ปลัดมท. ร้อนตัว ร่อนหนังสือแจง ประธานอธิการบดีแห่งประเทศไทย ไร้เจตนาดูหมิ่น

“สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” ปลัดมหาดไทย ร้อนตัว ร่อนหนังสือชี้แจง ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย อ้างไม่มีเจตนา ดูหมิ่น หรือ ล่วงเกินสถาบันการศึกษา ทั้ง มหาวิทยาลัยสยาม และ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วันที่ 7 ม.ค.2566  นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทยทำหนังสือถึงประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยชี้แจงข้อเท็จจริงในการประชุมกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2565 โดยมีเนื้อหาดังนี้

ตามที่ มีการเผยแพร่คลิปการประชุมขับเคลื่อนและติดตามนโยบายของรัฐบาล และภารกิจสําคัญของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นการประชุมภายในของฝ่ายข้าราชการประจํา เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2565 จํานวน 2 คลิป ดังปรากฏเป็นข่าวตามที่ทราบ แล้วนั้น

กระผมขอเรียนชี้แจงว่าการประชุมดังกล่าว เป็นการประชุมภายในของผู้บริหารฝ่าย ประจํา โดยกําหนดประชุมเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อติดตามผลการดําเนินงานของกรม จังหวัด และ รัฐวิสาหกิจทุกแห่ง ที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงมหาดไทย อันมีเป้าหมายในการกํากับ ติดตาม และพัฒนาแนวทางการดําเนินงานให้กับประชาชนและประเทศชาติ ซึ่งในการประชุมมิได้มีการ อนุญาตให้นําคลิปทั้งหมดหรือบางส่วนไปเผยแพร่ต่อสาธารณชนแต่อย่างใด

ดังนั้น การนําภาพ และ/หรือเสียงไปตัดต่อเฉพาะบางช่วงบางตอน ที่ประสงค์จะให้ บุคคลภายนอกที่ไม่ร่วมอยู่ในการประชุมเกิดความเข้าใจผิด เกิดความรู้สึกร่วมในเชิงลบที่ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งที่ลุกลาม จึงย่อมชัดเจนว่าเกิดจากการกระทําของผู้ที่มิหวังดีต่อตัวกระผม องค์กร และการขับเคลื่อนงานราชการของกระทรวงมหาดไทย โดย 1 ใน 2 คลิปนั้น มีประเด็นที่เกี่ยวข้อง เชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษาอยู่ด้วย ในการนี้ กระผมจึงขอเรียนชี้แจงเพื่อทําความเข้าใจ ดังนี้

1.ประเด็นการสอบถามถึงภูมิหลังทางการศึกษาของผู้แทนองค์การตลาด สืบเนื่อง จากการนําเสนอผลการดําเนินงานในประเด็นเดิมซ้ําซ้อนอย่างน้อย 3 ครั้ง จากการประชุมประจําเดือน ซึ่งกระผมมีความคาดหวังกับผู้บริหารที่ต้องมีความรู้ความสามารถและทํางานที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่พี่น้องประชาชนอย่างสูงสุด เมื่อไม่ตอบสนองตามเป้าหมายและการทํางานมีความซ้ำซ้อน จึงเกิดการย้อนถามถึงภูมิหลังทางการศึกษาที่พาดพิงไปยังสถาบันการศึกษา ได้แก่ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยสยาม โดยกระผมขอยืนยันว่ามิได้มี เจตนาดูหมิ่นและล่วงเกินสถาบันการศึกษาแต่อย่างใด

2. การกล่าวถึงหลักสูตรของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น มิได้มี เจตนาดูแคลนหลักสูตรฯ แต่มีความมุ่งหวังเพื่อปกป้อง รักษามาตรฐาน และหาแนวทางพัฒนา หลักสูตรของสถาบันทางการศึกษา อันเป็นสถาบันที่หล่อหลอมตัวกระผมจนประสบความสําเร็จมาในวันนี้ แต่หากการกระทําและคําพูดของกระผมทําให้เกิดการตีความในแง่ลบ กระผมต้องขออภัยและน้อมรับด้วยความเสียใจอย่างสุดซึ้ง

3. กรณีการซักถามต่อเนื่องถึงภูมิหลังทางการศึกษา และมีการกล่าวถึงมหาวิทยาลัยสยามนั้น เป็นส่วนการให้ข้อมูลของผู้แทนองค์การตลาดที่มิได้พาดพิงหรือกล่าวถึงประเด็นอื่นของ มหาวิทยาลัย แต่หากการสื่อสารของกระผมทําให้ถูกตีความในแง่ลบถึงมหาวิทยาลัยสยาม กระผม ต้องขออภัยและขอเรียนยืนยันให้ทราบว่ากระผมไม่มีทางจะมีจิตใจคิดดูหมิ่นเหยียดหยามหรือ ดูแคลนมหาวิทยาลัยสยาม เพราะกระผมเองก็เป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยสยาม ที่เข้าศึกษาเมื่อปี 2553 แต่ไม่สําเร็จการศึกษาเนื่องด้วยภารกิจทางการทํางาน

4. กระผมขอเรียนยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า กระผมเชื่อมั่นในมาตรฐานและคุณภาพของ ทุกสถาบันการศึกษา และเห็นคุณค่าของการศึกษาว่ามีความสําคัญต่อการสร้างคนสร้างชาติอย่างยิ่งโดยส่วนตัวกระผมพร้อมให้การช่วยเหลือสนับสนุน เด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้ได้รับ การศึกษา รวมถึงการทําหน้าที่เป็นผู้ประสานจัดหาทุนการศึกษาให้มูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้า ฯ เพื่อเยาวชน ในพระบรมราชินูปถัมภ์ อย่าต่อเนื่องเสมอมา

ท้ายสุดนี้ กระผมต้องขออภัยที่การสื่อสารของกระผมระหว่างประชุมของกระทรวงฯ เป็นต้นเหตุให้เกิดความเข้าใจผิดในหมู่ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน และผู้เกี่ยวข้องของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสยาม และมหาวิทยาลัยอื่น ๆ (หากมี) โดยเหตุการณ์ครั้งนี้ จะเป็นบทเรียนรู้ให้กระผมมีความระมัดระวังในการกระทําและการใช้คําพูด และคิดทบทวนทุกอย่าง ให้รอบคอบยิ่งขึ้น และขอเรียนยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่าในการทํางานของกระผมมีความมุ่งมั่นในการทํางานเพื่อหวังจะให้เกิดสิ่งที่ดีต่อประชาชนและประเทศชาติ

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดําเนินการ และหากมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่มหาวิทยาลัยเห็นว่า กระผมเป็นประโยชน์ต่อการดําเนินการของมหาวิทยาลัย หรือของสังคม จะกรุณาแจ้งให้ทราบและเข้าร่วมด้วยก็จะยินดียิ่ง