บ.การบินไทย จำกัด (มหาชน) กางแผนเพิ่มฝูงบินใหม่ ต้นปีหน้า 9 ลำ สนองดีมานด์เดินทางพุ่งต่อเนื่อง ดันเคบิ้นแฟกเตอร์ทะลุ 85% พร้อมระบุปัจจุบันใช้งานอากาศยาน 61 ลำเต็มสูบ เฉลี่ย 12 ชั่วโมง ด้านสินทรัพย์รอขาย 22 ลำ ยังอยู่ระหว่างดีลคู่ค้า
นายสุวรรธนะ สีบุญเรือง รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปี 2566 การบินไทย มีแผนจัดหาอากาศยานมาให้บริการเพิ่มเติมอย่างน้อย 9 ลำ แบ่งเป็น ส่วนของอากาศยานที่จอดพักไว้ในช่วงโควิด-19 และนำมาซ่อมบำรุงเพื่อให้บริการรวมจำนวน 5 ลำ ประกอบด้วย แอร์บัส A330-300 จำนวน 3 ลำ และโบอิ้ง B777-200ER จำนวน 2 ลำ และส่วนของอากาศยานที่จะเช่าใหม่มาเสริมบริการ คือ แอร์บัส A350-900 จำนวน 4 ลำ
สำหรับ แผนจัดหาฝูงบินเพิ่มในปีหน้านั้น ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และกระทรวงคมนาคม โดยเบื้องต้นคาดว่าจะได้รับการอนุมัติให้นำอากาศยานลำแรกเข้ามาให้บริการในไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ซึ่งการบินไทยมีเป้าหมายจะนำอากาศยานส่วนนี้ไปเสริมในเส้นทางที่ได้รับความนิยมสูง อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ และหลายเมืองในยุโรป รวมทั้งเตรียมพร้อมรองรับการกลับมาเดินทางของนักท่องเที่ยวจีนด้วยขณะที่ปัจจุบันการบินไทยมีอากาศยานทำการบินจำนวน 61 ลำ ประกอบด้วย ส่วนของสายการบินไทย ได้แก่ แอร์บัส A350 จำนวน 12 ลำ, โบอิ้ง B777-200ER จำนวน 4 ลำ, โบอิ้ง B777-300ER จำนวน 17 ลำ, โบอิ้ง B787 จำนวน 8 ลำ และเครื่องบิน แอร์บัส A320-200 ส่วนส่วนของสายการบินไทยสมายล์ จำนวน 20 ลำ โดยปัจจุบันการบินไทยยังมีแผนจัดหาอากาศยานเพื่อเช่าเพิ่มเติมให้สายการบินไทยสมายล์จำนวน 10 ลำ ซึ่งจะเน้นอากาศยานประเภทลำตัวแคบ อาทิ โบอิ้ง B777
“ตอนนี้การเดินทางของผู้โดยสารฟื้นตัวอย่างก้าวกระโดด โดยเฉลี่ยอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (เคบิ้นแฟกเตอร์) ของการบินไทยอยู่ที่ 85% ซึ่งถือว่าสูงมาก เช่นเดียวกับทางสายการบินไทยสมายล์ที่มีผู้โดยสารสูงต่อเนื่อง และได้รับมอบหมายให้ทำการบินเส้นทางในประเทศ รวมถึงเส้นทางระหว่างประเทศในรูทระยะใกล้ เพื่อเป็นฟีดเดอร์ให้การบินไทย ดังนั้นก็มีความจำเป็นต้องหาเครื่องบินเพิ่ม ให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้โดยสาร”
นอกจากนี้ ภาพรวมฝูงบิน ของการบินไทยในปัจจุบันมีอยู่ที่ 61 ลำ ซึ่งลดลงจากช่วงก่อนหน้าเข้าแผนฟื้นฟูที่มีราว 100 ลำ แต่พบว่ามีความสามารถในการใช้งานอากาศยาน (Aircraft Utilization) สูงอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้เฉลี่ย 12 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งถือว่าค่อนข้างเต็มประสิทธิภาพแล้ว หากเทียบกับก่อนเกิดโควิด-19 ที่มีอัตราการใช้อากาศยานอยู่ที่ 13 ชั่วโมงต่อวัน โดยถึงแม้ว่าการบินไทยจะมีอากาศยานลดลงเกือบ 50% ซึ่งทำให้มีชั่วโมงการใช้อากาศยานสูง แต่การมีอากาศยานที่สอดรับต่อความต้องการการใช้งานนั้น ทำให้ขณะนี้การบินไทยคุมต้นทุนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
นายสุวรรธนะ กล่าวด้วยว่า การบินไทยยังมียังมีสินทรัพย์ประเภทอากาศยานรอบทำการขายรวมจำนวน 22 ลำ ซึ่งยังอยู่ในช่วงของการเจรจาจัดหาผู้ซื้อ ประกอบด้วย แอร์บัส A380 จำนวน 6 ลำ, แอร์บัส A340-500 จำนวน 2 ลำ, แอร์บัส A340-600 จำนวน 2 ลำ, โบอิ้ง B777-300 จำนวน 6 ลำ และโบอิ้ง B777-200 จำนวน 6 ลำ
ส่วนก่อนหน้านี้ได้จำหน่ายอากาศยานไปแล้ว 19 ลำ อยู่ระหว่างทำการรอส่งมอบ ประกอบด้วย แอร์บัส A300-600 จำนวน 1 ลำ, โบอิ้ง B737-100 จำนวน 1 ลำ, โบอิ้ง B747-400 จำนวน 12 ลำ, แอร์บัส A340-500 จำนวน 1 ลำ และแอร์บัส A340-600 จำนวน 4 ลำ ขณะเดียวกันยังมีอากาศยานอีก 5 ลำที่โอนให้ผู้ค้ำประกันเงินกู้ไปแล้ว ได้แก่ แอร์บัส A330 จำนวน 4 ลำ ซึ่งจอดอยู่ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และแอร์บัส A330 จำนวน 1 ลำ จอดอยู่ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้การบินไทยมีแผนจะนำอากาศยานรุ่นแอร์บัส A380 จำนวน 6 ลำที่จอดอยู่ ยังขายไม่ได้ มาปรับปรุงเพื่อทำการบินรองรับปริมาณการเดินทางของผู้โดยสารที่สูงขึ้น เพราะเครื่องประเภทดังกล่าวสามารถรองรับผู้โดยสารได้จำนวนมาก แต่เมื่อหารือกับทางแอร์บัส และฝ่ายช่าง พบว่าการนำเครื่องบินที่จอดทิ้งไว้ 2 ปีกลับมาบินอีกครั้ง ต้องใช้เวลาดำเนินการเช็กสภาพ และตรวจสอบต่างๆ ประมาณ 7-8 เดือน เพื่อให้พร้อมกลับมาบินอย่างปลอดภัย อีกทั้งต้องใช้เงินหลักพันล้านบาท ปัจจุบันจึงชะลอแผนดังกล่าว
รายงานข่าวจากการบินไทย ระบุว่า แผนเช่าอากาศยานเสริมฝูงบินของการบินไทยในปี 2566 ได้ทำสัญญาเช่าอากาศยานรุ่น แอร์บัส A350-900 จำนวน 4 ลำ โดยมีระยะเวลาการเช่า 12 ปี อัตราค่าเช่าเฉลี่ยลำละ 7.7 แสนดอลลาร์ หรือประมาณลำละ 27 ล้านบาท โดยการบินไทยจะชำระค่าเช่าอากาศยานดังกล่าวแบ่งเป็นรายเดือน