“ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม ลุกขึ้นชี้แจง เคลียร์ชัดๆ 6 ปมของฝ่ายค้าน ในศึกอภิปรายทั่วไป ม.152 พร้อมโชว์ผลงานอันดับ Logistic Performance Index ของไทยดีขึ้น!
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงการดำเนินการของกระทรวงคมนาคม โดยยืนยันว่า ได้บริหารด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและโปร่งใสมาตลอด รวมทั้งได้กำหนด เป็นนโยบายให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติราชการ ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ มติคณะรัฐมนตรี และหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด ตลอดระยะเวลาเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา ได้ผลักดันการดำเนินการสำคัญจนมีผลเป็นรูปธรรมถึง 79 นโยบาย 157 โครงการ ซึ่งสิ่งที่สะท้อนถึงผลงานของกระทรวงคมนาคม ตลอดช่วงเวลาดังกล่าวได้เป็นอย่างดี คือ ผลการจัดอันดับ Logistic Performance Index โดย ธนาคารโลก ที่ไทยได้รับการจัดอันดับสูงขึ้นกว่าเดิมถึง 13 อันดับ โดยปรับจากอันดับที่ 45 มาเป็นอันดับที่ 32
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า 1.ประเด็นการต่อขยายสัญญาทางด่วนขั้นที่ 2 และทางพิเศษสายบางปะอิน-ปากเกร็ด จากการสอบถาม การทางพิเศษแห่งประเทศไทย มูลหนี้ที่มีการอภิปรายว่า หากแพ้คดีกับเอกชนผู้รับสัมปทาน จะมีมูลค่าสูงถึงประมาณ 3 แสนล้านบาทนั้น เป็นมูลค่าที่สูงกว่าข้อเท็จจริง ที่จะมีมูลหนี้จำนวน 1.37 แสนล้านบาท และการทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้เจรจาต่อรองจนเหลือ 7.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นฐานที่เอามาคำนวณขยายระยะเวลาสัญญา
นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มเงื่อนไขให้ประชาชนขึ้นทางด่วนฟรี ในวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยจะมีประชาชนได้รับประโยชน์ เป็นจำนวน 19 วันต่อปี หรือ 300 วัน ตลอดระยะเวลาสัมปทาน คิดเป็นมูลค่า 10,867.50 ล้านบาท ส่วนตัวเลขการขาดทุนที่มีการอภิปรายว่าจะมีการขาดทุน 65,000 ล้านบาทนั้น เป็นตัวเลขทางบัญชีเท่านั้น สถานะทางการเงินในภาพรวมที่แท้จริงยังมีผลประกอบการที่กำไรทุกปี โดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทยสามารถนำเงินส่งรัฐปีละประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท มาอย่างต่อเนื่อง สุดท้ายนี้ กรณีการขยายสัญญาตามมติคณะรัฐมนตรีชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง ที่ยังไม่ได้มีข้อสรุป
2.ประเด็นการไม่บันทึกบัญชีที่ดินเขากระโดง ในงบการเงินของการรถไฟแห่งประเทศไทย เนื่องจาก การบันทึกบัญชีที่ดินในงบการเงิน จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 16 เรื่องที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ ซึ่งจะต้องเป็นที่ดินที่ไม่มีปัญหาการโต้แย้งกรรมสิทธิ์ ดังนั้น ในกรณีที่ดินบริเวณเขากระโดง จึงได้บันทึกเฉพาะที่ดิน จำนวน 69.19 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินเส้นทางเดินรถแยกจากสถานีรถไฟบุรีรัมย์เข้าไปที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย บริเวณเขากระโดง ซึ่งไม่มีปัญหาการโต้แย้งกรรมสิทธิ มีข้อมูลครบถ้วน ชัดเจน สำหรับพื้นที่ที่เหลือในจำนวน 5,083 ไร่ ที่ยังไม่ได้บันทึกทะเบียนสินทรัพย์ นั้น เป็นที่ดินที่ยังมีปัญหาการโต้แย้งกรรมสิทธิ และอยู่ระหว่างกระบวนการพิสูจน์สิทธิ ทำให้ไม่สามารถลงบันทึกในทะเบียนสินทรัพย์ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 16 ได้ ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ฟ้องเพื่อพิสูจน์สิทธิต่อศาลปกครองกลางไปแล้ว ทั้งนี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมไม่เคยเข้าไปแทรกแซงการดำเนินการของการรถไฟแห่งประเทศไทยแต่อย่างใด
3.ประเด็นการเตรียมการรองรับผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมินายศักดิ์สยาม ได้ลงพื้นที่ตรวจสภาพปัญหาความแออัดคับคั่งของผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พร้อมมอบนโยบายการแก้ไขปัญหา โดยได้เตรียมความพร้อมอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวในด้านต่าง ๆ รวมถึงได้เปิดให้บริการจุดเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ (Common Use Self Check-In: CUSS) และจุดโหลดกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (Common Use Bag Drop: CUBD) บริเวณโถงผู้โดยสารขาออก ชั้น 4 อาคารผู้โดยสาร เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาความแออัดคับคั่งบริเวณเคาน์เตอร์เช็กอิน ซึ่งสถานการณ์การให้บริการในปัจจุบันดีขึ้นอย่างมาก
รวมทั้ง ได้แก้ไขปัญหาความล่าช้าในการรอสัมภาระในระยะเร่งด่วน โดยให้บริษัทผู้ให้บริการภาคพื้น ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทั้ง 2 ราย มีการเพิ่มจำนวนบุคลากรและอุปกรณ์ให้สอดคล้องกับจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากการเปิดประเทศ รวมทั้ง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้ขยายระยะเวลาให้บางสายการบินบริการภาคพื้นด้วยตนเอง เป็นการชั่วคราว สำหรับการแก้ไขปัญหาในระยะยาว บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) อยู่ระหว่างการสรรหาผู้ให้บริการภาคพื้นเพิ่มเติม เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น และเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณเที่ยวบิน จำนวนผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคตได้อย่างยั่งยืน
4.ประเด็นการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเป็นไปตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ที่คณะรัฐมนตรีจะเป็นผู้อนุมัติให้ดำเนินโครงการร่วมทุน หลังจากนั้น หน่วยงานเจ้าของโครงการ และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ก็ดำเนินการคัดเลือกเอกชนตามหลักกฎหมาย กฎระเบียบ และหลักธรรมาภิบาลตามขั้นตอนที่กำหนดในกฎหมาย จนได้ผลการคัดเลือกเอกชน รวมถึงส่งร่างเอกสารให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบ หลังจากนั้น หน่วยงานเจ้าของโครงการก็จะส่งร่างสัญญา และเงื่อนไขสำคัญของสัญญาร่วมลงทุนต่อ รัฐมนตรีเจ้ากระทรวง ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี ต่อไป ซึ่งจะเห็นได้ว่า รัฐมนตรีไม่มีอำนาจและหน้าที่ในการดำเนินการคัดเลือกเอกชน หรือกำหนดเงื่อนไข ซึ่งปัจจุบันการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างรอคำพิพากษาของศาลให้ถึงที่สุดก่อน จึงจะดำเนินการในขั้นต่อไป
5. ประเด็นความล่าช้าในการดำเนินโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-นครราชสีมา ได้สั่งการให้กรมทางหลวงเร่งรัดการก่อสร้างอย่างเต็มที่ โดยเน้นย้ำถึงคุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งคาดว่าปลายปี 2566 จะสามารถเปิดทดลองวิ่งช่วงปากช่องถึงปลายทางที่ทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา ยาวต่อเนื่องเป็นระยะทางยาวประมาณ 80 กิโลเมตร รวมถึงการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้เอกชนคู่สัญญาร่วมลงทุน การดำเนินงานและบำรุงรักษา เพื่อเร่งรัดงานติดตั้งระบบต่างๆ เช่น ระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง M-FLOW ระบบบริหารควบคุมการจราจร โดยจะเริ่มทดสอบระบบ พร้อมทยอยเปิดทดลองให้บริการได้ในปี 2567 และเปิดใช้งานอย่างเต็มรูปแบบในปี 2568 ต่อไป
6. ประเด็นสัญญาระบบตรวจบัตรโดยสารขึ้นเครื่องด้วยตัวเอง (CUPPS) ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ทราบว่าได้ดำเนินการเปรียบเทียบกรณีการลงทุนเองกับการว่าจ้างเอกชน พบว่าการให้เอกชนลงทุนจะประหยัดงบประมาณได้ 2,048 ล้านบาท ส่วนการประกันปริมาณผู้โดยสารที่ร้อยละ 90 นั้น เกิดขึ้นโดยการประมาณการก่อนการเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะรับไปแจ้งให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เจรจากับเอกชนโดยการให้เอกชนรับค่าจ้างเท่าปริมาณผู้โดยสารที่เกิดขึ้นจริง ทั้งนี้ กรณีที่จะมีการเยียวยาจะต้องดำเนินการตามหลักการตามมติคณะรัฐมนตรีด้วย
ทั้งนี้ นายศักดิ์สยาม เน้นย้ำอีกครั้งว่าการบริหารกระทรวงคมนาคมตลอดระยะเวลาเกือบ 4 ปี ที่ผ่านมา เป็นไปด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ มติคณะรัฐมนตรี และหลักธรรมาภิบาลที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมีผลงานเป็นที่ประจักษ์จนได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ และขอยืนยันว่าจะผลักดันการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนต่อไป