มีรายงานในเชิงลึก หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เอ่ยปากว่า จะยุบสภาต้นเดือนมีนาคม และเลือกตั้งตามวันที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)กำหนด มีรายงานว่าพล.อ.ประยุทธ์ เคยคิดว่าจะยุบสภาในวันที่ 14 มีนาคม แต่เมื่อตรวจเช็คทั้งหมดแล้ว อาจประกาศยุบสภาในวันที่ 15 มี.ค.นี้ พร้อมจะจัดเลือกตั้งในวันที่ 7พ.ค.ใช้เวลาทั้งหมด 54วัน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา103 กำหนดให้เลือกตั้ง ต้องไม่น้อยกว่า45วันแต่ไม่เกิน60วัน
ทั้งนี้กกต.ได้เตรียมแผนการเลือกตั้ง กรณีสภาผู้แทนราษฎรครบวาระ ในวันที่ 23 มี.ค.2566 ซึ่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 102 กำหนดให้มีการเลือกตั้งภายใน 45 วัน นับแต่วันที่สภาฯ สิ้นอายุ โดยเบื้องต้น กกต.กำหนดให้วันที่ 7 พ.ค. 66 เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป และ เปิดรับสมัครส.ส.ในวันที่ 3-7 เม.ย. 66 โดยเมื่อรวมทั้งหมดแล้วจะใช้เวลา 45 วัน รวมถึง กกต.ได้เตรียมการไว้หมดแล้ว หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาในทางเป็นลบ กรณีต่างด้าว
อย่างไรก็ตาม เมื่อนายกฯยุบสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 103 การเลือกตั้งต้องไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน และเพื่อให้เป็นไปตามกรอบเดิมที่กกต.กำหนดคือเลือกตั้งในวันที่ 7 พ.ค.นี้ก็เท่ากับว่า เมื่อนายกฯยุบสภาวันที่ 15 มี.ค.แล้วเลือกตั้งวันที่ 7 พ.ค.นี้ ก็จะใช้เวลาทั้งหมดคือ 54 วัน ตามกรอบระยะเวลาของรัฐธรรมนูญ
ขณะเดียวกันมีรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้อนุญาตให้ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ที่จะย้ายมาอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติ ยื่นใบลาออกจากการเป็นส.ส.ได้ โดยให้เริ่มตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ.เพราะขณะนี้ไม่มีการประชุมสภาแล้ว เนื่องจากจะมีการปิดสมัยประชุมสภาวันที่28 ก.พ.และการประชุมสภาจะประชุมเฉพาะวันพุธ และพฤหัสบดี เท่านั้น
ด้านรายละเอียดแผนจัดการเลือกตั้ง เบื้องต้นที่ กกต.กำหนดนั้น คาดว่าพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ) ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้วันที่ 20 มี.ค. 66 กกต.ประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง และประกาศกำหนดวันรับสมัคร
วันที่ 3-7 เม.ย. 66 รับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.
วันที่ 11 เม.ย. 66 วันสุดท้ายของ การประกาศกำหนดหน่วยเลือกตั้ง และที่เลือกตั้ง และเป็นวันสุดท้ายประกาศบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
วันที่ 14 เม.ย. 66 ประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.
วันที่ 16 เม.ย. 66 วันสุดท้ายส่งหนังสือแจ้งเจ้าบ้าน และสรรหาแต่งตั้งคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง
วันที่ 26 เม.ย. 66 วันสุดท้ายของการเปลี่ยนแปลงหน่วยเลือกตั้งและสถานที่เลือกตั้ง รวมถึงวันสุดท้ายของการเพิ่มชื่อ-ถอนชื่อ
วันที่ 30 เม.ย. 66 วันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตเลือกตั้ง และนอกเขตเลือกตั้ง รวมทั้งแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
วันที่ 1-6 พ.ค.66 และ 8-14 พ.ค. ระยะเวลาแจ้งเหตุไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
วันที่ 1 พ.ค. 66 เป็นวันสุดท้ายยื่นคำร้องเกี่ยวกับสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
วันที่ 3 พ.ค. 66 วันสุดท้ายศาลฎีกาพิจารณาสิทธิสมัคร กรณีผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งไม่รับสมัคร
วันที่ 6 พ.ค. 66 วันสุดท้ายที่ ผอ.เลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ยื่นคำร้องศาลฎีกา กรณีผู้สมัครขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม
วันที่ 7 พ.ค.66 วันเลือกตั้งทั่วไป
กกต.เผย 23 พรรค ตั้งสาขาพรรคประจำจังหวัด พร้อมลงสมัคร
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยผลสรุปจำนวนพรรคการเมืองที่สามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.ได้ ณ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ จาก 86 พรรคที่ดำเนินกิจการอยู่ปัจจุบัน จากการตั้งสาขาหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ตามมาตรา 47 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมืองกำหนด โดยพบว่า พรรคการเมืองที่สามารถส่งผู้สมัครได้มากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่
1. พรรครวมไทยสร้างชาติ จัดตั้งสาขาพรรคได้มากที่สุด 77 จังหวัด
2. พรรคก้าวไกล 76 จังหวัด
3. พรรคประชาธิปัตย์ 75 จังหวัด
4. พรรคเพื่อไทย 75 จังหวัด
5. พรรคภูมิใจไทย75 จังหวัด
6. พรรคเสรีรวมไทย 68 จังหวัด
7. พรรคพลังประชารัฐ 64 จังหวัด
8. พรรคคลองไทย 59 จังหวัด
9. พรรคเศรษฐกิจไทย 56 จังหวัด และ
10. พรรคไทยสร้างไทย 47 จังหวัด
ขณะที่ พรรคยุทธศาสตร์ชาติ 42 จังหวัด พรรคไทยภักดี 42 จังหวัด พรรคประชาธิปไตยใหม่ 38 จังหวัด พรรคเพื่อชาติ 35 จังหวัด พรรคชาติพัฒนากล้า 32 จังหวัด พรรคกล้า 36 จังหวัด พรรคชาติพัฒนากล้า 32 จังหวัด พรรคสร้างอนาคตไทย 22 จังหวัด พรรคชาติไทยพัฒนา 17 จังหวัด พรรคเศรษฐกิจใหม่ 12 จังหวัด พรรคไทยศรีวิไลย์ 9 จังหวัด พรรคประชาชาติ 8 จังหวัด พรรคพลังธรรมใหม่ 8 จังหวัด อย่างไรก็ตาม จึงถือได้ว่าขณะนี้พรรครวมไทยสร้างชาติเป็นพรรคแรกและพรรคเดียวที่สามารถส่งผู้สมัครได้ครบทั้ง 77 จังหวัด
#นายหัวไทร