ศาลปค.ยกฟ้อง คดีขอเพิกถอนมติครม.แก้สัญญาสัมปทานโทลเวย์-ขึ้นค่าผ่านทาง

ศาลปกครองสูงสุด ยกฟ้องคดีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค-ภาคปชช.ฟ้องขอเพิกถอนมติครม.แก้สัญญาสัมปทานโทลเวย์-ขึ้นค่าผ่านทาง ชี้ไม่เอื้อประโยชน์เอกชน-สร้างภาระปชช.เกินสมควร

วันที่ 27 ก.พ.2566 ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและภาคประชาชน รวม 21 ราย ยื่นฟ้อง รมว.คมนาคม กรมทางหลวงและกระทรวงคมนาคม กรณีอนุมัติแก้ไขบันทึกข้อตกลงเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานในทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 31 ถนนวิภาวดีรังสิต ตอนดินแดง – ดอนเมือง (ทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์) เป็นเหตุให้บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ขึ้นค่าบริการการใช้ทางยกระดับดังกล่าว ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ประชาชนมากเกินสมควร

โดยศาลปกครองปกครองสูงสุดเห็นว่า การที่บริษัททางยกระดับดอนเมืองจำกัด มหาชน มีหนังสือลงวันที่ 16 ก.ย 42 หนังสือลงวันที่ 31 พ.ค.43 หนังสือลงวันที่ 31 ต.ค.45 ขอให้กรมทางหลวงแก้ไขผลเสียต่อฐานะทางการเงินของบริษัททางด่วนฯ อันเนื่องมาจากการกระทำหรือละเว้นการกระทำของส่วนราชการซึ่งเป็นเหตุให้สูญเสียจำนวนยานพาหนะเป็นการใช้สิทธิ์ตามสัญญาสัมปทานข้อ 25 และการกรมทางหลวงโดยคณะกรรมการมาตรา 22 พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ 2535 รับข้อเรียกร้องของบริษัททางยกระดับฯตามหนังสือรวม 3 ฉบับดังกล่าวมาดำเนินการเจรจาและพิจารณาแก้ไขผลเสียต่อฐานะทางการเงินของบริษัททางยกระดับฯถือเป็นการดำเนินการที่ชอบด้วยสัญญา

ส่วนการเจรจาระหว่างกรมทางหลวงและกระทรวงคมนาคมกับบริษัททางยกระดับฯ ที่มีข้อตกลงให้ขยายเวลาอายุสัมปทานเป็น 27 ปีนับจากวันลงนามในบันทึกข้อตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานฉบับที่ 3/2550 เห็นว่า การเจรจาดังกล่าวเพื่อชดเชยรายได้ของบริษัททางยกระดับฯที่ขาดหายไปอันเนื่องมาจากการปรับลดค่าผ่านทางตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งเมื่อพิจารณาคำให้การของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหมดให้การสอดคล้องกันถึงการวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดจากปริมาณการจราจร วิธีการชดเชยค่าเสียหายให้บริษัททางยกระดับศโดยผู้ฟ้องคดีทั้งหมดไม่ได้โต้แย้งคัดค้านว่าการชดเชยค่าเสียหายโดยอาศัยการวิเคราะห์ผลตอบแทนการลงทุนในโครงการดังกล่าวเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้องอย่างไร กับปรากฏข้อเท็จจริงตามรายงาน การประชุมคณะกรรมการประสานงานการกำกับดูแลและติดตามผลสัญญาสัมปทาน หรือคณะกรรมการตามมาตรา 22 ครั้งที่ 2/2548 วันที่ 8 ธ.ค 48 ว่า บริษัท เทิร์น อะราวค์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการเงินได้เสนอผลการวิเคราะห์สรุปได้ว่าถ้าใช้เงื่อนไขจากการปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัททางยกระดับฯที่กระทรวงการคลังครั้งที่ 7 ธ.ค.48 มาคำนวณเมื่อขยายเวลาสัมปทานเพิ่มจากเดิม 9 ปีได้ค่าEquity IRR เท่ากับ 8.63% หรือหากขยายเวลาสัมปทานเพิ่มจากเดิม 11 ปี ได้ค่าEquity IRR เท่ากับ 9.16% จึงเห็นได้ว่าการขยายเวลาสัมปทานเป็นเวลา 12 ปี 9 เดือน 15 วัน เพื่อชดเชยรายได้ของบริษัททางยกระดับฯ ที่ขาดหายไป อันเนื่องจากการปรับลดค่าผ่านทางตามนโยบายของรัฐบาล และชดเชยความเสียหายอันเนื่องจากการไม่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของบริษัททางยกระดับฯ เป็นการพิจารณาชดเชยความเสียหายโดยไม่ได้มีการคำนวณจำนวนค่าเสียหายในแต่ละกรณี

แต่เป็นการพิจารณาว่า ภายหลังการปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัททางยกระดับฯแล้ว สมควรขยายอายุสัมปทานออกไปอีกเป็นเวลาเท่าใดเพื่อให้บริษัททางยกระดับฯสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้โดยได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในอัตราที่เหมาะสม ทั้งเพื่อแก้ไขฐานะทางการเงินของบริษัททางยกระดับฯ ให้กลับคืนสู่สภาพเดิมตามสัญญาข้อ 25 ซึ่งจากการวิเคราะห์ของที่ปรึกษาด้านการเงินดังกล่าวเห็นได้ว่าการขยายอายุสัมปทานดังกล่าวจะทำให้บริษัททางยกระดับฯ ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในปริมาณร้อยละ 9.16 หรือไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ซึ่งเป็นอัตราตามมาตรฐานสากล ซึ่งทุกฝ่ายยอมรับได้จึงยังฟังไม่ได้ว่าการขยายอายุสัมปทานเป็น 27 ปีนับจากวันลงนามในบันทึกข้อตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานฉบับที่ 3/2550 เป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัททางยกระดับฯ

ส่วนการปรับอัตราค่าผ่านทางตามผลการเจรจาระหว่างกรมทางหลวงกระทรวงคมนาคมและบริษัททางยกระดับฯ ที่เสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบเป็นการสร้างภาระให้แก่ประชาชนเกินสมควรหรือไม่เห็นว่า ตั้งแต่เปิดใช้ทางยกระดับดอนเมืองโทลเวย์ตั้งแต่วันที่ 21 ธ.ค.2547 – 21 ธ.ค.2552 บริษัททางยกระดับฯได้มีการจัดค่าผ่านทางต่ำกว่าราคาที่กำหนดในสัญญาสัมปทานเดิม และการปรับราคาค่าผ่านทางดอนเมืองโทลเวย์ ระหว่างวันที่ 22 ธ.ค.52 ถึงวันที่ 21 ธ.ค.57 ก็เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทาน ฉบับที่ 2/2539 ลงวันที่ 29 พ.ย.39 ที่ให้ปรับราคาจากอัตราที่เรียกเก็บอยู่เดิม 20 บาท เป็น 30 บาท และให้ปรับราคาขึ้นอีก 10 บาท เมื่อการก่อสร้างส่วนต่อขยาย ดอนเมือง – อนุสรณ์สถาน แล้วเสร็จและเปิดใช้งาน เป็น 40 บาท รวมทั้งให้ปรับราคาอีก 10 บาท ทุก 5 ปี จึงถือไม่ได้ว่า อัตราค่าผ่านทางตามบันทึกข้อตกลงฉบับที่ 3/2550 เป็นที่มูลเหตุการฟ้อง เป็นการสร้างภาระให้เกิดแก่ประชาชน