ปชป. เดินหน้าผลักดัน “จังหวัดจัดการตนเอง” ตามอุดมการณ์กระจายอำนาจ

พลันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับปากปรับเงินเดือนให้ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น และยกฐานะองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)ทั้งหมดขึ้นเป็นเทศบาล

แน่นอนที่สุดว่านี้คือการหาเสียงกับท้องถิ่นในช่วงสถานการณ์การเมือง ที่กำลังจะมีการเลือกตั้งไม่ว่าจะเกิดจากการยุบสภา หรือ หมดวาระ การเลือกตั้งน่าจะมีขึ้นภายในเดือนพฤษภาคมนี้แน่นอน

เมื่อพล.อ.ประยุทธ์จุดประกายเรื่องการเมืองท้องถิ่น เตรียมยกฐานะ อบต.ขึ้นเป็นเทศบาลทั้งหมด ก็ต้องมองไปยังพรรคการเมืองอื่นๆว่ามีนโยบายกระจายอำนาจ หรือการเมืองท้องถิ่นอย่างไรบ้าง

“ถ้าผมได้กลับไปเป็นรัฐบาลภายใต้ทีมสาธิตที่จะต้องทำคือเก็บภาษีส่วนกลางกลับมาที่บ้านเราให้มากกว่านี้ นั่นคือจังหวัดจัดการตัวเอง “ทีมสาธิต” ต้องทำและอาจนำไปสู่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ผ่านประชาชนจังหวัดแรก จังหวัดที่2 และจังหวัดที่3 ต้องเกิดขึ้นให้ได้ภายในพื้นที่8จังหวัด” สาธิต ปิตะเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อหน้าผู้สนับสนุนในวันเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร 8 จังหวัดภาคตะวันออก

ตีความได้ว่า พรรคประชาธิปัตย์เดินหน้าในการผลักดัน “จังหวัดจัดการตนเอง” ในจังหวัดที่มีความพร้อม เช่น ระยอง เชียงใหม่ น่าน สมุทรปราการ ภูเก็ต เป็นต้น ส่วนรูปแบบจะเป็นอย่างไร ต้องไปเขียนไว้ในกฎหมาย ซึ่งแนวนโยบายกระจายอำนาจของประชาธิปัตย์น่าจะมีเรื่องของการยกฐานะบางพื้นที่ขึ้นเป็น “มหานคร”ด้วย เช่น มหานครแม่สอด เป็นต้น

หากย้อนกลับไปดูเรื่องการ กระจายอำนาจ จะพบผลงานมากมายของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันให้ออก พระราชบัญญัติระเบียบบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จากเดิมที่บริหาร-ดูแล โดยกำนัน เป็นนายกฯอบต.โดยตำแหน่ง ทำงานทั้ง การพัฒนา และความสงบเรียบร้อย แม้ช่วงแรกๆจะมีอุปสรรค มีปัญหา มีข้อครหา แต่เวลาผ่านพ้นไป จะเป็นบทพิสูจน์ และกลั่นกรองคนเข้าสู่ระบบผ่านการเลือกตั้ง

วันนี้ อบต.เริ่มก้าวข้ามคำว่า ผู้บริหารมาจากผู้รับเหมา มาจากผู้มีอิทธิพล เริ่มมีคนรุ่นใหม่ มีการศึกษาสูง กลับบ้านไปรับใช้บ้านเกิดมากขึ้น เกิดโครงการ เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมากมาย แต่คำว่า อบต.ก็ยังต้องปรับตัว ปรับเปลี่ยนต่อไปอีกมาก เพื่อก้าวผ่านข้อครหา “กินหัวคิว-กินเปอร์เซนต์”ไปให้ได้ แล้วเราจะเห็นแสงสว่างสดใสมากขึ้น รัฐบาลเองก็มีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุนให้องค์กรท้องถิ่นเข้มแข็ง ยิ่งถ้ายกฐานะเป็นเทศบาลโอกาสของท้องถิ่นก็จะมากขึ้นผ่านงบอุดหนุนจากรัฐบาล

การยกฐานะสุขาภิบาลมาเป็นเทศบาลทั่วประเทศ การให้นายกฯอบจ.มาจากการเลือกตั้ง โดยตรงของประชาชน แทนที่จะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสวมหมวกสองใบ หรือให้สมาชิกซาวเสียงกันเองเลือกนายกฯอบจ.

ผู้ว่าฯกทม. ที่ต้องมาจากการเลือกตั้ง ก็เป็นผลงานการผลักดันของ พรรคประชาธิปัตย์ ด้วยการยกร่าง พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ที่กำหนดให้ผู้ว่าฯต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน มีสภาฯกทม.(สก.) เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ มีสมาชิกสภาเขต (สข.)เป็นที่ปรึกษาของ ผอ.เขต ผ่านการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.มาแล้วหลายคน

ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็น “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” หรือ มรว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร แม้การเลือกตั้งครั้งล่าสุด ประชาธิปัตย์ โดย ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ จะพ่ายให้กับ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” แต่คะแนนก็ไม่ได้น่าเกลียดอะไร ไล่มาอยู่ลำดับ 2

ถามว่าการจายอำนาจจะเดินไปถึงจุดไหน พรรคการเมืองบางพรรค อย่างพรรคก้าวไกล เสนอแบบสุดขั้ว ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ยกเลิก นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคด้วย พรรคประชาธิปัตย์ ก็เคยเสนอเป็นนโยบายให้เลือกตั้งผู้ว่าราชจังหวัดทุกจังหวัด ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา แต่มาคราวนี้น่าจะเสนอในรูปแบบของ “จังหวัดจัดการตนเอง” จังหวัดไหนพร้อมก็ยกฐานะขึ้นมา เช่น ภูเก็ต-เมืองท่องเที่ยว เหมือนกับพัทยา และเชียงใหม่-น่าน สมุทรปราการ เมืองอุตสาหกรรม-เมืองการบิน ระยอง-เมืองอุตสาหกรรม-ท่องเที่ยว เหล่านี้เป็นต้น เป็นการทดลองการจัดการตนเอง อันเป็นแนวคิดค่อยเป็นค่อยไป

การเลือกตั้งครั้งปี 2562 พรรคภูมิใจไทย เสนอแนวคิด “ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน” ก็ยังแค่เสนอให้ลดจำนวนกระทรวง ทบวง กรม ลง ส่วนเพิ่มอำนาจประชาชนจะทำอย่างไร ยังอธิบายไม่ชัด ส่วนจะมีการปรับปรุง นโยบายลดอำนาจรัฐเพิ่มอำนาจประชาชนอย่างไร ยังไม่เห็นความก้าวหน้า

พรรคเพื่อไทยเสนอเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในทุกจังหวัดที่พร้อม (6 ธ.ค. 65) ส่วนรูปธรรมกว่านั้นคือ ในปี 2570 เพื่อไทยตั้งเป้ากระจายอำนาจจากโรงพยาบาลของรัฐ ไปยังท้องถิ่นในรูปแบบองค์การมหาชน หรือ กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการ

ส่วนพรรคก้าวไกล มีนโยบายจัดทำประชามติภายใน 1 ปี เพื่อถามประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่ กับการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค และภายใน 4 ปีจะเพิ่มสัดส่วนรายได้ที่ส่วนกลางต้องแบ่งสรรให้ท้องถิ่นจากไม่เกิน 30% เป็นไม่น้อยกว่า 35% เป็นต้น

น่าเสียดายพรรคพลังท้องถิ่นไทย มี ส.ส.ในสภา มีอาจารย์ที่เชี่ยวชาญด้านการเมืองท้องถิ่น มี ส.ส.ที่มาจากการเมืองท้องถิ่น แต่ไม่ได้ขับเคลื่อนจริงจังกับการกระจายอำนาจ

นึกย้อนไปในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 13 ก.ย. 2535 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังเหตุการณ์ ‘พฤษภาทมิฬ’ ตอนนั้นมีอย่างน้อย 4 พรรคการเมือง ที่เสนอนโยบายให้มีการเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดที่มีความพร้อม ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์, พรรคพลังธรรม, พรรคความหวังใหม่ และ พรรคเอกภาพ ส่วนหนึ่งเสนอในเชิงยุทธการวิธีหาเสียง เพราะเชื่อว่าประชาชนจะให้การสนับสนุน ทว่า เมื่อทั้ง 4 พรรคมาร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลผสมแล้ว นโยบายนี้ก็หายไปจากนโยบายของรัฐบาล โดยพรรคแกนนำอย่าง พรรคประชาธิปัตย์ และ พรรคความหวังใหม่ เห็นว่านั่นเป็นเพียงนโยบายพรรคการเมือง ไม่ใช่นโยบายรัฐบาล

ดังนั้น รัฐบาล หรือพรรคการเมือง ควรมีนโยบายเกี่ยวกับการกนะจายอำนาจให้ชัดเจน

1. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองทางตรงของประชาชน ในกระบวนการนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ

2.ส่งเสริมให้มีการลดบทบาทราชการส่วนภูมิภาคลง เพิ่มบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

3. ลดระบบราชการส่วนกลางให้มีขนาดเล็กลง เพิ่มกำลังคน งบประมาณ เครื่องไม้เครื่องมือไปยังท้องถิ่น

4. คืนอำนาจการจัดการตนเองให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการกันเอง

5. ผลักดันกฎหมายเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองในทุกระดับ

ถ้ารัฐบาลทำตามที่กฏหมายกำหนดไว้ป่านนี้ท้องถิ่นไทยไปไกลแล้ว บ้านเมืองจะพัฒนาไปมากกว่านี้แล้ว แต่การ “หวงอำนาจ” คืออุปสรรคใหญ่ของการกระจายอำนาจ แม้ในยุคที่ “นิพนธ์ บุญญามณี” ไปนั่งช่วยมหาดไทย และถือเป็นผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ จริงจังกับท้องถิ่น ยังถูกกีดกันไม่ให้กำกับดูแลกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นเลย

#นายหัวไทร