วนหมายค้นก็ได้รับอนุมัติเช่นกัน

ทั้งนี้ คำชี้แจงยังระบุด้วยว่า การขอหมายจับและหมายค้น เป็นการดำเนินการนอกสมัยประชุมสภา เป็นไปตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกา

ต่อมาเวลา 13.30 น. วันเดียวกันได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ศาลให้นำหมายศาลฉบับจริง นำกลับไปที่ศาลอาญา และให้ไปพบรองอธิบดีผู้พิพากษาศาล ที่ห้องทำงาน พ.ต.ท. มานะพงษ์ ระบุว่า ระหว่างไปห้องทำงานมีอดีตผู้บังคับบัญชาตำรวจของเขา โทรมาสอบถามด้วยว่า เหตุใดจึงขอศาลออกหมายจับนายอุปกิต ซึ่งเขาตอบว่า เพราะ “เชื่อว่ามีพยานหลักฐานพอสมควรในการดำเนินคดี”

ต่อมาเจ้าหน้าที่ศาลได้เรียกตำรวจชุดทำคดี ที่เดินทางมาพร้อมกับหมายศาลฉบับจริง และเอกสารพยานหลักฐาน 2 ลัง ไปพบที่ห้องอธิบดีผู้พิพากษาศาล

เอกสารคำชี้แจง ยังระบุว่า มีการโทรศัพท์หานายตำรวจระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระหว่าง ที่ตำรวจชุดทำคดีไปถึงห้องที่มีผู้บริหารระดับสูงของศาลอาญาอยู่ในห้อง

“เมื่อข้าพเจ้าได้นั่งลง ก็พบว่า… (รองอธิบดีผู้พิพากษาศาล) กำลังโทรศัพท์ไปหานายตำรวจระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อสอบถามว่าเหตุใดข้าพเจ้าจึงไปขอศาลออกหมายจับนายอุปกิตฯ ต่อมาจึงส่งโทรศัพท์มาให้ข้าพเจ้าพูดคุย” เอกสารระบุ พร้อมบอกว่า พ.ต.ท. มานะพงษ์ ได้ชี้แจงว่ามีหลักฐานเพียงพอต่อการดำเนินคดี

เอกสารคำชี้แจงระบุว่า รองอธิบดีผู้พิพากษาศาล “ได้พูดทำนองว่าข้าพเจ้า ว่าเหตุใดจึงได้มาขอออกหมายจับสมาชิกวุฒิสภา และหาว่าข้าพเจ้าจะล้มอำนาจนิติบัญญัติของประเทศ”

พ.ต.ท. มานะพงษ์ ชี้แจงไปว่า เพราะมีพยานหลักฐานพอสมควรที่จะออกหมายจับ ไม่ได้มีเจตนาร้ายใดแอบแฝง ก่อนที่ รองอธิบดีจะพูดในทำนองว่า เขาเกี่ยวข้องในคดีอย่างไร เหตุใดไม่ให้พนักงานสอบสวนเจ้าของคดีมาขอออกหมายจับ

แต่ พ.ต.ท. มานะพงษ์ ตอบว่า เขาขอศาลออกหมายจับในฐานะผู้สืบสวนคดี และถูกรองอธิบดีผู้นี้ ถามต่ออีกว่า เกี่ยวข้องในคดีอย่างไร ซึ่ง พ.ต.ท. มานะพงษ์ ตอบว่า เป็นผู้จับกุมเครือข่ายยาเสพติด จำนวน 5 เครือข่าย ซึ่งเป็นมูลเหตุให้ขยายผลจับกุมนายตุน มิน ลัตและพวก รวมทั้งนายอุปกิตด้วย

นอกจากนี้ รองอธิบดีผู้พิพากษา ยังต่อว่า พ.ต.ท. มานะพงษ์ ว่าเป็นตำรวจที่ไม่มีวินัย ไม่แต่งเครื่องแบบตำรวจมาพบผู้พิพากษา ไว้ผมรองทรงยาวกว่าตำรวจทั่วไป ซึ่ง พ.ต.ท. มานะพงษ์ ตอบว่าทำงานภาคสนามตัดผมสั้นจะเป็นอุปสรรค หลังจากนั้น รองอธิบดี ต่อว่าเขาต่อด้วยว่า ใช้ดุลพินิจไม่ชอบในการออกหมายจับ ส.ว. ที่ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี

พ.ต.ท. มานะพงษ์ ตอบว่า เขาใช้ดุลพินิจของตัวเองในการร้องขอออกหมายจับ เนื่องจากเห็นว่า มีอัตราโทษสูงถึงประหารชีวิต จำนวน 5 กรรม และ ส.ว.ที่ กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ต้องได้รับโทษหนักกว่าบุคคลธรรมดาหลายเท่าตัว จึงได้ยื่นคำร้อง

เอกสารคำชี้แจงจาก พ.ต.ท. มานะพงษ์ ระบุด้วยว่า รองอธิบดี อ้างว่าประมวลกฎหมายยาเสพติดมีการแก้ไขว่า แม้โทษจำคุกเกิน 3 ปี ถ้าไม่มีการหลบหนี ก็ยังออกหมายจับไม่ได้ ซึ่ง พ.ต.ท. มานะพงษ์ ตอบว่า เท่าที่ทราบยังไม่มีการแก้ รองอธิบดี ยังกล่าวในทำนองว่าให้ พ.ต.ท. มานะพงษ์ ถอนหมายจับ ซึ่งเขาไม่ยินยอม เพราะจะมีความผิดทั้งทางวินัยและอาญา

หลังจากนั้น ได้มีการเรียกผู้พิพากษาเวรเข้ามา รองอธิบดีสอบถามผู้พิพากษาเวรว่าเหตุใดจึงมีการออกหมายจับ และถามว่าทราบหรือไม่ว่า หากเป็นคดีคนสำคัญ ต้องปรึกษาผู้บริหารศาลตามระเบียบศาล ซึ่งผู้พิพากษาเวรตอบว่า “ไม่ทราบ” และขอดูระเบียบศาล ก่อนที่เลขาธิการศาลจะแทรกขึ้นมาว่า ระเบียบดังกล่าววางอยู่บนโต๊ะเวลาที่ผู้พิพากษาเข้าเวร แต่เมื่อให้เจ้าหน้าที่ไปหากลับไม่พบว่ามี

เอกสารคำชี้แจงจาก พ.ต.ท. มานะพงษ์ ระบุว่า รองอธิบดีได้สั่งให้เขาและผู้บังคับบัญชาออกนอกห้อง หลังจากรอ 10 นาที เมื่อถูกเรียกกลับเข้าไป อธิบดีผู้พิพากษาศาลได้แจ้งให้ทราบว่าจะถอนหมายจับ ส.ว. และสอบถามความเห็นจาก พ.ต.ท. มานะพงษ์

“ข้าพเจ้าได้ตอบไปว่า หากไม่ได้มีการออกหมายจับนายอุปกิตฯ ก็เชื่อได้ว่าในอนาคตจะไม่ได้มีการดำเนินคดีกับนายอุปกิตฯ ทั้งที่มีพยานหลักฐานแจ้งชัด เนื่องจากเชื่อได้ว่าอาจมีการล้มคดีที่ได้มีการสอบสวนเกี่ยวกับนายอุปกิตฯ” พ.ต.ท. มานะพงษ์ ระบุ

หลังจากถอนหมายจับแล้ว รองอธิบดีได้เดินออกจากห้องไป เอกสารของ พ.ต.ท. มานะพงษ์ ระบุว่า อธิบดีได้เข้ามาขอโทษเขาและผู้บังคับบัญชา ที่รองอธิบดี ใช้กริยาวาจาที่ไม่สมควรตลอดเวลาที่พูดคุย และได้แจ้งให้ทราบว่าเพิ่งมารับตำแหน่งวันแรก “หากไม่มีการถอนหมายจับ ‘ผู้ใหญ่’ น่าจะตำหนิอย่างแน่นอน” เอกสารฉบับนี้อ้างคำพูดของอธิบดีโดย พ.ต.ท. มานะพงษ์ ระบุว่า ไม่ทราบว่า ผู้ใหญ่คนนี้หมายถึงใคร

หลังจากนั้น ผู้พิพากษาเวร ได้เขียนข้อความการเพิกถอนหมายจับและหมายค้นในกระบวนการพิจารณาฉบับเดิม และมีการเขียนว่า ให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกนายอุปกิต มาแจ้งข้อกล่าวหาใน 15 วัน หากไม่มีการออกหมายเรียก หรือออกหมายเรียกแล้วไม่มา ให้มาขอหมายจับใหม่

ซึ่ง พ.ต.ท. มานะพงษ์ ได้ขอคัดรายงานกระบวนการพิจารณาดังกล่าว และ เอกสารระบุด้วยว่า ตั้งแต่ 3 ต.ค. 2565 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน ไม่เคยมีการออกหมายเรียกนายอุปกิตมารับทราบข้อกล่าวหาแต่อย่างใด และสาเหตุที่ไม่ได้ร้องเรียนเรื่องนี้ไปยังคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม เนื่องจากเกรงว่าผู้พิพากษาเวรจะเดือดร้อนจากการถูกแทรกแซงการใช้ดุลยพินิจจากผู้บังคับบัญชา

หลังจากนั้น ในเดือน ก.พ. ที่ผ่าน พ.ต.ท. มานะพงษ์ ถูกย้ายไปประจำที่สถานีตำรวจนครบาลพญาไท ส่วน พ.ต.อ. กฤศณัฏฐ์ธน ศุภณัฏฐ์ ผู้บังคับบัญชาของเขา ได้ถูกย้ายไปอยู่ที่ จ. ชัยภูมิ โดยเอกสารของ พ.ต.ท. มานะพงษ์ ระบุว่า เป็นการย้ายที่พวกเขา “ไม่สมัครใจ และไม่สามารถเกี่ยวข้องกับคดีของนายอุปกิตได้อีก”