ควันหลง เวที WORLD ECONOMIC FORUM ต่างชาติ ยก สธ.ไทย สุดแกร่ง

THAILAND SOFT POWER ! ควันหลงประชุม WORLD ECONOMIC FORUM “ต่างชาติ” ยกระบบ สาธารณสุขไทย สุดแกร่ง เป็นจุดแข็ง ดึงดูดการลงทุน

วันที่ 26 มกราคม 2566 นายพลพีร์ สุวรรณฉวี  รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ประจำนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า การประชุม WORLD ECONOMIC FORUM ที่สมาพันธรัฐสวิส ณ กรุงดาวอส ระหว่างวันที่ 18-20 มกราคม ที่ผ่านมา ถือเป็นภาพสะท้อนความสำเร็จของระบบสุขภาพประเทศไทย ซึ่งต่อยอดจนเป็นที่รู้จักในวงการเศรษฐกิจโลก
เวทีนั้น อันที่จริงควรมีแต่ผู้บริหารด้านการเงิน การคลัง การพาณิชย์ แต่กลับมีชื่อของนายอนุทิน ร่วมด้วย เรื่องของเรื่องคือ นานาชาติมองว่า ระบบสุขภาพของไทย ในยุคของท่านอนุทิน เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ นักลงทุนมองว่าไทยเป็นศูนย์กลางด้านงานบริการสุขภาพระดับนานาชาติไปแล้ว และทุกคนต่างต้องการรู้ทิศทางว่าประเทศไทย จะไปทางไหน กระบวนการทั้งหมด เราเดินหน้าเพื่อจัดการกับปัญหาโควิด-19 เท่านั้น หรือ เราจะรักษามาตรฐานเช่นนี้ไปเรื่อยๆ โดยไม่อิงกับสถานการณ์โควิด
นายอนุทิน ยืนยันแล้วว่า มาตรฐานงานสาธารณสุขไทยในยุคของเขา และหลังจากนี้ จะไม่มีตกแน่นอน เพราะรากฐานความสำเร็จของระบบสาธารณสุขไทยนั้น ไม่ได้เกิดมาในยุคของโควิด-19 ที่เราได้คำชื่นชมมากมาย แต่มันแกร่งมาก่อนหน้า เพียงแต่ในยุคที่โควิด-19 ระบาด ทุกคนมาสนใจเรื่องระบบสาธารณสุขของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทำให้ประเทศไทย ที่ทำได้ดีอยู่แล้ว มีความโดดเด่นยิ่งขึ้น คำตอบของนายอนุทิน สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนอย่างมาก ที่ไม่เพียงแต่กลุ่มธุรกิจด้านสุขภาพ แต่ยังรวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วย

ในระดับรัฐบาล ประเทศไทย เป็นที่สนใจของตัวแทนจากหลายๆ ประเทศ ที่ขอหารือกับเรา อย่างเช่น การที่นายมานซุกร์ ลัคมาน มันดาวิยา (Mansukh Laxman Mandaviya) รมว.สวัสดิการสาธารณสุขและครอบครัวฯ จากประเทศอินเดีย ได้ขอเข้าพบนายอนุทิน เพื่อแสวงหาความร่วมมือด้านการพัฒนาระบบสาธารณสุขร่วมกัน ไปจนถึงการร่วมวิจัยเรื่องวัคซีนชนิดต่างๆ ไปจนถึงวัคซีนโควิด-19 ซึ่งไทยเอง มีโรงงานวัคซีนภายในประเทศ ทำให้ไทย และอินเดีย อยู่ในสถานะของการพึ่งพาอาศัยระหว่างกัน อันจะเป็นประโยชน์ทั้งเขาและเรา

“ตอนที่เราไปประชุมที่ดาวอส ผอ.องค์การอนามัยโลก ยังกล่าวชื่นชมนายอนุทิน และประเทศไทย ต่อตัวแทนของภาคธุรกิจระดับโลก และผู้แทนจากรัฐบาลนานาชาติ ถึงประสิทธิภาพของระบบสาธาณสุขไทย ไปจนถึงการเผื่อแผ่องค์ความรู้ และทรัพยากร ที่ไทยพร้อมแบ่งปันกับชาวโลก ชั่วโมงนี้ หลายชาติมองว่าเรื่องของระบบสุขภาพไทยนั้น เป็น SOFT POWER ที่ดึงดูดการลงทุน สิ่งเหล่านี้ไม่เคยถูกพูดถึงมาก่อนเลย”