รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมเสนอ คณะกรรมกาารพืชน้ำมัน และ น้ำมันพืช พิจารณาปรับสัดส่วนโควต้านำเข้ามะพร้าวใหม่ หลังพบปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำ
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมหารือมาตรการนำเข้ามะพร้าวและผลิตภัณฑ์มะพร้าวเข้ามาในราชอาณาจักร โดยมี นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายปารเมศ โพธารากุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกณ์ นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายกฤษ เอี่ยมฐานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจการแปรรูปสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ผู้แทนกรมส่งเสริมการเกษตร ผู้แทนกรมศุลกากร ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ผู้แทนกรมการค้าต่างประเทศ เข้าร่วม ณ ห้องประชุม 135 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผ่านระบบ Zoom Cloud Meetingรมช.มนัญญา กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ประชุมหารือร่วมกับเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวและตัวแทนเครือข่ายชาวสวนมะพร้าว จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อนด้านการผลิต ราคา การตลาด และการนำเข้า – ส่งออกมะพร้าวของไทย เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ณ ศาลาเอนกประสงค์บ้านตะเคียนสองพี่น้อง หมู่ที่ 8 ต.ธงชัย อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ นั้น เกษตรกรได้ร้องเรียนว่าปัจจุบันราคามะพร้าวตกต่ำ โดยราคาจำหน่ายอยู่ที่ 5 บาทต่อผล จึงไม่ได้จ้างเก็บมะพร้าวเพราะไม่คุ้มกับต้นทุนการผลิต ซึ่งตรงกับข้อมูลที่ สศก. รายงานว่า ต้นทุนเฉลี่ยการผลิตมะพร้าวอยู่ที่ 7 บาทต่อผล ดังนั้น จึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมร่วมกันเพื่อหาแนวทางแก้ไข และพบว่า มีการนำเข้ามะพร้าวนอกโควต้าจำนวน 130,000 ตัน โดยเอกชนยอมเสียภาษีนอกโควต้า ร้อยละ 54 เพื่อเลี่ยงการปฏิบัติตามเงื่อนไขของการอนุญาตนำเข้าตามโควต้านอกจากนี้ ยังพบว่ามีการนำเข้ากะทิสดจากต่างประเทศ ผ่านสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ซึ่งทาง อย. จะตรวจตามอำนาจของกฎหมาย อย. คือเรื่องการปนเปื้อนความสะอาดและโรงงานที่ผลิตต้องได้มาตรฐานอาหาร และไม่จำกัดปริมาณนำเข้า ซึ่งในกรณีของ อย. นั้นไม่ได้ถูกนำมาคำนวณเป็นปริมาณผลผลิตมะพร้าวตามความต้องการใช้ในประเทศ โดยคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช จะนำมาพิจารณากำหนดออกมาเป็นสัดส่วนโควต้าให้นำเข้ามะพร้าวในแต่ละปี จึงมีผลให้กระทบกับราคาผลผลิตมะพร้าวในประเทศทางอ้อมอย่างมีนัยยะสำคัญ นอกจากนั้นยังพบว่า กรณีถ้าเป็นโรงงานผลิตมะพร้าวที่ขอส่งเสริมการลงทุน (BOI) จะยังได้สิทธิ์ในการขอคืนภาษีจากการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศอีกด้วย ดังนั้นน่าจะเป็นประเด็นที่ คกก.พืชน้ำมันฯ น่าจะต้องนำมาพิจารณาประกอบว่าจะช่วยเหลือชาวสวนมะพร้าวอย่างไร“ได้มอบหมายให้นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ทำหนังสือตามข้อสังเกตนี้ ถึง สศก. นำเสนอต่อ คกก.พืชน้ำมันฯ ที่มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อพิจารณาและร่วมกันแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ทุกกระทรวงที่มีการนำเข้าสินค้าเกษตร ทั้งแปรรูปและไม่แปรรูป ต้องมีการบูรณาการการทำงานและข้อมูลร่วมกัน เพื่อให้ทราบได้ว่าสินค้าที่นำเข้าแต่ละชนิดจะกระทบกับเกษตรกรซึ่งเป็นปลายทางอย่างไร นอกจากนั้น กรณีมะพร้าวที่มีการนำเข้าทั้งในโควต้าและนอกโควต้านั้น ได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรเข้มงวดตรวจสอบ 100% ทุกตู้ และให้ อย.รวบรวมตัวเลขปริมาณน้ำกะทิที่ขออนุญาตนำเข้าต่อปี เพื่อเสนอต่อ คกก.พืชน้ำมันฯ พิจารณาโดยเร็ว โดยในการประชุมวันนี้ สศก.รายงานว่า ราคามะพร้าวขยับเพิ่มขี้นอยู่ที่ 12 บาทต่อผล ถือเป็นสัญญาณที่ดีของเกษตรกรชาวสวนมะพร้าว” รมช.มนัญญา กล่าวนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรจะเร่งทำหนังสือตามข้อสั่งการของ รมช.เกษตรฯ ถึง สศก. ภายในอาทิตย์หน้า เพื่อให้ทันนำเข้าที่ประชุม คกก.พืชน้ำมันฯ ที่อยู่ระหว่างการนัดประชุมเพื่อพิจารณากรณีดังกล่าว โดยในการประชุมกรมการค้าต่างประเทศรายงานว่า คกก.พืชน้ำมันฯ ได้อนุมัติให้นำเข้ามะพร้าวตามกรอบ WTO และ AFTA แบ่งเป็น 1. ตามกรอบ AFTA อนุมัติปริมาณ 64,615 ตันต่อปี โดยมีการนำเข้าจริงปริมาณ 5,348.44 ตัน และ 2. ตามกรอบ WTO อนุมัติปริมาณ 2,317 ตัน ปัจจุบันนำเข้าเต็มจำนวนแล้ว รวม 2 กรอบ ปริมาณ 7,000 กว่าตัน ซึ่งจะอนุญาตให้เอกชนนำเข้าในช่วงนอกฤดูการผลิตเท่านั้น ดังนั้นสาเหตุที่ราคามะพร้าวตกต่ำจึงไม่เกี่ยวข้องกับมะพร้าวที่นำเข้าตามโควต้า แต่น่าจะมาจากการนำเข้านอกโควต้า เนื่องจากกรมการค้าต่างประเทศรายงานว่า มียอดนำเข้ามะพร้าว ม.ค. – พ.ย. 65 รวม 130,000 ตัน ซึ่งเป็นการนำเข้านอกโควต้า WTO ที่เสียภาษีร้อยละ 54ทั้งนี้ อำนาจหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรจะเป็นการตรวจตาม พรบ.กักพืช ซึ่งได้สั่งการให้ตรวจอย่างเข้มงวด 100% ทุกตู้ โดยมีการนำเข้าสองด่าน คือด่านท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือกรุงเทพ ซึ่งเป็นสองด่านที่คณะรัฐมนตรีกำหนดให้นำเข้า เนื่องจากมะพร้าวเป็นสินค้าควบคุม โดย สศก. รายงานว่า ปัจจุบันความต้องการใช้มะพร้าวในประเทศ มีปริมาณ 1.1 ล้านตัน ในประเทศผลิตได้ 8 – 9 แสนตัน จึงต้องมีการนำเข้าในส่วนต่าง 3 – 6 แสนตันต่อปี ภายใต้การพิจารณาของ คกก.พืชน้ำมันฯ