บราซิล เตรียมโกยผลประโยชน์จากสงครามครั้งนี้ !!

บราซิลอยู่วงนอกของสงครามความขัดแย้งบนโลกทุกวันนี้ แต่ในงานแสดงสินค้าด้านกลาโหมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ชาติยักษ์ใหญ่ของละตินอเมริกาแห่งนี้ พยายามที่จะขายอาวุธให้ใครก็ตามที่ต้องการจะสู้รบ

ในงานนิทรรศการอุตสาหกรรมด้านกลาโหมแอลเอเอดีที่นครรีโอเดจาเนโร มีบริษัทบราซิล 150 แห่ง จากทั้งหมด 650 บริษัทที่มาร่วมแสดงสินค้าในงานนี้ทั้งที่จำหน่ายเครื่องบินขนส่งไปจนถึงกระสุนปืนปล่อยควันไฟที่ทำให้เห็นวิถีที่ยิงออกไป

บริษัทเหล่านี้เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าราว 64,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.2 ล้านล้านบาท) ต่อปี หรือคิดเป็น 3.7 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายใน (จีดีพี) ของประเทศ ซึ่งประธานาธิบดีมิเชล เตเมร์ของบราซิลต้องการผลักดันให้เติบโตมากกว่านี้

หากมองผ่านๆ แล้ว อุตสาหกรรมด้านกลาโหมและความมั่นคงซึ่งจ้างงานโดยตรง 30,000 ตำแหน่ง และงานที่เกี่ยวข้องโดยทางอ้อมอีก 120,000 ตำแหน่ง อาจดูไม่ค่อยเหมาะสมกับบราซิลนัก

ชาติยักษ์ใหญ่ที่สุดทางเศรษฐกิจของภูมิภาคละตินอเมริกาแห่งนี้มีชื่อเสียงจากการทิ้งร่องรอยแห่งสันติภาพไว้ยังต่างแดน ตั้งแต่นักฟุตบอลฝีเท้าดีไปจนถึงเครื่องบินโดยสาร เอ็มบราเออร์ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง

โดยหลักการแล้ว ต้องถือว่าประเทศที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลกแห่งนี้ไม่มีศัตรู

แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม รัฐบาลบราซิลกำลังเปิดฉากต่อสู้ในสมรภูมิที่ครอบครองอยู่โดยสหรัฐอเมริกา รัสเซีย ฝรั่งเศส อังกฤษ และประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่อื่นๆ อีกหลายแห่ง

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ราอูล ชุงมันน์ รัฐมนตรีกลาโหมบราซิลประกาศว่า ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งชาติ (บีเอ็นดีอีเอส) จะเริ่มต้นให้ความช่วยเหลือเป็นเงินกู้แก่ประเทศที่จะซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากบราซิล ซึ่งเป็นมาตรการที่จะช่วยสร้างความได้เปรียบให้กับบริษัทผู้ผลิตอาวุธของบราซิล

การผลักดันอย่างแข็งกร้าวในตลาดการค้าอาวุธของบราซิลได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง

โรเบิร์ต มุกกาห์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของสถาบันอิการาเปในนครรีโอเดจาเนโรระบุว่า ระเบิดลูกปรายที่ผลิตในบราซิลอาจถูกใช้งานในเยเมนซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ในบัญชีการคว่ำบาตรของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ขณะที่แก๊สน้ำตาและอาวุธควบคุมฝูงชนอื่นๆ อาจถูกใช้งานโดยตำรวจในประเทศที่มีประวัติด้านสิทธิมนุษยชนย่ำแย่อย่างบาห์เรนและอียิปต์

“บราซิลขาดความโปร่งใสเมื่อพูดถึงการรายงานเรื่องการขนส่งและใช้อาวุธ” มุกกาห์บอก

ด้านเจ้าหน้าที่บราซิลระบุว่า การส่งออกอาวุธทั้งหมดได้รับการตรวจสอบและมีกฎในการควบคุมดูแลอย่างเคร่งครัด

อย่างไรก็ตาม หลักฐานหนึ่งที่ทำให้เกิดข้อกังขาถึงความไม่น่าเชื่อถือในเรื่องการส่งออกอาวุธคือ รัฐบาลไม่สามารถให้ข้อมูลได้ว่า มีอาวุธของบราซิลมากเท่าไหร่ที่ถูกส่งออกไปขายยังต่างประเทศ

มุกกาห์บอกว่า บราซิลเป็นเพียงผู้เล่นขนาดกลางเท่านั้นในตลาด แต่หากนับเฉพาะการส่งออกอาวุธยุทธภัณฑ์ขนาดเล็ก ส่วนประกอบของอาวุธและอาวุธปืนกับเครื่องกระสุนปืน

ต้องถือได้ว่าบราซิลเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ใน 5 อันดับแรกของโลก

Cr. Matichon