“อนุทิน ชาญวีรกูล” ชี้ รัฐบาลหน้า ที่จะมี “เสถียรภาพ” ต้องได้ ส.ส. 251 เสียงขึ้นไป เชื่อ ส.ว.ไม่กล้า “โหวตนายกฯ” สวนความต้องการ ปชช. ขืนดื้อรั้น ฝ่ายบริหารจบตั้งแต่เสนอ กม.สำคัญฉบับแรกในสภาฯ
วันที่ 2 ม.ค. 2566 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงเสถียรภาพรัฐบาลใหม่ หลังการเลือกตั้งปีหน้าควรเป็นอย่างไรในขณะที่ ส.ว. ยังมีส่วนในการเลือกตั้งนายกฯอยู่ว่า แม้ ส.ว. ยังมีส่วนในช่วงขั้นตอนเลือกนายกรัฐมนตรีหากได้นายกฯมา แล้ว หลังจากนั้นการดำเนินการใดๆ ในสภาฯ จะเป็นเรื่องของรัฐบาล โดยตัวนายกรัฐมนตรีกับสภาผู้แทนราษฎร
ทั้งนี้สิ่งสำคัญหลักการนั้น จะอยู่กับจำนวน ส.ส. ที่ แต่ละพรรคการเมืองรวบรวมได้ว่าจะเกินกึ่งหนึ่ง หรือ จำนวน 251 เสียงจาก 500 เสียง ได้หรือไม่ ซึ่งเราต้องเชื่อการตัดสินใจของประชาชน ต้องให้เกียรติประชาชนเป็นสำคัญ และมองว่าในระบอบประชาธิปไตย มันก็เป็นหลักการที่แฟร์ๆ กับประชาธิปไตย รัฐบาลต้องมีเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ถึงจะเป็นรัฐบาล และทำงานได้และมั่นคง เพราะถ้าไม่เกินกึ่งหนึ่ง เมื่อเปิดสภาแถลงนโยบาย หรือ หากมีการออกกฎหมายสำคัญ ซึ่งดูแล้วในรัฐบาลชุดหน้าอาจจะมีกฎหมายสำคัญ กฎหมายการเงิน เช่น ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี เข้าสู่การพิจารณาก็ได้ในช่วงเดือน ส.ค. – ก.ย. ปีหน้า ถ้ารัฐบาลมีเสียงไม่เกินกึ่งหนึ่ง ก็อาจจะจอดตั้งแต่ตรงนั้นแล้ว ไม่ต้องรอไปถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
“ผมมั่นใจว่า ส.ว. ก็ต้องมีกระบวนการความคิดว่าเขาจะสนับสนุนใครเป็นนายกฯ ถ้าความต้องการของประชาชนอย่างชัดเจน เขาคงต้องทำตามความต้องการของประชาชน นี่เป็นหลักที่คนที่เป็นนักการเมืองหรือเกี่ยวข้องกับงานการเมืองต้องยึดถืออยู่แล้ว” นายอนุทิน ระบุ พร้อม ยกตัวอย่างในสมัยรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หลังการเลือกตั้ง ปี 2562 เข้ามาด้วยเสียง 253 เสียง ไม่ว่าใครจะพูดอะไรก็ตาม นายกฯ มีความชอบธรรม เพราะได้รับเสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่ง และ รัฐบาลก็อยู่มาได้จนครบสมัย แต่รัฐบาล ก็ต้องมีความสามารถในการบริหารบ้านเมืองด้วยจนอยู่พ้นมาได้เกือบ 4 ปีแล้ว.