ผ่า นโยบาย พรรคการเมือง โค้งสุดท้าย ก่อนเลือกตั้ง “ขายฝัน” หรือ “ทำได้จริง”

การหาเสียงในโค้งสุดท้าย ของการเลือกตั้ง แทบทุกพรรคการเมือง ต่างงัดนโยบาย ”ประชานิยม” ชูประเด็น ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพิ่มเงินบัตรประชารัฐ รักษาฟรี พักหนี้ พัฒนาภาคอีสาน เพิ่มรายได้เกษตรกร ชาวนาผู้ปลูกข้าว ซึ่งต่าง และ ล้วนน่าสนใจ ส่วนจะทำได้หรือไม่ ต้องรอดูหลังเลือกตั้ง เมื่อได้เป็นรัฐบาล ผลงานจะเป็นบทพิสูจน์ ว่าเป็นแค่นโยบาย”ขายฝัน” หรือ “ทำได้จริง”

การเมืองในช่วงโค้งสุดท้าย ก่อนการเลือกตั้ง กำลังคึกคัก ทั้งในพื้นที่ กทม. และ ต่างจังหวัด ปรากฏการณ์ที่เห็นชัดเจนคือ การติดป้ายโฆษณา พรรคการเมือง ป้ายผู้สมัคร รวมทั้งนโยบายหาเสียง ในการประชาสัมพันธ์ ส่งผลให้ผู้ประกอบการผลิตป้ายโฆษณา มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ ธุรกิจกลับมาคึกคัก เฟื่องฟูอีกครั้ง นี่คือผลดีประการหนึ่งของ การเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจาก พรรคการเมือง ตัวผู้สมัคร แล้ว นโยบายหาเสียง ดูจะเป็นหัวใจสำคัญ ที่ทุกพรรค ต้องเค้นสมอง ชูประเด็นให้โดนใจมากที่สุด ส่วนนโยายใด จะขายฝัน หรือ ทำได้จริง เป็นเรื่องที่ประชาชนคนไทย ต้องพิจารณาให้รอบคอบ ก่อนจะหย่อนบัตรลงคะแนน

กลับไปสำรวจ ตรวจสอบ นโยบาย พรรคการเมือง ต่างๆ ว่า มี จุดดี จุดเด่น จุดด้อย อะไรกันบ้าง เพื่อเรียกน้ำย่อย อุ่นเครื่อง กันให้เห็น พอหอมปาก หอมคอ!

เริ่มจาก พรรคเพื่อไทย (พท.) โดย “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ในฐานะหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย หลังจากสร้างความฮือฮา ด้วยการประกาศขึ้นค่าแรง 600บาท/วัน จนถูกวิพากษ์ วิจารณ์ อย่างรุนแรง โดยเฉพาะจาก ซีก นายจ้าง ผู้ประกอบการแล้ว

ยังมีนโยบาย บันได 4 ขั้นเพื่อหมุดหมายชีวิตใหม่ของประชาชน คือ บันไดขั้นที่ 1 เพื่อศักยภาพใหม่ ของประเทศและประชาชนไทย , บันไดขั้นที่ 2 เพื่อรายได้ใหม่ แก้หนี้สินด้วยการเพิ่มพูนรายได้ทวีคูณ ให้เศรษฐกิจประเทศไทย เป็นเศรษฐกิจใหม่ที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง , บันไดขั้นที่ 3 เพื่อสังคมใหม่ ความมั่นคงคือความปลอดภัยของทุกคนอย่างเท่าเทียม และบันไดขั้นที่ 4 เพื่อการเมืองใหม่ ที่หลักนิติรัฐนิติธรรมเข้มแข็ง รัฐธรรมนูญต้องมีที่มาจากประชาชน วุฒิสภาต้องไม่มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี และรัฐของราชการต้องถูกเปลี่ยนเป็นรัฐของประชาชนอย่างแท้จริง “เวลาของประยุทธ์หมดแล้ว ตอนนี้ถึงเวลานับถอยหลังสู่ความเข้มแข็งของประชาชน และความมั่นคงทางเศรษฐกิจภายใต้การนำของรัฐบาลเพื่อไทย เพื่อศักยภาพใหม่ เพื่อรายได้ใหม่ เพื่อสังคมใหม่ เพื่อการเมืองใหม่ คือบันได 4 ขั้นสู่แลนด์สไลด์ “พรุ่งนี้เพื่อไทย เพื่อชีวิตใหม่ของประชาชน”

โดยมีหลักทำงานคือ ดินนำ น้ำดี มีต้นพันธุ์ ยืนยันราคา จัดหาแหล่งทุน สนับสนุนกรรมสิทธิ์ มีเป้าเปลี่ยนผืนแผ่นดินเดิมจากที่เคยสร้างรายได้ 10,000 บาท/ไร่/ปี เพิ่มเป็น 30,000 บาท/ไร่/ปี” แพรทองธาร กล่าว ขณะเดียวกัน ยังผุด นโยบาย เขตธุรกิจใหม่ ดึงเงินนอก ปลุกเงินใน เปลี่ยนเงินที่หลับใหล เป็นเงินที่สร้างเงิน ด้วย “เขตธุรกิจใหม่” 4 แห่ง เชียงใหม่ กรุงเทพ ขอนแก่น และหาดใหญ่ขณะที่ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ประกาศ ชื่อ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี โดยชูนโยบาย เพิ่มวงเงิน “บัตรประชารัฐ” 700 บาท กล่าวได้ว่า เป็นการ คิกออฟ นโยบายแรก ที่ออกมาชนกับ นโยบาย ค่าแรง 600บาท ของ พรรคเพื่อไทย โดยตรง “บิ๊กป้อม” ยืนยันว่า การสานต่อ “บัตรประชารัฐ” เพิ่มวงเงิน 700 บาทต่อเดือน จำนวน 19.6 ล้านราย สามารถทำได้แน่นอน ด้วยเงื่อนไขที่ว่า หากพปชร.ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล พล.อ.ประวิตร เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เมื่อไหร่ พร้อมทำทันที ให้ “อยู่ดีกินดี มีเงินใช้ มีงานทำ” ขณะเดียวกัน “พร้อมประสานกับทุกคน คุยกันได้ทุกพรรค” ภายใต้สโลแกน “ก้าวข้ามความขัดแย้ง ขจัดทุกปัญหา พัฒนาทุกพื้นที่”ด้านพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โดย “อู๊ดด้า” จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรค และ “เสี่ยต่อ” เฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาฯพรรค ในฐานะที่ดูแล กระทรวงพาณิชย์ และ กระทรวงเกษตรฯ มัดใจเกษตรกร และ ชาวนาไทย ด้วยนโยบาย “เกี่ยวข้าวปั๊บ รับ 3 หมื่นบาท” พร้อม ยุทธศาสตร์ “สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ” หากได้เป็นรัฐบาล หลังการเลือกตั้งครั้งหน้า เปิดตัวแคมเปญ ซีซั่น 1 ด้วยนโยบาย “สร้างเงิน” 8 นโยบาย

พุ่งเป้าไปที่โหวตเตอร์ “ครึ่งประเทศ” ในภาคเกษตรกรรม ต่อยอดโครงการประกันรายได้ ชาวนา 4.8 ล้านครัวเรือน รับครัวเรือนละ 3,000 บาท ประชาธิปัตย์เดินกลยุทธ์การตลาด “เกี่ยวปั๊บรับ 3 หมื่น” ตามรอย “ค่าแรงวันละ 600 บาท” ของพรรคเพื่อไทย โดยการเพิ่มเงินในส่วนของค่าเก็บเกี่ยว จากปัจจุบันชาวนาได้รับค่าเก็บเกี่ยวอยู่แล้ว ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ต่อครัวเรือน เป็นจ่ายค่าเก็บเกี่ยวเพิ่มเท่าตัว เป็นไร่ละ 2,000 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ต่อครัวเรือน

“4 ปีที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ ดูแลกลุ่มเกษตรกรมาตลอด และเป็นภาคหลัก ซึ่งเกษตรกรภาคเกษตรทั้งหมด 9.7 ครัวเรือน ครัวเรือนละ 4 คน หรือมีคนอยู่ในภาคเกษตรกว่า 30 ล้านคน” จุรินทร์ กล่าว

นอกจากนี้ ยังมี นโยบาย “ส่วนต่าง” ประกันรายได้ พืชเศรษฐกิจ-การเมือง 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์ม และข้าวโพด , นมโรงเรียนฟรี 365 วัน จากปัจจุบัน 280 วัน , ให้เงินอุดหนุนกลุ่มเกษตรกรประมง กลุ่มละ 100,000 บาทต่อปี 2,800 กลุ่ม จากเดิมปีละ 200 กลุ่ม, ปลดล็อก ประมงพาณิชย์ จาก IUU, ออกโฉนดที่ดิน 1 ล้านแปลง ภายใน 4 ปี แก้ปัญหาไม่มีที่ดินทำกิน , ออกกรรมสิทธิ์ทำกินให้กับเกษตรกรที่อยู่ในที่ดินรัฐ และ ธนาคารหมู่บ้านและชุมชน แห่งละ 2 ล้านบาททั้งประเทศ

เรียกได้ว่า เลือกตั้ง ครั้งนี้ ประชาธิปัตย์ ทุ่มสุดตัวพรรคภูมิใจไทย โดย “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล ภายใต้เงา “ครูใหญ่” เนวิน ชิดชอบ กำกับดูแลอย่างใกล้ชิด จาก เมืองบูรีรัมย์ ซึ่ง นอกจากดูด ส.ส.เกรดเอ ได้ค่อนข้างมาก จากทุกพรรคแล้ว ยังต้องรักษาสโลแกน “พูดแล้วทำ” และ ทำทันที ภายใน 3 เดือน หากว่า พรรคภูมิใจ ชนะเลือกตั้ง และ อนุทิน ชาญวีรกูล ได้เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30

ภูมิใจไทยประกาศนโยบาย พักหนี้ 3 ปี หยุดต้น ปลอดดอกเบี้ยคนละไม่เกิน 1 ล้านบาท, ออกพันธบัตรรัฐบาล ชื่อ พันธบัตร “Thai Power” หรือ “พันธบัตรคนไทยรวมพลัง” จำหน่ายให้กับประชาชนผู้มีเงินฝาก ดอกเบี้ย ร้อยละ 2.5-3 แล้วนำเงินที่ได้จากการขายพันธบัตรมาแก้ปัญหาหนี้สินให้ประชาชน , นโยบายสาธารณสุข เครื่องฉายรังสีรักษามะเร็ง ฟรี ทุกจังหวัด ศูนย์ฟอกไตฟรีทุกอำเภอ ด้วยการติดตั้งเครื่องฉายรังสีรักษามะเร็งให้โรงพยาบาลทุกจังหวัด จังหวัดละ 1 เครื่อง เป็นอย่างน้อย ภายใน 4 ปี รักษาฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

นโยบายด้านเกษตร-เกษตรร่ำรวย ด้วย Contract Farming รู้ราคาก่อนปลูก รับเงินก่อนขาย เสียหายมีประกันเฟสแรก ได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน เฟสที่สอง ข้าวโพด มะพร้าว ลำไย , นโยบายลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านฟรี โครงการรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า คันละ 6,000 บาท ผ่อนชำระเดือนละ 100 บาท 60 งวด

ภูมิใจไทย “พูดแล้วทำ” จับต้องได้ ทำได้จริง ไม่เพ้อฝัน ประกาศปักธง กทม. ด้วยนโยบายดูแลคนกรุงเทพฯ ทุกวัย ตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน หรือ “นโยบาย 24/7” เพิ่มได้ราย เช่น การหารายได้เพิ่มได้ 3 กะ , พันธบัตรรัฐบาล (Thai Power Bond) ลดรายจ่าย เช่น พักหนี้ 3 ปี ปลอดดอก One day Pass Ticket ตั๋ววัน รถ เรือ เริ่มต้น 15 บาท ตลอดวันไม่เกิน 50 บาท รถไฟฟ้า เริ่ม 15 บาท ตลอดสายไม่เกิน 40 บาท เครื่องกรองน้ำดื่มทุกชุมชน ติดโซลาร์รูฟ ฟรี ลดภาษี 2 ทาง และ จุดยืน-อุดมการณ์ ชูนโยบายอันดับ 1 ปกป้อง-เทิดทูลสถาบันพระมหากษัตริย์

ต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด ชนิดกระพริบตาไม่ได้่ สำหรับ “ภูมิใจไทย” ที่ถูกทุกฝ่ายจับตามองอย่างยิ่งในฐานะ พรรคการเมือง “เนื้อหอม” มากที่สุด!

พรรคก้าวไกล โดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ระบุว่า หากได้เป็นรัฐบาล จะเปลี่ยนระบบสวัสดิการอนาถาเป็นสวัสดิการถ้วนหน้า โดย เด็ก 0-6 ขวบ จะได้เงิน 1,200 บาทต่อเดือน ทั้งยังจะปฏิรูปสวัสดิการสังคม โดยเพิ่มสิทธิประโยชน์แรงงานนอกระบบ และบอร์ดประกันสังคมจะต้องมาจากการเลือกตั้ง บำนาญถ้วนหน้า 3,000 บาทต่อเดือน รวมถึงระบบดูแลผู้สูงอายุป่วยติดเตียง การมีสวัสดิการเช่นนี้จะช่วยรองรับให้แรงงานได้ลืมตาอ้าปาก ไม่ต้องคอยห่วงหน้าพะวงหลัง ขณะเดียวกัน ประกาศปลดแอกภาคอีสานให้พ้นหนี้สิน อีสานถูกสาปจากการพัฒนา ประชาชนมีปัญหาทั้งหนี้สิน ที่ดินทำกิน สังคม การกดขี่ และการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค พร้อมทั้ง ชูนโยบายอีสาน 2 เท่า คือเส้นทางการพัฒนาที่ประชาชนจะเป็นผู้กำหนดเอง การพัฒนาภาคอีสานที่จะทำให้ประชาชนมีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นแบบเท่าตัว และลดความยากจนลงในปี 2575อีกพรรคที่น่าสนใจ คือ “ชาติพัฒนากล้า” ที่ ผนึกกำลังกันระหว่าง “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ” จาก ชาติพัฒนา กับ “กรณ์ จาติกวณิช” อดีต รมว.คลัง ในสมัยรัฐบาล “อภิสิทธิ์ เชชาชีวะ” จากพรรคกล้า โดย ชูนโยบาย “ยกเลิกหนี้แบล็กลิสต์ 5.5 ล้านราย” พร้อมจะ รื้อระบบสินเชื่อ” ใช้ระบบ Credit Scoring โดยมีคนติดแบล็กลิสต์ 5.5 ล้านคน ในจำนวนนี้ 3.2 ล้านคน ติดแบล็กลิสต์ช่วงโควิด-19 ระบาด

“วันนี้ชาติพัฒนากล้าจึงออกนโยบายที่สามารถแก้ไขปัญหาได้โดยไม่ต้องใช้เงินภาษีแม้แต่บาทเดียว ด้วยการรื้อระบบเก็บข้อมูลของบริษัทเครดิตบูโร ยกเลิกระบบแบล็กลิสต์ ใช้ระบบ Credit Scoring หรือวิธีประเมินสินเชื่อตามจริงแทน” กรณ์ โชว์มันสมองอดีตขุน คลัง และ ระบุว่า จะยกเลิกแบล็กลิสต์บูโร ใช้ Credit Score แทน

การนำประวัติการผิดนัดชำระหนี้ และถูกยกเป็นเหตุผลการปฏิเสธการขอสินเชื่อ นั่นคือการมี “แบลกลิสต์” โดยพฤตินัย สิ่งที่พรรคเสนอ คือ ไม่ใช่การยกเลิกเครดิตบูโร ไม่แม้แต่ลบประวัติใคร แต่เป็นการปรับระบบเป็นระบบ credit score ใช้ Data ข้อมูลอื่นๆ มาเป็นองค์ประกอบคำนวน score ร่วมกับประวัติชำระหนี้

ก็เป็นอีก ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ ทางการเมือง ซึ่งต่างฝ่าย ต่างงัด ขึ้นมาชูเป็นประเด็นหาเสียง เพื่อซื้อใจประชาชน ส่วนนโยบาย “ประชานิยม” ต่างๆ เหล่านี้ จะทำได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม ว่า…สุดท้ายแล้ว เป็นการ “ขายฝัน” หรือ “ทำได้จริง”