ผลงานที่น่าจดจำของ ประชาธิปัตย์ ไม่ใช่ “ดีแต่พูด” แต่เห็นเป็น “รูปธรรม” ชัดเจน

มีสำนวนทางการเมืองเกี่ยวกับ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) คือ “ดีแต่พูด” ซึ่งถ้าพิจารณากันด้วยใจที่เป็นธรรม และเพ่งพินิจถึงเนื้องาน จะพบผลงานของประชาธิปัตย์มากมายที่น่าจดจำ และส่วนใหญ่เป็นผลงานที่ยังดำรงอยู่จนถึงทุกวันนี้

ที่สำคัญยังไม่พบว่ารัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์ เจอคดีทุจริตจนถึงขั้นติดคุกเลยแม้แต่คนเดียว อันเป็นไปตามเจตนารมณ์และอุดมการณ์ของพรรคเกี่ยวกับ การต่อต้านการทุจริตคอรปชั่น มีแต่เพียงข้อกล่าวหาในเชิงสังคม แต่ไม่มีหลักฐานเพียงพอในการพิสูจน์

กล่าวถึงผลงานประชาธิปัตย์มีมากมาย แต่ขอกล่าวแต่เพียงย่อๆ การจัดตั้ง กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ขึ้นเมื่อวันที่ 23 ก.ย. พ.ศ. 2536 ในรัฐบาล นายชวน หลีกภัย (ครม. คณะที่ 50 ระหว่าง 23 ก.ย.35 – 13 ก.ค.38) เดิมภารกิจด้านแรงงานอยู่กับกรมแรงงาน สังกัดกระทรวงมหาดไทย เมื่อภารกิจในการดูแรงงานมีมากขึ้น ประชาธิปัตย์ จึงเสนอให้จัดตั้ง กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมขึ้น และแต่งตั้ง “ไตรรงค์ สุวรรณคีรี” เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานฯ มี “นิพนธ์ บุญญามณี” เป็นเลขานุการ

นอกจากนี้ยังจัดทำโครงการขยายถนน 4 ช่องทางจราจรไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศเป็นครั้งแรก ตามนโยบายหลักของรัฐบาลชวน 1 (ชวน หลีกภัย) ที่ ขยายถนนเป็น 4 ช่องทางจราจร จากกรุงเทพฯ ไปภาคเหนือถึงเชียงราย ไปภาคอีสานถึงหนองคาย ไปภาคตะวันออกถึงตราด และไปภาคใต้ถึงนราธิวาส โครงการเสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์และได้ใช้เป็นเส้นทางคมนาคมหลักของประเทศจนถึงปัจจุบัน

การจัดทำโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายแรกของประเทศไทยคือ ถนนมอเตอร์เวย์ สายกรุงเทพฯ-ชลบุรี โดยอนุมัติ และ เริ่มก่อสร้างในสมัยรัฐบาลชวน 1 เมื่อปี พ.ศ. 2537 และเปิดใช้งานได้เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2541 ในสมัยรัฐบาล ชวน 2

พรรคประชาธิปัตย์ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจตามอุดมการณ์ของพรรค จึงผลักดันพระราชบัญญัติ สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ในรัฐบาล นายชวน หลีกภัย (ครม. คณะที่ 50 (23 ก.ย.35 – 13 ก.ค.38) ทำให้มีการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบใหม่ ที่เป็นการกระจายอำนาจและงบประมาณสู่ท้องถิ่นทั่วประเทศ คือ “องค์การบริหารส่วนตำบล” หรือ อบต. ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ให้นายกฯอบต.และส.อบต.มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน จากเดิมกำนันทำหน้าที่เป็นนายกฯอบต.ด้วย

ผลงานเรื่องการกระจายอำนาจของพรรคประชาธิปัตย์ มีอีกมากมาย เช่น ยกฐานะสุขาภิบาลทั่วประเทศ ขึ้นเป็นเทศบาลตำบล แก้ไขพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด ให้นายกฯอบจ.มาจากการเลือกตั้ง โดยตรงของประชาชน จากเดิมผู้ว่าฯสวมหมวกสองใบ และ ช่วงหลัง สจ.เลือกกันเองมาเป็นนายกฯอบจ. รวมถึงการตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ให้ผู้ว่าฯมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน จากเดิมมาจากการแต่งตั้งของมหาดไทย รวมถึงผลักดันให้มีการจัดตั้ง เมืองพัทยา เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษคล้ายกับกรุงเทพมหานคร

ที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้ คือการจัดตั้ง กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดย รัฐบาล นายชวน หลีกภัย (ครม. คณะที่ 50 (23 ก.ย.35 – 13 ก.ค.38)) มีมติเห็นชอบในหลักการโครงการจัดตั้งกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2538 และต่อมาได้จัดทำ พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2541 ขึ้นในรัฐบาลชวน 2 (ครม. คณะที่ 53 (14 พ.ย.40 – 9 พ.ย.43) ซึ่งเป็นโครงการที่ก่อประโยชน์ต่อการศึกษา เปิดโอกาสให้ลูกหลานคนยากคนจนได้กู้ยืมเรียนด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำ ทำงานแล้วค่อยผ่อนคืนที่หลังการเสนอ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ในรัฐบาล นายชวน หลีกภัย (ครม. คณะที่ 53 (14 พ.ย.40 – 9 พ.ย.43) ซึ่งเป็น พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับแรกของไทย ที่มอบสิทธิในการได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีแก่เยาวชนไทย โดยรัฐจะต้องจัดให้ทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย พระราชบัญญัติดังกล่าวจัดทำจนสำเร็จโดยการกำกับดูแลของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแล สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ในขณะนั้น จัดตั้งโรงพยาบาลประจำอำเภอทั่วประเทศ

ประชาธิปัตย์ ให้ความสำคัญกับการสร้างคน จึงเน้นไปเรื่องการศึกษา นอกจากเรื่องการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน การปฏิรูปการศึกษา ประชาธิปัตย์ยังดำเนินการปรับเปลี่ยนจาก อนุบาลชนบทมาเป็นศูนย์เด็กเล็ก ริเริ่มโครงการนมโรงเรียน เริ่มปี2536 สมัยนายชวนเป็นนายกฯมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อให้เด็กได้ดื่มนมกันทุกคน และยังมีโครงการอาหารกลางวันฟรี ที่โรงเรียน

ส่วนการดูแลผู้สูงอายุ ก็มีโครงการเบี้ยผู้สูงอายุ ให้ได้รับเงินเพื่อดูแลชีวิตผู้สูงอายุเป็นรายเดือนๆละ 600 บาท ที่ทุกวันมีพรรคการเมืองบางพรรคเสนอต่อยอด เพิ่มวงเงิน 2000 บาท 3000 บาทบ้าง เปลี่ยนชื่อเป็นอย่างอื่นบ้าง

ในสมัย “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็มีการผลักดันให้มี การจัดตั้งโรงพยาบาลประจำอำเภอครบทุกอำเภอ เพื่อดูแลสุขภาพของประชาชนได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น

ประชาธิปัตย์เล็งเห็นความสำคัญของป่าไม้ จึงดำเนินการแก้ปัญหาเรื่องบุกรุกป่าและที่ดินรัฐ โดยใช้กฎหมายปฏิรูปที่ดินเพื่อการทำกิน (สปก.) และพรรคประชาธิปัตย์ยังเดินหน้าเร่งรัดแก้ไขปัญหาเอกสารสิทธิ์ที่ดิน เปลี่ยนเอกสารสิทธิ์จาก สค.1 เป็นโฉนด เปลี่ยน นส.3 เป็นโฉนด เร่งรัดเดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน

ในสมัยที่ “นิพนธ์ บุญญามณี” เป็นรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย และ กำกับดูแลกรมที่ดิน ก็สั่งการให้ กรมที่ดินเร่งรัดเดินสำรวจออกโฉนด ดำเนินการไปได้แล้วกว่า 300,000 แปลง และประชาธิปัตย์ยังมีนโยบายที่ใช้ในการหาเสียงครั้งหน้า ออกโฉนดให้ได้ 1 ล้านแปลงใน 4 ปี รวมถึงการแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำกินบนที่ดินของรัฐด้วย

ช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด 19 วิกฤติสงครามรัสเซีย-ยูเครน วิกฤติราคาน้ำมัน วิกฤติเศรษฐกิจโลก ผลงานของ “จุรินทร์” ก็น่ากล่าวขานถึงกับการผลักดันการส่งออกจนตัวเลขส่งออกโตขึ้นต่อเนื่อง สามารถประคับประคองเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าไปได้ รวมถึงนโยบายประกันรายได้ให้กับผลิตผลการเกษตร 5 ตัว คือ ยางพารา ปาล์ม ข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยไม่มีปัญหาเงินตกหล่นระหว่างทาง เนื่องจากโอนเงินจากสถาบันการเงินไปยังบัญชีของเกษตรกรโดยตรง

ถ้าพิจารณากันด้วยใจที่เป็นธรรม ลดอคติลง ไม่เอาอารมณ์เป็นตัวตั้งจะเป็นผลงานของประชาธิปัตย์มากมาย ที่ยกมาเป็นเพียงแค่บางส่วนเท่านั้นเอง จริงๆแล้วยังมีอีกมากมาย

เหล่านี้คือนโยบายของประชาธิปัตย์ที่ควรได้รับการกล่าวขานถึง เพื่อเป็นการยืนยันว่า “ประชาธิปัตย์ไม่ใช่ดีแต่พูด แต่ทำด้วย !