ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ ย้ำ เรื่องปศุสัตว์ต้องทำครบวงจร ตั้งแต่ “ต้นทาง-กลางทาง-ปลายทาง” เพื่อสร้างพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เป็นพื้นที่ความมั่นคงทางด้านอาหาร ในการประชุม กพต. ที่จ.สตูล
วันที่ 27 ก.พ.66 นายนิพนธ์ บุญญามณี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้รับมอบหมายจาก นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ครั้งที่ 1/2566 ณ ห้องประชุม 211 ชั้น 2 อาคารเรียนรวม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา วิทยาเขตสตูล อ.ละงู จ.สตูล โดยมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยคณะกรรมการ กพต.หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรภาคประชาชนเข้าร่วมประชุมนายนิพนธ์ กล่าวถึงความก้าวหน้ากิจกรรมโคบาลชายแดนใต้ว่า ตามมติ กพต. ครั้งที่ 3/65 เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 65 ได้อนุมัติกิจกรรมโคบาลชายแดนใต้ ตามโครงการเมืองปศุสัตว์ ภายใต้กรอบระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระยะ 7 ปี (พ.ศ.2565-2571) ได้ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารกิจกรรมโคบาลชายแดนใต้ และคณะทำงานครั้งที่ 1 เพื่อเตรียมความพร้อมแผนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ในการสร้างความเข้าใจให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ และสร้างการรับรู้ต่อประชาชนที่จะเข้าร่วมโครงการ ซึ่งศอ.บต.ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการประชาสัมพันธ์กิจกรรมผ่านสภาเกษตรกรจังหวัด และคณะกรรมการหมู่บ้าน เพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่เกษตรกรอย่างทั่วถึง ทั้งจัดทำแผนผังการบริหาร การบริการต่อเกษตรกรที่เข้ามาติดต่อยังหน่วยงาน แผนผังการบริหารด้านการธุรการ การกักสัตว์เพื่อควบคุมโรคติดต่อในการขนย้ายโคเข้าพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ การฉีดวัคซีน การผสมเทียม การบริหารน้ำเชื้อโค รวมทั้งแผนการติดตามประเมินผล เพื่อช่วยให้การปฏิบัติงานมีการบูรณาการ การทำงานร่วมกันขององค์กรทุกภาคส่วน ตามกระบวนการห่วงโซ่คุณค่า (ต้นทาง – กลางทาง – ปลายทาง) โดยมีเกษตรกรประสงค์เข้าร่วมจำนวน 230 กลุ่ม ๆละ 10 คน รวม 2,300 คน ประกอบด้วยจังหวัดนราธิวาส 64 กลุ่ม ยะลา 68 กลุ่ม ปัตตานี 42 กลุ่ม สงขลา 30 กลุ่ม และจังหวัดสตูล 26 กลุ่ม โดยจังหวัดนราธิวาสได้นำร่องการดำเนินงานในลักษณะเดียวกับคู่มือปฏิบัติงานกิจกรรมโคบาลชายแดนใต้ไปแล้ว จำนวน 2 กลุ่ม ซึ่งเป็นกลุ่มต้นแบบที่จูงใจให้เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสและจังหวัดอื่น ได้ศึกษาเป็นต้นแบบในการดำเนินการ และได้เตรียมความพร้อมในการปลูกพืชอาหารสัตว์แล้วจำนวน 4,600 ไร่ ซึ่งพรุ่งนี้อาจจะมีวาระสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้เข้า ครม.
นายนิพนธ์ กล่าวอีกว่า ในเรื่องปศุสัตว์นั้น ทั้งการเลี้ยงโคเนื้อ ไก่เนื้อ ไก่ไข่ เราต้องมาดูกระบวนการผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาด ซึ่งหากอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่เกิดผลสำเร็จ เราจะมีตลาดประเทศตะวันออกกลาง ตลาดคาบสมุทรอินโดจีน อย่าง มาเลเซีย อินโดนีเซีย ที่มีประชากรต้องการบริโภคจำนวนมาก ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้าส่งเสริมการผลิตแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ซึ่งการตั้งเป้าหมายโดยทำให้เป็นพื้นที่ความมั่นคงทางด้านอาหาร นั้น จะสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรม
“อย่างกรณีไก่ไข่ ซึ่งขณะนี้ทราบจากรายงานว่า ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้นั้นมีการนำเข้าจากจังหวัดใกล้เคียงกว่า 5 แสนฟองต่อวันเพื่อบริโภค ภาครัฐต้องเข้าไปส่งเสริมตั้งกระบวนการต้นทาง คือ การมีพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ที่ดี จากนั้นมีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานฮาลาลตรงตามต้องการของตลาด และไปสู่ปลายทางคือการจำหน่าย และการปรับปรุงมาตรฐานต่างๆเพื่อยกระดับให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ และขยายตลาดออกไปให้เพิ่มมากขึ้นอีก ตรงนี้จะเป็นอีกจุดสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาความมั่นไม่สงบในพื้นที่ด้วยการพัฒนา” นายนิพนธ์กล่าว