วุฒิสภา เคาะแล้วเห็นชอบส่งรายงานเสนอรัฐบาล จ่ายปชช. 500 บาท ไปเลือกตั้ง

ที่ประชุมวุฒิสภา ถกรายงานแก้ปัญหาซื้อเสียง ผุดไอเดียแจกเงินผู้มีสิทธิไปเลือกตั้งคนละ 500 บาท แก้ปัญหาซื้อเสียง ด่ายับนักการเมือง ชั่วช้าซื้อเสียง ทำลายประชาธิปไตย ก่อนผ่าน เห็นชอบส่งต่อเสนอให้รัฐบาลพิจารณาดำเนินการต่อไป

การประชุมวุฒิสภา (ส.ว.) วานนี้ (23 ม.ค.) โดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้พิจารณา รายงานการศึกษาแนวทางการส่งเสริมและการพัฒนาการเลือกตั้งให้สุจริตและเที่ยงธรรม ตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. เป็นประธาน กมธ.พิจารณาเสร็จแล้ว

โดยนายวงศ์สยาม เพ็งพานิชภักดี เลขานุการ กมธ. ชี้แจงสาระสำคัญของรายงานการศึกษาว่า การเลือกตั้งซ่อมที่ผ่านมา พบการซื้อเสียงทุกพื้นที่ แยบยลมากขึ้น หรือ ในการเลือกตั้งท้องถิ่น อาทิ เลือกนายกฯ เทศบาล, เลือกนายกฯอบต.พ่วงสมาชิก ซื้อเสียงเป็นพวง พวงละ 1-2 หมื่นบาท ดังนั้นต้องสร้างความรู้ให้ประชาชนต่อต้านทุจริต การบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้งต้องเข้มงวด แก้กฎหมายให้ผู้ขายสิทธิไม่ใช่ผู้กระทำผิด เพื่อกันไว้เป็นพยาน เอาผิดคนซื้อเสียง ให้รางวัลนำจับผู้ให้เบาะแสซื้อเสียง

ปัญหารับเงินซื้อเสียงมาจากความจำเป็นทางเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงเสนอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือ ภาครัฐ จ่ายค่าเดินทางให้ผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง คนละ 500 บาท รวมเป็นใช้เงิน 2 หมื่นล้านบาท จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 40 ล้านคน การให้ค่าเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 4 ปีมีครั้ง จะทำให้ประชาชนตอบแทนคุณแผ่นดิน เลือกคนดี ไม่ซื้อสิทธิขายเสียง ต่างจังหวัดต้องเดินทางไกล มีค่าใช้จ่าย 80-100 บาท ให้ประชาชนรู้สึกประชาธิปไตยกินได้ตั้งแต่วันออกมาใช้สิทธิและควรแก้ระบบเลือกตั้งส.ส.เขต ใช้บัตรใบเดียว ไม่ต้องมี ส.ส.บัญชีรายชื่อ ใครได้คะแนนสูงสุดลำดับ 1 เป็น ส.ส.เขต ส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้ผู้สมัครส.ส.เขต ที่แพ้เลือกตั้ง แต่ได้คะแนนสูงสุดในบรรดาผู้ที่ไม่ได้รับเลือก ได้เป็นส.ส. บัญชีรายชื่อ เรียงลำดับไปจนครบจำนวนที่กำหนด จะได้ ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อจากผู้ได้รับคะแนนสูงสุดจากประชาชน

หลังนายวงศ์สยาม ชี้แจงจบแล้ว ที่ประชุม ส.ว. ได้อภิปรายอย่างกว้างขวาง อาทิ นายถาวร เทพวิมลเพชรกุล สนับสนุนให้ กกต. จ่ายค่าเดินทางตอบแทนผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 500 บาท เพราะการทุจริตเลือกตั้งที่ปราบปรามไม่ได้ เนื่องจาก กกต. ประจำหน่วย หรือ ผู้อำนวยการการเลือกตั้งในพื้นที่ไม่มีความรู้ ควบคุมการเลือกตั้งให้ยุติธรรมไม่ได้

นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ อภิปรายว่า ขณะนี้ใกล้ถึงวันเลือกตั้ง มีข่าวนักการเมืองย้ายพรรค เหมา ส.ส. ด้วยกล้วยน้ำหนักมากมาย บางพรรคแจกกล้วย 80 กิโลกรัม อะไรๆ ก็แจกกล้วย จะให้ประชาชนคิดอย่างไร จากการลงพื้นที่ มีนักการเมืองท้องถิ่น เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายกอบจ. มาบอกว่า ขอฝากประเด็นแก้รัฐธรรมนูญว่า เมื่อจะแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา158 วาระนายกฯ 8 ปี ก็ช่วยปลดล็อก นายก อบจ.,นายก อบต., นายกเทศมนตรี, กำนัน, ผู้ใหญ่บ้านใ ห้ไม่ต้องจำกัดวาระดำรงตำแหน่งด้วย อย่างกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน บางคนอายุ 60 ปีแล้วยังแข็งแรง ทำงานได้ สามารถต่ออายุได้อีก หากมีการแก้รัฐธรรมนูญในรัฐบาลต่อไปจะเสนอปลดล็อกตามที่เสนอมาด้าน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา อดีตเลขาธิการ กกต. ในฐานะกมธ. ชี้แจงว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมา กระบวนการป้องกันการซื้อเสียงดำเนินการมาต่อเนื่อง ทั้งการคุ้มครองพยาน การให้รางวัลนำจับ ผู้ชี้เบาะแสซื้อเสียง แต่การรับรู้ของประชาชนมีน้อยไป ขอเสนอให้ เปิดแนวรบที่หมู่บ้าน กกต. ต้องติดป้ายในหมู่บ้าน แจ้งประชาชนให้ทราบ ถึงการได้รางวัลตอบแทน 1 แสนบาท หากแจ้งเบาะแสซื้อเสียง เพราะที่ผ่านมา การสอบสวนทำได้แค่แจกใบเหลือง ใบแดงเท่านั้น เชื่อว่า หากเปิดแนวรบที่หมู่บ้านได้ จะได้เห็นในชาตินี้ว่า มีการเลือกตั้งไม่ซื้อเสียงเกิดขึ้นจริง

นายจเด็จ อินสว่าง กล่าวว่า ถ้าดูจากการหาเสียงของพรรคการเมือง ขณะนี้ มีการสัญญาว่าจะให้ เสี่ยงผิดกฎหมายมากมาย หรือ การครอบงำพรรคการเมือง ก็สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย การซื้อสิทธิขายเสียงไม่ใช่อย่างเดียวที่ทำลายประชาธิปไตย แต่มีอีกหลายเรื่อง ที่บ่อนทำลายประชาธิปไตยเป็น “กับดักประชาธิปไตย” ถึงจะได้เสียงข้างมากเป็นรัฐบาล ถือว่าได้มาไม่ถูกต้อง ถ้าปล่อยให้มีวัฒนธรรมเลวๆ ชั่วช้าต่ำทรามเช่นนี้ บ้านเมืองจะหายนะ หลายหมู่บ้าน หลายตำบล รับวัฒนธรรมซื้อเสียงว่า เป็นเรื่องชอบธรรม ถ้าปล่อยไปจะได้นักการเมืองไม่ชอบธรรม ไปออกกฎหมายปกครองบ้านเมือง จะยิ่งเลวไปอีก โดยภายหลังการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ไม่มี ส.ว.คนไหนคัดค้านรายงานฉบับดังกล่าว ถือว่า ที่ประชุม ส.ว.เห็นชอบให้นำเสนอต่อรัฐบาลนำไปพิจารณาต่อไป